มหาปชาบดีโคตรมีอุโบสถาน



พระภิกษุ 9 รูป  ทำพิธีฝังลูกนิมิด
11  ธันวาคม  2544
        
.     วัตรทรงธรรมกัลยาณี อยู่ริมถนนเพชรเกษม กม. 52-53 ต. พระประโทน อ. เมือง จ. นครปฐม   เป็นวัตรฯ ที่พระมหาโพธิธรรมาจารย์ ภิกษุณีโพธิสัตต์ วรมัย กบิลสิงห์ ได้ก่อร่างสร้างไว้ด้วยทุนส่วนตัว ร่วมกับลูกหลานญาติมิตรฝ่ายโพธิสัตต์ เป็นสถานที่สำหรับผู้มี
“หลักใจ” ในการปฏิบัติธรรมเพื่อสร้างบารมีตามรอยพระพุทธองค์เพื่อพุทธภูมิในภายหน้า
          ตัวอาคารเป็นตึกสามชั้นงามสง่า ตั้งอยู่ในบริเวณเนื้อที่กว่า 6 ไร่ ประกอบด้วย โบสถ์ พระวิหาร พระอาราม ตึกกรรมฐาน ฯลฯ

      1. ประวัติย่อ

                พระภิกษุณีโพธิสัตต์ วรมัย กบิลสิงห์ นั้น บรรดาลูกหลานเรียกท่านว่า “หลวงแม่” หรือ “หลวงย่า” ท่านถือกำเนิดที่จังหวัดราชบุรี เมื่อ พ.ศ. 2451 ท่านได้รับการศึกษาจากโรงเรียนสตรีวัดมหาพฤฒาราม โรงเรียนอัสสัมชัญ และไปเรียนที่ปีนังระยะหนึ่ง ท่านเป็นครูพลศึกษาหญิงคนแรกของเมืองไทย มีความถนัดทางมวยไทย ดาบไทย ดาบฝรั่ง และยูโด กับวิชาป้องกันตัว และการบริหารร่างกายกับการกีฬา ฯลฯ ท่านเป็นศิษย์ของอาจารย์กิมเส็ง ทวีสิทธิ์ และอาจารย์ทิม อติเปรมานนท์ ฯลฯ
           ท่านสอบได้วุฒิทางการศึกษา (วุฒิ พ.ป.) และเป็นครูพลศึกษาที่โรงเรียนเบญจมราชาลัย กรุงเทพฯ ท่านอบรมสั่งสอนศิษย์ให้เป็นผู้มีความมานะอดทนและได้พิสูจน์ให้นักเรียนเห็น โดยการเดินทางจากกรุงเพทฯ ถึงสิงคโปร์ด้วยจักรยานเมื่อ พ.ศ. 2475 นับเป็นสตรีไทยคนแรกที่ได้ทำสถิตินี้  เป็นการยืนยันว่าความมานะอดทนนั้นไม่ถูกจำกัดด้วยความแตกต่างทางเพศเมื่อสมรสแล้ว ท่านย้ายไปเป็นครูที่โรงเรียนสตรีประจำจังหวัดตรังในระหว่างสงครมโลกครั้งที่สอง ท่านลาออกจากราชการมาขายเครื่องเพชรนิลจินดา ได้เขียนตำราเพชรนิลจินดาลงในนิตยสาร
“แม่บ้านการเรือน” พ.ศ. 2493 ต่อมาได้เป็นบรรณาธิการผู้ช่วยหนังสือพิมพ์ไทยใหม่วันจันทร์ ท่านสนใจงานประพันธ์ โดยเริ่มมีผลงานเผยแพร่มาตั้งแต่อายุ 17 ปี

       2. การหันเหชีวิต

             เมื่อ พ.ศ. 2497 นายแพทย์ตรวจพบว่ามีเนื้องอกในมดลูกจึงต้องผ่าตัด และขณะเดียวกันท่านก็ได้รับการรักษาจากหลวงพ่อวัดปากน้ำ อำเภอภาษีเจริญด้วย เมื่อผ่าตัดแล้วกลับไม่พบเนื้องอก ด้วยเหตุนี้ท่านจึงหันมาสนใจศึกษาวิธีการรักษาของหลวงพ่อวัดปากน้ำ  ท่านได้เรียนสมาธิกับหลวงพ่อพระมงคลเทพมุนี วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ จนได้พระธรรมกายขั้นสูง แล้วจึงเรียนวิปัสสนาแบบวัดมหาธาตุสำเร็จได้ฟังเทศน์ลำดับญาณ จากนั้นก็เรียนและปฏิบัติวิปัสสนาแบบหลวงพ่อลี วัดอโศการาม

.    3. การบรรพชาอุปสมบท

               เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2499 รับศีล ปลงผม และนุ่งห่มสีเหลืองอ่อนที่วัดบวรนิเวศวิหาร มีท่านเจ้าคุณพรหมมุนี (ผิน ธรรมประทีป) เป็นพระอุปัชฌาย์ ต่อมาเดือนพฤษภาคม 2503 ท่านได้เดินทางไปอินเดียและได้อธิฐานจิตต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ขอบวชเป็นภิกษุณีใต้ต้นศรีมหาโพธิ์พุทธคยา  ต่อมาอาจารย์ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์  บุตรีของท่านซึ่งเดินทางไปศึกษาศาสนาในระดับปริญญาเอกที่ประเทศแคนาดา  ได้ค้นคว้าเกี่ยวกับการบรรพชาอุปสมบทของภิกษุณี และพบว่าการบรรพชาอุปสมบทของภิกษุณีในประเทศไต้หวันได้สืบทอดมาอย่างถูกต้องจากพระภิกษุณีในลังกา ดังนั้นในปี พ.ศ. 2514 ท่านจึงได้เดินทางไปรับการบรรพชาอุปสมบทเป็นภิกษุณีที่ไต้หวัน โดยมีพระคุณท่านศาสตราจารย์เต้าอันแห่งสำนักวัดเขาตุงชาน เป็นองค์อุปัชฌาย์พร้อมด้วยพระอาจารย์อีก 9 องค์ มีกรรมวาจาจารย์ 2 องค์และพระพี่เลี้ยง 2 องค์ ได้รับฉายาว่า “สือ ต้า เต้า ฝ่าซือ” แปลว่า “พระมหาโพธิธรรมาจารย์ วงศ์ศากยะ”

       4. กิจการที่ทำ

กิจการที่ท่านได้กระทำมาแล้วในระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมามีหลายประเภทหลายรูปแบบ จึงขอแยกหัวข้อกล่าวโดยย่อ ดังนี้



กิจกรรมยามเย็นของชาววัตรกับการทำงานในสระบัว



กิจกรรมของชาววัตร




บริเวณสวนสมใจนึกอันร่มรื่นกับการฝึกปฎิบัติสมาธิภาวนา



การฝึกจิตของผู้ปฎิบัติธรรม
"จิตเป็นใหญ่  ใจเป็นประธาน"



ความอบอุ่นใกล้ชิด
ระหว่างพระกับผู้ปฎิบัติธรรม

          4.1 งานเผยแพร่พระพุทธศาสนา
            พ.ศ. 2498 ท่านเริ่มจัดพิมพ์หนังสือรายเดือนชื่อ  
”วิปัสสนาและบันเทิงสาร” เพื่อเผยแพร่พระศาสนา แม้จะมีทุนไม่มาก แต่อาศัยความสามารถในการประพันธ์ของท่าน ท่านเขียน ถ่ายภาพ ทำข่าว ฯลฯ ด้วยตนเอง จึงทำให้หนังสือนี้ยืนหยัดอยู่ได้จนถึง พ.ศ. 2534   ต่อมาเพื่อความสะดวกและคล่องตัวในการพิมพ์หนังสือธรรมะที่ต้องการเผยแพร่ ท่านจึงจัดตั้งโรงพิมพ์ขึ้นเอง นอกจากหนังสือธรรมะรายเดือนแล้ว ท่านยังเขียนหนังสืออิงประวัติศาสตร์ ธรรมนิยายหลายเรื่อง เช่น เรื่อง “ใครฆ่าพระเจ้าตากสิน” “วิปัสสนา 5 แบบ” “พระกวนอิมมาตา” “ศากยะธิดา” “จุ๋ยเจีย” เป็นต้น นอกจากงานเขียนแล้ว ท่านยังสอนธรรมะและนำการทำสมาธิเพื่อทำจิตให้ผ่องใสทุกวันในระหว่างเข้าพรรษา ส่วนการเทศน์สอนนอกสถานที่นั้น ท่านกระทำบ้างเป็นบางโอกาส ถ้าไปเทศน์ที่วัดอื่นๆ ท่านจะถวายปัจจัยติดกัณฑ์เทศน์ทั้งหมดให้กับวัดนั้นๆ

         4.2  งานด้านสังคมสงเคราะห์
             เป็นงานที่ท่านนำลูกหลานญาติมิตรกระทำติดต่อกันอยู่เสมอมิได้ขาด มีการแจกเสื้อผ้า อาหาร ยารักษาโรค แก่ผู้ที่ขัดสนอยู่เสมอ ครั้งล่าสุด (ปี พ.ศ. 2522) ท่านได้ชักชวนลูกหลายญาติมิตรที่มีจิตศรัทธานำเสื้อผ้า อาหาร ไปมอบให้แก่ชาวไทยที่ชายแดนจังหวัดปราจีนบุรี และมอบส่วนหนึ่งให้พวกเขมรอพยพที่ค่ายบ้านแก้ง อำเภอสระแก้ว จังหวัดปราจีนบุรี เป็นจำนวนมากกว่า 400 กล่อง

         4.3 การบำเพ็ญทาน
                 ตั้งแต่ พ.ศ. 2499 เป็นต้นมา ท่านได้นำลูกหลานญาติมิตรบำเพ็ญทานในรูปแบบต่างๆ ตามแบบพระโพธิสัตต์ ท่านบอกลูกหลานว่า
“ในสภาพบ้านเมืองอย่างนี้ ถ้าทุกคนมัวคิดเอาตัวรอดคนเดียวแล้ว บ้านเมืองจะไปไม่รอด ดังนั้นทุกคนต้องช่วยกัน การประพฤติปฏิบัติของพระโพธิสัตต์นั้น ท่านช่วยทั้งคนอื่นๆ ช่วยชาติบ้านเมืองและช่วยตนเองด้วย พวกเราต้องปฏิบัติตามท่าน เพราะถ้าประเทศชาติตั้งมั่นอยู่ไม่ได้ พระศาสนาก็จะอยู่อย่างมั่นคงถาวรไม่ได้ แล้วพวกเราจะอยู่ได้อย่างไร?”   ระหว่าง พ.ศ. 2506-2511 มีการทำบุญเลี้ยงพระภิกษุสงฆ์เป็นจำนวนมาก ทุกวันพระ เฉพาะในช่วง พศ. 2508 – 2509 ได้ตั้งกองทานเลี้ยงพระนับได้ถึง 1,690 รูป ทั้งนี้เพื่ออุทิศกุศลช่วยวิญญาณบรรพบุรุษผู้มีพระคุณแก่ชาติ นอกจากนี้ก็ปล่อยนกปลา และเต่าเสมอ   พ.ศ. 2522 ซื้อเครื่องดูเสมหะและอุปกรณ์การแพทย์ มอบให้โรงพยาบาลประจำจังหวัดนครปฐม

         4.4 การให้การบวช
                      ตั้งแต่พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา ท่านได้สนับสนุนการบวชทั้งชาย-หญิง ที่มีจิตศรัทธาแต่ขาดทุนทรัพย์ และได้ถวายปัจจัยและอัฐบริขารช่วยในการบวชเป็นประจำ และที่วัตรฯ ท่านรับสตรีที่มีความประพฤติดี มีจิตศรัทธาเข้ามาบวชเป็นพุทธสาวิกาพร้อมทั้งสอนธรรมะ และการบำเพ็ญสมาธิให้เป็นประจำทุกพรรษา ทางวัตรฯ สนับสนุนการบวชพระภิกษุ โดยการถวายเครื่องอัฐบริขารด้วย

        4.5 การทอดกฐิน-ผ้าป่า
               ท่านได้นำลูกหลานญาติมิตร ทอดกฐิน ผ้าป่าตามที่ต่างๆ เสมอ ได้เดินทางทอดผ้าป่าเพื่อช่วยสร้างวัด สร้างโบสถ์ ทั้ง 71 จังหวัด ทั่วประเทศไทย รวมการเดินทาง 16 ครั้ง เป็นเวลา 91 วัน คิดระยะทางประมาณ 16,283 กิโลเมตร สร้างกุศลได้ 318 วัด ถวายเงินสมทบทุนสร้างโบสถ์ 162 แห่ง นอกนั้นสมทบสร้างวิหาร ศาลาการเปรียญ ฯลฯ

       4.6 การรักษาไข้
                การรักษาไข้เป็นงานขั้นต้นที่ท่านทำ ผู้ที่หายจากการเจ็บไข้ ได้ถวายปัจจัยช่วยก่อสร้างถาวรวัตถุภายในวัตร ต่อมาท่านไม่ค่อยมีเวลา จึงไม่ได้รับรักษาแต่จะช่วยดูกรรมและบอกวิธีแก้ให้เป็นรายบุคคลไป

      4.7  การสร้างพระ
             ท่านได้สร้างพระพุทธรูปขนาดและปางต่างๆ หลายครั้งหลายหน ถวายไปตามวัดต่างๆ ที่สำคัญๆ คือ

    1. สร้างพระพุทธรูปทองคำ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 2 ครั้ง หนัก 23 บาท และ 58 บาท ตามลำดับ
    2. สร้างพระประธานโลหะ หน้าตัก 49 นิ้ว ถวายสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ อัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดเขาขุนพนม จังหวัดนครศรีธรรมราช
    3. สร้างพระศรีอาริยะเมตตรัย (ด้วยปูน) หน้าตัก 5 ศอก ประดิษฐานที่วัตรทรงธรรมกัลยาณี อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม
    4. สร้างพระพุทธเมตตา (รูปสังขตะกระจายเป็นโลหะ) หน้าตัก 9 นิ้ว ปิดทองถวายตามวัดต่างๆ ทุกจังหวัดนับรวมได้ 89 องค์
    5. สร้างพระประธาน “พระพุทธมหาเมตตา” ขนาดหน้าตัก 20 นิ้ว, 25 นิ้ว, 30 นิ้ว ถวายไปตามวัดที่ยังไม่มีพระประธาน มูลค่าองค์ละ 4,500 – 10,000 บาท นับรวมได้กว่า 100 องค์แล้ว
    6. ซ่อมสร้างพระประธานในโบสถ์วัดราชประดิษฐาน จังหวัดอยุธยา หล่อพระเศียรและองค์พระให้ใหม่ 2 พระองค์

        4.8 การสร้างวัตร
               ใน พ.ศ. 2502 ท่านได้อธิษฐานว่าถ้ามีบารมีพอจะสร้างโบสถ์ ขอให้พระบรมธาตุเสด็จมาให้เห็น 80 องค์ ปรากฏว่าปีนั้นท่านได้พระธาตุรวมกว่า พันองค์

ใน พ.ศ. 2505 สมเด็จพระสังฆราชวัดเบญจมาพิตร สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ต่อมาเป็นสมเด็จพระสังฆราช วัดมกุฏฯ) ได้มีพระกรุณามาวางศิลาฤกษ์สร้างโบสถ์ของวัตรทรงธรรมกัลยาณี ซึ่งมีชื่อว่า “พระปฐมมาตามหาปชาบดีอรหันตเถรีศรีอุโบสถาคาร” เพื่อถวายพระเกียรติแก่พระแม่น้านางมหาปชาบดี ผู้เป็นภิกษุณี องค์แรกในพระพุทธศาสนา โบสถ์นี้ก่อสร้างแล้วเสร็จใน พ.ศ. 251

         4.9 การสร้างโรงเรียน
           ใน พ.ศ. 2501 ท่านได้เริ่มสร้างโรงเรียนขึ้นที่นครปฐม เพื่อให้เป็นสถานศึกษาของลูกกำพร้าซึ่งเลี้ยงไว้ให้ชื่อว่า
“โรงเรียนธรรมาภิสมัย” มีจุดประสงค์จะอบรมพระพุทธศาสนาให้แก่พุทธสาวิกาและเด็กๆ ด้วย
            การบำเพ็ญกุศลและงานทั้งหลายที่ท่านภิกษุณีโพธิสัตต์ วรมัย กบิลสิงห์ ได้กระทำมาตลอดตั้งแต่ พ.ศ. 2499 ที่ผ่านมา ถ้าคิดเป็นมูลค่าก็เป็นเงินหลายล้านบาท แต่ท่านไม่เคยรบกวนเรี่ยไรใคร และพุทธสาวิกาของวัตรทรงธรรมกัลยาณีก็ไม่เคยออกบิณฑบาต เรี่ยไร หรือรบกวนใครเลย
            ปัจจัยที่ท่านใช้ในการทำบุญสร้างกุศลนั้นได้จาก  การขายที่ดินและขายเครื่องประดับเพชรนิลจินดาของท่านเอง รวมกับปัจจัยของลูกหลาน ญาติมิตรฝ่ายโพธิสัตต์ และคนไข้ที่มาให้ท่านช่วย ได้บริจาคร่วมด้วย การกระทำของท่านมิได้ทำเพื่อเอาหน้าหรือหาเสียง ได้บริจาคร่วมด้วย การกระทำของท่านมิได้ทำเพื่อเอาหน้าหรือหาเสียง จึงไม่มีการโฆษณาใดๆ จะรู้กันแต่ในหมู่ลูกหลานญาติมิตร ซึ่งท่านจะแจ้งรายละเอียดให้ทราบในหนังสือ
“วิปัสสนาและบันเทิงสาร” ซึ่งเป็นนิตยสารรายเดือน ออกติดต่อกันมากกว่า 32 ปี

Back



สถานที่ติดต่อ
  วัตรทรงธรรมกัลยาณี
เลขที่  195  ถนนเพชรเกษม  ต. พระประโทน
อ. เมืองฯ  จ. นครปฐม   73000
โทร. (034) 258-270  โทรสาร (034) 284-315
ติชม  [email protected]