ข้าพเจ้าเคยได้ยินเรื่องการรับประทานอาหารแบบใช้ถ้วยสามใบในวัดเซ็น แต่ไม่เคยทราบในรายละเอียดว่าทำอย่างไร และไม่เคยเห็นข้อเขียนของใครที่เขียนถึงเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษหรือภาษาไทย ครั้นเมื่อไปรับศีลโพธิสัตต์ที่ไต้หวันเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมานี้ พระภิกษุณีที่เป็นเพื่อนกันเกริ่นให้ฟังว่า คราวนี้แหละที่ข้าพเจ้าจะได้ฝึกการกินอาหารแบบใช้ถ้วย ๓ ใบ
        เมื่อได้เข้าไปสัมผัสด้วยตนเอง จึงตระหนักว่า เป็นระบบการกินที่น่าทึ่งมาก และเป็นไปอย่างที่ข้าพเจ้าขั้นหัวเรื่องไว้จริงๆ
        ผู้ที่ไปรับศีลโพธิสัตต์ ๑๕๐๐ คน กับผู้ที่ไปรับสมาทานศีล ๕ อีก ๕๐๐ คน รวมเป็น ๒๐๐๐ คน รับประทานอาหารที่ห้องอาหารใหญ่พร้อมกัน 
        ภายในห้องโถงใหญ่นั้น เมื่อเราเดินแถวเข้ามา ด้านหน้าเป็นพระประธาน ๓ องค์ เราจะแยกไปทางขวา ทั้งสองฝั่งมีโต๊ะแคบๆ วางเป็นแถวยาว ฝั่งละประมาณ ๓๐ แถว แถวหนึ่งจะนั่งได้ประมาณ ๕๐ คน
        เมื่อเราดินแถวเข้าไปจนถึงเก้าอี้ที่เราจะนั่ง ให้คำนับพระประธานก่อนแล้วจึงนั่งลง ขณะที่รอผู้อื่นให้พร้อม (ต้องรอทั้ง ๒๐๐๐ คนนั่นแหละ) หลวงพี่รูปหนึ่งทำหน้าที่กำกับห้องอาหารจะเดินเนิบๆ ถือไมโครโฟนไร้สายเตือนสติพวกเราให้สำรวมสายตา ตรวจสอบภายใน ให้ตั้งมั่นอยู่ในความคิดที่เป็นกุศล ไม่มีการพูดคุยกันเลย
        เมื่อทุกคนพร้อม หลวงพี่จะเป็นต้นเสียงนำสวดมนต์ เป็นการบูชาพระรัตนตรัยและพระพุทธเจ้าทั้งหลาย แล้วจึงลงมือรับประทานได้
        เสียงตะเกียบ กรุ๊ก กริ๊กพร้อมๆ กันทั้ง ๒๐๐๐ คู่ ไม่มีเสียงพูดเลย ฟังดูแปลกดี เหมือนใครพยายามเล่นดนตรีอะไรสักอย่างแต่ยังไม่เป็นเพลงดีนัก
        ตะเกียบที่วางอยู่เบื้องหน้า ต้องจับปลายตะเกียบด้วยมือซ้าย มือขวาเลื่อนด้ามตะเกียบลงมาให้พ้นขอบโต๊ะ เพื่อให้ยกตะเกียบขึ้นมาได้ถนัด
        ถ้วยข้าว จานผัก และถ้วยน้ำแกงวางอยู่ที่ขอบโต๊ะที่ไกลตัวเราออกไป จะต้องเลื่อนเข้ามาในแนวใกล้ตัวเพื่อสะดวกในการรับประทาน  ถ้วยข้าวที่อยู่ทางด้านซ้ายนั้นจะต้องไขว้มาอยู่ทางด้านขวา จานผักซึ่งมีกับข้าว สี่อย่างนั้นเลื่อนลงมาตรงๆ ถ้วยน้ำแกงซึ่งอยู่ทางขวาจะไขว้มาอยู่ทางด้านซ้าย
        เวลายกถ้วยจะยกด้วยมือซ้าย มือขวาใช้ตะเกียบช่วยประคองจึงจะเรียกว่ารู้จักมารยาทในการกินที่ถูกต้อง
        กว่าจะได้กินก็ดูจะเหนื่อยเสียแล้ว
        เวลารับประทานอาหาร ยกถ้วยข้าว โดยใช้นิ้วทั้งสี่รองที่ก้นถ้วย แล้วหยิบอาหารด้วยตะเกียบตามปกติ
        ถ้าจะยกน้ำแกงขึ้นซด ไม่ซดจากถ้วยน้ำแกง แต่ให้เทน้ำแกงลงในถ้วยข้าวแล้วซดน้ำแกงจากถ้วยข้าวที่อยู่ทางด้านขวาเสมอ
        ผู้ที่เสริฟอาหารเป็นภิกษุณี (วัดนี้มีภิกษุณี ๗๐๐ รูป ภิกษุ ๓๐๐ รูป) และนักศึกษาจากวิทยาลัยพุทธศาสนาในกำกับของวัดนั่นเอง พวกนี้จะทำงานรวดเร็ว และมีระบบที่ดีมาก ทั้งเสริฟ ทั้งรับประทาน และทั้งเก็บจาน จะเสร็จภายใน ๔๐ นาที แต่จำนวนผู้เสริฟอาหารในแต่ละวันมีจำนวนนับร้อย
        ที่เป็นไปได้เช่นนี้ เพราะมีระบบที่ดี สิ่งที่เราต้องเรียนรู้ก่อนอื่นคือความหมายของพื้นที่บนโต๊ะอาหาร บริเวณที่อยู่ตรงหน้าของเรา ข้าพเจ้าขอเรียกว่า USER AREA บริเวณชิดขอบโต๊ะด้านหน้าไกลตัวออกไป ข้าพเจ้าขอเรียกว่า SERVER'S AREA คือบริเวณที่พนักงานผู้เสริฟอาหารให้เรา
        ถ้าเราเอาถ้วยข้าวไปวางไว้ใน SERVER'S AREA พนักงานจะเดินมาตักข้าวให้ทันที เช่นเดียวกับน้ำแกงและผัก
        เมื่อเรียนรู้ถึงความหมายของพื้นที่แล้ว ต้องเรียนรู้ถึงสัญญาณที่กำกับมาด้วยกัน เมื่อเอาถ้วยน้ำแกงไปวางใน SERVER'S AREA ต้องการน้ำแกงเพียงครึ่งถ้วย ให้เอาตะเกียบชี้ที่ภายในถ้วยที่ระดับครึ่งถ้วย ถ้าต้องการเฉพาะน้ำแกง ให้เอาตะเกียบขวางปากถ้วย หากต้องการเนื้อที่เป็นผักและเต้าหู้ให้ชี้ตะเกียงลงในถ้วยเป็นแนวตั้ง แต่ถ้าวางไว้เฉยๆ ก็จะได้ทั้งน้ำแกง และเนื้ออาหาร
        ครั้งหนึ่ง ข้าพเจ้าต้องการเพียงน้ำแกง แต่ยังไม่ได้เรียนรู้สัญญาณ จึงได้ทั้งน้ำและเนื้อ ซึ่งเป็นเต้าหู้ชิ้นใหญ่ ๒ ชิ้น รับประทานไม่หมดคงค้างอยู่ในถ้วยน้ำแกง เมื่อพนักงานเก็บถ้วยไม่ได้ต้องเอาถ้วยออกวางต่างหาก ต้องมีพนักงานเก็บเศษอาหารอีกคนหนึ่งมาเก็บเศษอาหารก่อน จึงจะเก็บถ้วยได้
        เวลาเก็บถ้วยนั้นจะซ้อนกันทีละ ๕๐ ถ้วย เป็นตั้งสูงขึ้นมาเสมอคางคนเก็บทีเดียว ครั้งนั้นข้าพเจ้ารู้สึกผิดมาก ที่เต้าหู้สองชิ้นที่ข้าพเจ้ารับผิดชอบไม่ไหว กลายเป็นภาระ ทำให้ระบบการเก็บถ้วยติดขัด เสียแรงงานคนโดยใช่เหตุ
        นี่แหละเรียกว่าระบบมหาระบบเชียวแหละ
        เมื่อรับประทานอาหารเรียบร้อยแล้ว คือต้องหมดเกลี้ยงทุกอย่าง ถ้าอยากได้น้ำ ให้เอาถ้วยน้ำแกงเปล่าวางไว้ที่ ๔๕ องศาทางตะวันตกเฉียงเหนือของจานผัก พนักงานจะรินน้ำให้ครึ่งถ้วย น้ำนี้ก่อนจะดื่มกัน ให้ใช้ประโยชน์สูงสุด คือล้างทั้งจาน ผัก ถ้วยข้าว หากมีเศษอาหารติดค้างอยู่ ก็ใช้ตะเกียบเขี่ยลงมาให้หมด เทน้ำจากถ้วยน้ำแกงลงในจานผัก สุดท้ายเทลงในถ้วยข้าว แล้วจึงยกขึ้นดื่มจากถ้วยข้าว
        เมื่อเสร็จแล้วยกถ้วยข้าวจากทางขวาข้ามไปวางทางซ้ายในบริเวณ SERVER'S AREA ยกถ้วยน้ำแกงทางซ้ายลงบนถ้วยข้าว วางจานผักถัดมา แล้วสอดตะเกียบไว้ระหว่างถ้วยและจาน โดยให้ด้ามตะเกียบชี้มาทางตัวเรา
        ทันทีที่เรารับประทานเสร็จทั้งแถว พนักงานเก็บถ้วยจะเก็บเฉพาะถ้วยซ้อนกันจนเป็นตั้งสูงถึงคาง อีกคนหนึ่งเก็บจาน และตามมาด้วยคนที่เก็บตะเกียบ เมื่อได้ตะเกียบเป็นกำใหญ่จะใส่ไว้ในกระเป๋าด้านหน้าของผ้ากันเปื้อน
        บริการชั้นดีเลิศ ใช้เวลาทั้งหมดไม่เกิน ๔๐ นาที โดยพนักงานเสริฟไม่ต้องพูดกันเลยแม้คำเดียว เราผู้กินก็ไม่ได้พูดกันเลยเช่นกัน
       ข้าพเจ้าได้รับประทานอาหารทั้ง ๓ มื้อตลอด ๕ วัน ในระบบนี้ มีข้อสังเกตที่น่าสนใจ ประการแรกที่ข้าพเาไม่เคยรู้มากอ่นว่าตัวเองสามารถรับประทานอาหารได้เท่าใด มาเรียนรู้จากการฝึกฝนครั้งนี้ เพราะกินเหลือไม่ได้ อะไรก็ตามที่เขาวางไว้ให้ ถ้าเรากินไม่ได้ กินไม่หมด ไม่ต้องไปหยิบมาจากบริเวณ SERVER'S AREA ถ้ารู้สึกว่าข้าวมากไป พนักงานจะมาทันที หยิบข้าวเทกลับคืนในหม้อ แล้วตักให้ใหม่ในปริมาณน้อยกว่าเดิม ในระบบนี้เมื่อรับอาหารเข้ามาในบริเวณ USER'S AREA แล้ว เราต้องรับผิดชอบ ต้องกินให้หมด ดังนั้นเราต้องประเมินตัวเอง จะต้องรู้ว่ากินได้เท่าไร ทำให้เห็นคุณค่าของอาหาร และรู้จักประมาณตน
        หลังจากที่เสริฟ ๒๐๐๐ คนแล้ว ไม่มีเศษอาหารเหลือแม้แต่ช้อนเดียว จะไม่เรียกว่าอัศจรรย์ แล้จะเรียกว่าอะไร มีอยู่มื้อหนึ่งมีถุงดำใส่เศษอาหาร ๔ ถุงทั้งนี้เพราะวันนั้นมีเปลือกแตงโมและเปลือกผลไม้อื่น วันไหนที่มีเศษอาหารเช่นนี้จะมีพนักงานมาเดินเก็บเศษอาหารก่อน แล้วจึงเก็บถ้วยและจาน
        การทำงานของพนักงานเสริฟประสานกันดีที่สุด ในหมู่พนักงานเองจะมีการใช้สัญญาณ คือชูนิ้วชี้แปลว่าในบริเวณนั้นต้องการข้าว สองนิ้วหมายถึงผัก และสามนิ้วหมายถึงน้ำแกง ดังนี้
        วิถีชีวิตของนักบวชเป็นวิถีชีวิตที่เรียบง่าย รับประทานพออิ่ม ไม่ให้ฟุ่มเฟือยเหลือทิ้ง ยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับนิสัยรับประทานของคนไยเวลารับประทานอาหารบุฟเฟต์แล้ว ดูไม่จืด เพราะคนไทยมักตักเผื่อกันและกัน เธอตักเผื่อฉัน ฉันก็ตักเผื่อเธอ อาหารจึงเหลือทิ้งมากมาย ผิดจุดประสงค์ของการรับประทานอาหารแบบนั้น
        ระบบการรับประทานอาหารแบบนี้ นิยมปฏิบัติกันในสำนักของเซ็นทั้งของจีน เกาหลี และญี่ปุ่น แต่เฉพาะที่วัดโฝกวางชานนี้ ยิ่งน่าประทับใจมากขึ้น เมื่อเป็นระบบที่ฝึกทั้งผู้ให้บริการและผู้ที่รับบริการ เป็นการฝึกความเป็นพระโพธิสัตต์ที่จะช่วยเหลือผู้อื่นให้กล้าแข็งขึ้นสำหรับพนักงานเสริป และฝึกฝนผู้รับบริการให้รู้จักประมาณตนในการรับประทานอาหารเป็นนิสัยที่ดีของคนวัด
        หากวัดหรือองค์กรใดสนใจจะใช้วีธีนี้ก็ยินดีที่จะแนะนำรายละเอียดให้เป็นวิทยาทาน

บนเส้นทางสู่มังสะวิรัต สู่โพธิสัตต์มรรค ไปจี้ธูปที่ไต้หวัน เลี้ยงอาหาร ๒๐๐๐ คน



สถานที่ติดต่อ
  วัตรทรงธรรมกัลยาณี
เลขที่  195  ถนนเพชรเกษม  ต. พระประโทน
อ. เมืองฯ  จ. นครปฐม   73000
โทร. (034) 258-270  โทรสาร (034) 284-315
ติชม  [email protected]