ในฝ่ายเถรวาทนั้น เมื่อกล่าวถึงโพธิสัตต์ ก็มักจะเข้าใจถึงอดีตชาติของพระพุทธเจ้าก่อนที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า มีชาดกที่เล่าถึงเรื่องราวของพระเจ้า ๕๐๐ ชาติบ้าง หรือเลือกกล่าวเฉพาะพระชาติที่สำคัญเรียกว่า ทศชาติบ้าง ในพระชาติเหล่านั้น พระพุทธเจ้ายังทรงเป็นพระโพธิสัตต์ทั้งสิ้น
          โดยทั่วไปแล้วชาวพุทธในนิกายเถรวาทจะพึงพอใจ  ที่จะบำเพ็ญเพียรเพื่อบรรลุอรหันต์หมดสิ้นอาสวกิเลส หลุดพ้นไปเฉพาะตน แต่ในประวัติศาสตร์ชาติไทยที่ผ่านมาก็ปรากฏว่ามีพระมหากษัตริย์ที่ทรงปรารถนาพุทธภูมิและทรงบำเพ็ญบารมีตามแนวทางพระโพธิสัตต์มาแล้ว เช่นพระเจ้าลิไท ในสมัยสุโขทัย สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ในสมัยอยุธยา และสมเด็จพระเจ้าตากสิน ในสมัยกรุงธนบุรี เป็นต้น
          ข้อแตกต่างประการหนึ่งระหว่างเถรวาทกับมหายานก็อยู่ตรงเรื่องโพธิสัตต์นี้เอง โดยที่เถรวาทนิยมปฏิบัติตามคำสนอของพระพุทธองค์โดยเริ่มนับตั้งแต่เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะตรัสรู้ พระสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้า เมื่อพระชนม์ ๓๕ พรรษา ส่วนมหายานนั้นสนใจแนวทางการปฏิบัติของเจ้าชายสิทธัตถะตั้งแต่ในอดีตจนได้บรรลุเป็นพระพุทธเจ้า และพยายามดำเนินชีวิตตามแบบอย่างของพระองค์
          ขบวนการโพธิสัตต์เริ่มต้นขึ้นภายหลังพุทธปรินิพพาน เมื่อพระพุทธศาสนาประดิษฐานตั้งมั่นแล้ว พระเถระกลุ่มหนึ่งมุ่งเน้นการปฏิบัติเฉพาะตน ทำให้พระสงฆ์อีกกลุ่มหนึ่งหันมารณรงค์เรื่องอุดมการณ์โพธิสัตต์ขึ้น โดยมุ่งเน้นความหลุดพ้นของสรรพสัตว์ไปพร้อมๆ กับการปฏิบัติตน
          อุดมการณ์โพธิสัตต์นั้น เริ่มจากการมีโพธิจิต นั้นคือมีจิตมุ่งมั่นในการเข้าถึงความหลุดพ้น องค์ทะไลลามะรับสั่งเสมอว่า ที่ปรารถนาพุทธภูมินั้น เพียงเพื่อจะได้มีความสามารถมากยิ่งขึ้นในการช่วยเหลือสรรพสัตว์มากขึ้น เพื่อโพธิจิตเกิดขึ้น และตั้งมั่นในใจแล้ว ผู้ที่ปรารถนาจะดำเนินตามโพสัตต์มรรค จะตั้งปณิธานที่สำคัญ คือ
                  ๑. เพื่อช่วยสรรพสัตว์
                  ๒. เพื่อทำลายกิเลสร้ายทั้งปวง
                  ๓. เพื่อแสวงหาสัจธรรมและสั่งสอนผู้อื่น
                  ๔. นำสรรพสัตว์สู่ความเป็นพุทธะ

           
ศีลโพธิสัตต์ของบรรพชิต
        ในฝ่ายของบรรพชิตนั้น โพธิสัตต์จะรักษา ๕๘ สิกขาบท แยกเป็นครุกาบัติ ๑๐ ข้อ และลหุกาบัติอีก ๔๘ ข้อ ดังนี้
                  ๑. เว้นการฆ่าสัตว์
                  ๒. เว้นการลักทรัพย์
                  ๓. เว้นการละเมิดกาเมสุมิจฉาจาร
                  ๔. เว้นการดื่มสุราเมรัย
                  ๕. เว้นจากการพูดเท็จ
                  ๖. เว้นจากการกพูดส่อเสียด
                  ๗. เว้นจากการพูดหยาบคาย
                  ๘. เว้นจากความอิจฉา
                  ๙. เว้นจากความริษยา
                  ๑๐. ไม่เป็นผู้มีมิจฉาทิฎฐิ
                  ๑๑. ต้องเคารพผู้มีศีลอาวุโสและครูอาจารย์ของตน
                  ๑๒. ไม่ดื่มสุราเมรัยและเสพของมึนเมาทุกชนิด
                  ๑๓. ไม่บริโภคเนื้อสัตว์ทุกชนิด
                  ๑๔. ไม่บริโภคผักที่มีกลิ่นฉุนจัด ทำให้เกิดกามราคะ เช่น หอม กระเทียม คึ่นไฉ่
                  ๑๕. ต้องตักเตือนผู้ต้องอาบัติให้แสดงอาบัติ
                  ๑๖. ต้องถวายสังฆทานแก่ผู้ที่แสดงธรรมถูกต้องตามพุทธพจน์
                  ๑๗. ต้องหมั่นไปฟังการสอนธรรม
                  ๑๘. ไม่คัดค้านคำสอนของมหายาน
                  ๑๙. ต้องช่วยเหลือคนเจ็บไข้ ตามสมควรแก่ฐานะ
                  ๒๐. ไม่มีอาวุธสำหรับฆ่ามนุษย์หรือสัตว์ไว้ในครอบครอง
                  ๒๑. ไม่เป็นฑูตสื่อสารทางการเมือง อันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์แก่ผู้อื่น
                  ๒๒. ไม่เป็นผู้ค้ามนุษย์ไปเป็นทาส หรือค้าขายสัตว์ให้เขาฆ่า หรือใช้งาน
                  ๒๓. ไม่พูดนินทาใส่ร้ายผู้อื่น
                  ๒๔. ไม่วางเพลิงเผาป่า
                  ๒๕. ไม่พูดบิดเบือนข้อความพระธรรมให้เสื่อมเสีย
                  ๒๖. ไม่พูดอุบายเพื่อประโยชน์ตน
                  ๒๗. ไม่ประพฤติข่มขู่บังคับเขาให้ให้ทานวัตถุแก่ตน
                  ๒๘. ไม่อวดอ้างตนเป็นอาจารย์ เมื่อตนยังเขลาอยู่
                  ๒๙. ไม่พูดกลับกลอกสองลิ้น
                  ๓๐. ต้องช่วยสัตว์เมื่อสัตว์นั้นอยู่ในอันตรายและตนสามารถจะช่วยได้
                  ๓๑. ไม่ผูกพยาบาทอาฆาตผู้อื่น
                  ๓๒. ไม่ทะนงตน ต้องขวนขวายศึกษาธรรมให้แตกฉาน
                  ๓๓. ไม่เย่อหยิ่ง กระด้าง ก้าวร้าว เหยียดหยามผู้อื่น
                  ๓๔. ต้องศึกษาและปฏิบัติธรรม
                  ๓๕. ต้องระงับการวิวาท เมื่อสามารถระงับได้
                  ๓๖. ไม่ละโมบเห็นแก่ตัว
                  ๓๗. ไม่น้อมลาภที่เขาถวายสงฆ์อื่นมาเพื่อตน
                  ๓๘. ไม่น้อมลาภที่เขาถวายสงฆ์อื่นไปถวายสงฆ์ที่ตนชอบ
                  ๓๙. ไม่ทำเสน่ห์ยาแฝดฤทธิ์เวทให้คนคลั่งไคล้
                  ๔๐. ไม่ชักสื่อชายหญิงให้เป็นผัวเมียกัน
                  ๔๑. ต้องช่วยเหลือไถ่ค่าตัวคนให้พ้นจากการเป็นทาสเมื่อสามารถทำได้
                  ๔๒. ไม่ซื้อขายอาวุธสำหรับฆ่ามนุษย์และสัตว์
                  ๔๓. ไม่ไปดูกระบวนทัพ มหรสพ และฟังการขับร้อง
                  ๔๔. ต้องมีขันติ อดทน ในการสมาทานสิกขาบท
                  ๔๕. ต้องมีความกตัญญูต่อบิดา มารดา อุปัชฌาย์ อาจารย์ และผู้มีพระคุณ
                  ๔๖. ต้องมีสัจจะต่อคำปฏิญาณที่จะตั้งมั่นในพรหมจรรย์
                  ๔๗. ไม่ปฏิบัติธุดงควัตรในถิ่นที่มีอันตราย
                  ๔๘. ต้องมีสัมมาคารวะ รู้จักที่ต่ำที่สูง ไม่ตีตนเสมอท่าน
                  ๔๙. ต้องมีกุศลจิต สร้างบุญกุศล ให้ทานแก่ผู้ยากไร้
                  ๕๐. ไม่มีฉันทาคติ          ลำเอียงต่อการให้บรรพชาและอุปสมบทแก่ผู้มีศรัทธาจะบวช
                  ๕๑. ไม่เป็นอาจารย์สอนโดยเห็นแก่ลาภ
                  ๕๒. ไม่กระทำสังฆกรรมแก่ผู้มีมิจฉามารยา
                  ๕๓. ไม่เจตนาฝ่าฝืนพระวินัย
                  ๕๔. ต้องเคารพสมุดพระคัมภีร์ของพระพุทธศาสนา
                  ๕๕. ต้องสงเคราะห์โปรดเวไนยสัตว์
                  ๕๖. ไม่ยืนหรือนั่งในที่ต่ำกว่า แสดงธรรมแก่ผู้อื่น
                  ๕๗. ไม่ยอมจำนนต่ออำนาจที่ผิดธรรม
                  ๕๘. ไม่ล่วงละเมิดธรรมคำสั่งสอนในพระศาสนา

         สำหรับการรับศีลโพธิสัตต์ในฝ่ายฆราวาสที่ปฏิบัติที่วัดโฝกวางชาน เมืองเกาซุง ประเทศไต้หวันนั้น ก่อนการรับศีลจะต้องแสดงอาบัติ ๗ ข้อ ดังนี้
                  ๑. ท่านเคยขโมยของสงฆ์หรือไม่?
                  ๒. ท่านเคยละเมิดกาเมสุมิจฉาจารหรือไม่?
                  ๓. ท่านเคยทำความแตกแยกให้เกิดแก่คณะสงฆ์หรือไม่?
                  ๔. ท่านเคยทอดทิ้งบิดายามท่านเจ็บไข้หรือไม่?
                  ๕. ท่านเคยทอดทิ้งมารดายามท่านเจ็บไข้หรือไม่?
                  ๖. ท่านเคยทอดทิ้งญาติผู้ใหญ่ ครูอาจารย์ ยามท่านเจ็บไข้หรือไม่?
                  ๗. ท่านเคยพรากชีวิตที่มีโพธิจิตหรือไม่?

         หากไม่เคยก็ให้บอกว่าไม่เคย แต่ถ้าต้องอาบัติก็ให้รับเสีย เมื่อแสดงอาบัติแล้วนับเป็นการชำระจิตให้บริสุทธิ์ ตั้งใจมั่นที่จะไม่ละเมิดอาบัติดังกล่าวอีก เมื่อจิตใจตั้งมั่นในโพธิสัตต์มรรคต่อไปจึงรับปณิธาน สำหรับฆราวาส สำหรับฆราวาสโพธิสัตต์มี ๑๔ ข้อดังนี้
                  ๑. ข้าฯ จะหมั่นท่องบ่นพระนามของพระพุทธเจ้าเสมอ
                  ๒. ข้าฯ จะพึงหลีกเลี่ยงอกุศลกรรม
                  ๓. ข้าฯ จะรักษาสิกขาบทแม้ด้วยชีวิต
                  ๔. ข้าฯ จะสวดมหายานสูตรเสมอ (เพื่อให้เกิดความเข้าใจโดยถ่องแท้)
                  ๕. ข้าฯ จะปลูกฝังโพธิจิตให้งอกงาม
                  ๖. ข้าฯ จะช่วยสรรพสัตว์ที่ได้ทุกข์
                  ๗. ข้าฯ จะถวายทานแก่พระรัตนตรัยเสมอ
                  ๘. ข้าฯ จะมีความกตัญญูกตเวทิตาต่อบิดามารดาและพึงเคารพอาวุโสเสมอ
                  ๙. ข้าฯ จะเพียรเอาชนะความเกียจคร้าน และการศึกษาธรรมะเสมอ
                  ๑๐. ข้าฯ จะระวังอายตนะมิให้หลงระเริงในโลกียกิเลส
                  ๑๑. ข้าฯ จะตั้งใจช่วยสรรพสัตว์แม้มีจำนวนนับไม่ถ้วน
                  ๑๒. ข้าฯ จะเพียรเอาชนะอุปสรรคแม้จะมากมายเพียงใดก็ตาม
                  ๑๓. ข้าฯ จะศึกษาธรรมะแม้จะมีจำนวนมากมายเพียงใดก็ตาม
                  ๑๔. โพธิสัตต์มรรคนั้นประเสริฐยิ่ง ข้าฯ จะเพียรพยายามให้ถึงพุทธภูมิ

         สำหรับโพธิสัตต์ศีลนั้นฆราวาสรับอีกชุดหนึ่งต่างจากบรรพชิต โดยของฆราวาสมี ๓๔ ข้อ แยกเป็นครุกาบัติ หรือศีลสำคัญ ๖ สิกขาบท และลหุกาบัติ หรือศีลย่อยอีก ๒๘ ข้อ ดังนี้
                  ๑. ห้ามมิให้ทำลายชีวิต
                  ๒. ห้ามมิให้ลักทรัพย์
                  ๓. ห้ามมิให้อวดอุตตริมนุษยธรรมที่ไม่มีในตน
                  ๔. ห้ามมิให้ประพฤติผิดในกาม
                  ๕. ห้ามมิให้จ้วงจาบพุทธบริษัท ๔
                  ๖. ห้ามมิให้ซื้อขายสุราเมรัย
                  ๗. ถ้าไม่เอื้อเฟื้อต่อบิดามารดา ผู้ใหญ่ ครูอาจารย์ ถือเป็นการละเมิดศีล
                  ๘. ถ้าหลงระเริงในการเสพสุราเมรัยและสิ่งเสพติดทั้งหลาย เป็นการละเมิดศีล
                  ๙. ถ้าไม่ดูแลคนเจ็บเป็นการละเมิดศีล
                  ๑๐. ถ้าไม่ให้ทานแก่ขอทาน เป็นการละเมิดศีล
                  ๑๑. ถ้าไม่แสดงความเคารพต่อพุทธบริษัท ๔ เป็นการละเมิดศีล
                  ๑๒. ถ้าเห็นพุทธบริษัท ๔ ละเมิดศีล กลับรู้สึกลำพองใจ ถือเป็นการละเมิดศีล
                  ๑๓. ถ้าไม่รักษาศีลแปดเดือนละ ๖ วัน เป็นการละเมิดศีล
                  ๑๔. ถ้าไม่ไปฟังธรรมเป็นการละเมิดศีล
                  ๑๕. ถ้าหยิบฉวยเอาสมบัติของสงฆ์ไปเป็นสมบัติของตนเป็นการละเมิดศีล
                  ๑๖. ถ้าดื่มน้ำไม่สะอาด เป็นการละเมิดศีล
                  ๑๗. ถ้าเดินทางไปในถิ่นที่มีอันตรายตามลำพังเป็นการละเมิดศีล
                  ๑๘. ถ้าเป็นหญิง (ชาย) ไปค้างแรมในวัดของพระภิกษุ (ภิกษุณี) ตามลำพังเป็นการละเมิดศีล
                  ๑๙. ถ้าโกรธแล้วตบตีคนที่ลักเล็ก ขโมยน้อย เป็นการละเมิดศีล
                  ๒๐. ถ้ารับประทานอาหารหรือให้อาหารบูดเน่าแก่พุทธบริษัท ๔ เป็นการละเมิดศีล
                  ๒๑. ถ้าเลี้ยงแมวหรือสุนัขป่าเป็นสัตว์เลี้ยง เป็นการละเมิดศีล
                  ๒๒. ถ้าจะให้สัตว์เลี้ยงไป ต้องให้แน่ใจว่าสัตว์นั้นต้องได้รับการดูแลอย่างดี มิฉะนั้นเป็นการละเมิดศีล
                  ๒๓. ถ้าไม่รู้จักอดออมเพื่อจัดหาจีวรและบาตรถวายสงฆ์เป็นการละเมิดศีล
                  ๒๔. ถ้ารดน้ำต้นไม้ด้วยน้ำไม่สะอาด เป็นการละเมิดศีล
                  ๒๕. ถ้าทำการค้าขายโดยการโกงตาชั่งเป็นการละเมิดศีล
                  ๒๖. ถ้ามีความสัมพันธ์ทางเพศผิดกาละเทศะเป็นการละเมิดศีล
                  ๒๗. ถ้าทำการค้าไม่จ่ายภาษีให้แก่รัฐ เป็นการละเมิดศีล
                  ๒๘. ถ้าฝ่าฝืนกฎหมายของประเทศเป็นการละเมิดศีล
                  ๒๙. ถ้าได้อาหารมาใหม่ แล้วไม่ถวายแก่พระรัตนตรัยเสียก่อนเป็นการละเมิดศีล
                  ๓๐. ถ้าแสดงธรรมแล้วถูกคณะสงฆ์ห้ามปราม หากไม่เชื่อฟัง เป็นการละเมิดศีล
                  ๓๑. ถ้ากราบพระสงฆ์ในที่สาธารณะเป็นการละเมิดศีล
                  ๓๒. ถ้าถวายทานต่อสงฆ์ด้วยใจลำเอียงเป็นการละเมิดศีล
                  ๓๓. ถ้าเลี้ยงไหมเป็นการละเมิดศีล
                  ๓๔. ถ้าเห็นคนเจ็บอยู่ข้างทางแล้วทิ้งไปโดยไม่ช่วยเหลือ เป็นการละเมิดศีล

 การรับศีลฆราวาสโพธิสัตต์เป็นการเตรียมฐานใจและกายที่ดีในการถวายตัวรับใช้พระศาสนา เป็นการกรุยทางให้มีสติในการที่จะเตรียมศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย ขณะเดียวกันก็เอื้อเฟื้อต่อผู้ที่ตกทุกข์ได้ยาก ช่วยเหลือผู้อื่นไปพร้อมๆ กัน เป็นการปรับมุมมองที่มีต่อตนเองและสังคมเสียใหม่
           การเข้ารับศีลโพธิสัตต์ที่วัดโฝกวางชาน จะมีการฝึกทั้งสิ้น ๕ วัน ทำพิธีรับศีลในวันที่ ๕ ซึ่งเป็นวันสุดท้าย ในระหว่างนั้นจะมีการฝึกทั้งกายและใจ อบรมทั้งพระธรรมและวินัยเป็นกรฝึกฝนการดำเนินชีวิตอย่าง
อุกฤษ โดยเฉพาะเมื่อทำพิธีใหญ่มีผู้เข้ารับศีลโพธิสัตต์ถึง ๑๕๐๐ คน จึงต้องมีระบบที่จะจัดการเลี้ยงดูผู้คนทั้ง ๑๕๐๐ คนอย่างมีประสิทธิภาพและภายในเวลาอันจำกัด วัดโซกวางชานมีห้องอาหารที่จะบรรจุผู้คนได้ถึง ๓,๐๐๐ คน และมีระบบการรับประทานอาหารที่เรียกว่า ๓ ถ้วย (3-bow meal) ซึ่งเป็นระบบที่พัฒนาอย่างยิ่งเป็นการฝึกทั้งพนักงานเสิร์ฟที่ทำหน้าที่ของโพธิสัตต์ที่จะเลี้ยงดูผู้ปฏิบัติธรรม ขณะเดียวกันผู้ที่รับประทานอาหารก็จะได้รับการฝึกให้พิจารณาตนเอง ฝึกฝนอบรมตนเองได้อย่างถ่องแท้ชัดเจนขึ้น ทำให้รู้จักประมาณในการกินและรู้จักเคารพในอาหาร โดยแต่ละมื้อจะไม่มีอาหารเหลือแม้แต่ข้าวสักเมล็ดเดียว
           สำหรับการฝึกระเบียบอื่นๆ นั้น มีพระภิกษุณีมาเป็นหัวหน้ากลุ่ม โดยแยกเป็นกลุ่มย่อยกลุ่มละ ๗๒ คนในกลุ่มนี้ก็ยังแบ่งออกเป็นกลุ่มเล็ก ขนาดกลุ่มละ ๑๒ คน สมาชิกในกลุ่มจะดูแลว่ากล่าวตักเตือนกันเอง เวลานอนแยกนอนบนเตียง ๒ ชั้น ห้องละ ๖ คน แต่ละห้องมีห้องน้ำให้ ๒ ห้อง ต้องตื่นนอนตั้งแต่ตี ๔.๓๐ น. และ ๕.๐๐ น. ต้องเรียบร้อยทุกคนพร้อมออกมาเข้าแถวหน้าห้อง ทำให้สมาชิกกลุ่มแต่ละคนต้องมีวินัยอย่างยิ่งในการนอน การเข้าห้องน้ำ การแต่งตัว และการอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีสันติสุข
           ตอนเช้าเวลา ๕.๓๐ น. จะสวดมนต์พร้อมกันที่ลานหน้าโบสถ์ในขณะที่ภิกษุและภิกษุณี สวดมนต์อยู่ภายในโบสถ์ มีพระภิกษุทำหน้าที่กำกับอยู่หน้าโบสถ์เพื่อให้การสวดเป็นไปอย่างพร้อมเพรียงกัน
          หลังอาหารเช้าจะเข้าชั้นเรียนเพื่อทำความเข้าใจในศีลแต่ละข้ออย่างละเอียด มีอาจารย์มาอธิบายรายละเอียดในกรทำพิธีกรรมในเวลาที่จะเข้าพิธีรับศีลอีกด้วย 
          ตลอด ๕ วัน จะเป็นการฝึกเข้ม เพื่อให้เป็นแนวทางที่ผู้รับศีลโพธิสัตต์จะได้กลับไปปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้อง แม้การห่มครองเสื้อคลุมที่เรียกว่า ไห่ซิง และ จีวรที่เรียกว่า หมั่นอี้ ก็เป็นการกำหนดอิริยาบถและกิริยามารยาทของผู้สวมใส่ให้มีวินัยอย่างยิ่งในการถอดเก็บพับ จะต้องเป็นไปตามระเบียบแบบแผนที่ชัดเจน ตายตัว เหมือนกันหมด และต้องถอดทั้งไห่ซิง และหมั่นอี้ ทุกครั้งที่เข้าห้องน้ำเป็นการบังคับโดยอัตโนมัติให้เรียนรู้การห่มครองและเก็บพับให้ถูกต้องภายใน ๕ วันนั้นเอง
          ส่วนหนึ่งของพิธีกรรมก่อนการรับศีลโพธิสัตต์ ซึ่งแตกต่างไปจากฝ่ายเถรวาทที่คนไทยคุ้นเคย คือการสำนึกผิด ในพิธีกรรมสำนึกผิดนี้จะมีการสวด พระนามของพระพุทธเจ้า พระโพธิสัตต์เจ้าทั้งหลายเป็นเวลานาน จะมีการก้มลงกราบพื้นเป็นหลายครั้ง ในช่วงนี้ผู้เข้าร่วมพิธีจะพากันร้องไห้ระงมไปหมด บางคนถึงกับร้องไห้สะอึกสะอื้นทีเดียว ข้อสำคัญของการสำนึกผิดก็คือ การตั้งใจมั่นที่จะละเลิกและไม่ประพฤติเช่นนั้นอีก
          พิธีสำนึกผิดนั้นเท่ากับเป็นการชำระร่างกายจิตใจ  ให้บริสุทธิ์เพื่อเตรียมพร้อมในการรีบศีลในขั้นต่อไป
          คืนก่อนที่จะรับศีลมีการทำพิธีรานเซียง คือการจี้ธูป เช่นเดียวกับการบวชพระ แต่สำหรับฆราวาสมีการรับการจี้ธูปที่ข้อพับเป็นแถว ๓ จุด ทางฝ่ายจีนถือว่าการจี้ธูปเป็นการแสดงความตั้งใจมั่นที่จะดำเนินชีวิตตามแนวโพธิสัตต์มรรค เป็นการถวายร่างกายแทนธูปเป็นพุทธบูชา พิธีนี้มีความเป็นมาสืบทอดมาในตำนาน ตั้งแต่ยุคสานุศิษย์ของท่านโพธิธรรมตัดแขนของตนเพื่อแสดงความตั้งใจมั่นในการที่จะเรียนรู้ธรรมะจากอาจารย์
          ในฝ่ายเถรวาทจะเห็นเป็นการทรมานตน ผิดไปจากแนวคิดของพุทธ และให้เหตุผลว่าเจ้าชายสิทธัตถะเองก็ยังละเลิกการทรมานตนเพราะตระหนักว่ามิใช่ทางหลุดพ้น
           เมื่อ ค.ศ. ๑๙๖๒ เมื่อมีพระชาวเวียดนามเผาตัวตายเพื่อเป็นการประท้วงต่อการกดขี่ของรัฐบาลที่นับถือต่างศาสนาก็เป็นเรื่องที่โจษขานและชาวพุทธเถรวาทไม่สามารถทำความเข้าใจได้ แต่เมื่อศึกษาโพธิสัตต์ศีลก็จะเข้าใจว่าผู้ที่เป็นโพธิสัตต์นั้น แม้ไม่ขัดแย้งกับฝ่ายอธรรมก็จะนับว่าผิดศีลโพธิสัตต์ด้วย
           สำหรับคำว่าจี้ธูปนั้นอาจทำให้เกิดความเข้าใจไขว้เขว จริงๆ แล้วธูปที่ใช้ในพิธีไม่ได้มีลักษณะก้านยาวๆ แบบที่เรารู้จัก แต่เป็นกรวยเล็กๆ สูงประมาณ ๑ ซม. วางฐานกรวยลงบนข้อพับแล้วจุดไฟจากยอดกรวย เมื่อไฟลามลงไปถึงเนื้อจึงยกออก แล้วใช้วิธีธรรมชาติคือใช้เปลือกแตงโมฝานบางๆ วางรอบบริเวณที่จี้ธูปเพื่อลดทอนความเจ็บปวดจากรอยไหม้ ขณะทำพิธีทุกคนจะสวดมนต์ นะโม เป็น ซือ ซือ จา โม นี โฟ (นโมศากยมุนีพุทธะ) ตลอดเวลา เป็นบรรยากาศที่สร้างศรัทธาแก่ผู้เข้าพิธีเป็นอย่างยิ่ง
           อุดมการณ์โพธิสัตต์บ่มเพาะให้ผู้ปฏิบัติ  ในสายนี้มีความมุ่งมั่นในการช่วยเหลือสรรพสัตว์เป็นอย่างยิ่ง เป็นแนวทางการปฏิบัติของชาวพุทธอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยเกื้อกูลสังคมได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะสังคมปัจจุบันที่มุ่งเน้นการเห็นแก่ตัวเป็นที่ตั้ง สร้างความเดือดร้อนและไร้สันติสุขทั้งระดับปัจเจกและระดับสังคม
             การเสนอแนวทางโพธิสัตต์จึงน่าจะเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งที่เหมาะสมกับกาลสมัย สำหรับสังคมปัจจุบัน

บนเส้นทางสู่มังสะวิรัต สู่โพธิสัตต์มรรค ไปจี้ธูปที่ไต้หวัน เลี้ยงอาหาร ๒๐๐๐ คน



สถานที่ติดต่อ
  วัตรทรงธรรมกัลยาณี
เลขที่  195  ถนนเพชรเกษม  ต. พระประโทน
อ. เมืองฯ  จ. นครปฐม   73000
โทร. (034) 258-270  โทรสาร (034) 284-315
ติชม  [email protected]