พุทธบริษัท 3

                                                                                                                                                                                        
เรียน คุณหนุนยันที่รักนับถือ
                  หลายปีก่อนเมื่อปรากฏว่าแม่ชีสอบเปรียญธรรม 9 ประโยค ได้หลายรูปติดกัน 2 ปีซ้อน ผมเองเป็นผู้เสนอความเห็นผ่านทาง น...ฉบับหนึ่งขอให้รื้อฟื้นให้มีพระภิกษุณีขึ้นอีกครั้ง ช่วงใกล้ ๆ กันมีคอลัมนิสต์ใหญ่ท่านหนึ่งเสนอความคิดเห็นแนวเดียวกันปรากฎว่าท่านผู้นั้นถูกชาวพุทธ(บางคน) ด่าสาดเสียเทเสีย(ซึ่งความจริงเพียงแต่ชี้แจงว่าตามกฎกติกาของสงฆ์ไม่สามารถรื้อฟื้นขึ้นมาได้อีกข้อเสนอนั้นก็จบแล้ว)
                 ข้อเสนอของผม ได้หาทางออกไว้ว่า หากเป็นไปไม่ได้ก็น่าจะออกกฎหมายควบคุมแม่ชี เพื่อให้ปฏิบัติตนอยู่ในกรอบมีแบบมีแผนไม่ให้ไปนั่ง “ภิกขาจาร” อยู่ข้างถนนอีกต่อไป เป้าหมายสำคัญอีกประการหนึ่งคือ ต้องการยกระดับเพื่อให้ชาวบ้านมีศรัทธาในแม่ชีมากขึ้น(บางแห่งมีศรัทธาอยู่แล้ว เช่น งานศพบางรายมีการเชิญแม่ชีไปสวดสลับกับพระภิกษุสงฆ์ เป็นต้น) ปรากฏว่าข้อเสนอของผมไม่มีท่านผู้ใดสนใจ แม่ชีจึงไม่มีองค์กรใดดูแลควบคุมจนกระทั่งวันนี้
                 "แนะ 5 ข้อทางออก ‘สามเณรี’ ติง ‘คณะสงฆ์เจ้าบ้าน’ อย่าด่วนตัดสินใจรับไม่ได้!"
                  กรณีธัมมนันทา หรือสามเณรี ดร.ฉัตรสุมาลย์  กบิลสิงห์ อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลงทุนเดินทางไปบวชในิกายมหายานดังเป็นที่ทราบกันนั้น ท่านเจริญรอยมารดาของท่าน แม่ชีวรมัยฯ  ซึ่งไปบวชเป็นภิกษุณีจากประเทศไต้หวันเมื่อหลายปีก่อน ก็ไม่เป็นข่าวหรือเป็นปัญหานัก แต่ครั้นเมื่อไม่กี่วันมานี้มีการนิมนต์พระภิกษุณีจากต่างประเทศมาประกอบพิธีบวชสามเณรีขึ้นในประเทศไทยจึงเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสงฆ์ฝ่ายเถรวาท(เจ้าบ้าน) ว่ารับไม่ได้ทำนองนั้น
                  ผมเองในฐานะที่ได้คลุกคลีศึกษาเกี่ยวกับวัตรปฏิบัติของอาจารย์แม่ลูกทั้งสองมาเป็นเวลานาน(ดังที่เคยเล่าในมติชน) ขอเสนอทางออกในทางที่น่าจะชอบจะควรดังต่อไปนี้

(1)  เป้าหมายหรืออุดมการณ์ของการก่อตั้งสามเณรีหรือในอนาคตจะเป็นภิกษุณีขึ้นเป็นไปเพื่อความดีงามไม่มีสิ่งใดเป็นพิษเป็นภัยแก่ใครเลย เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่สังคมโดยแท้

(2)  การบวชนั้นต้องถือว่าถูกต้องตามพิธีกรรมในฝ่ายมหายาน ทั้งเป็นสิทธิของบุคคลตามรัฐธรรมนูญที่ว่าบุคคลจะนับถือศาสนาหรือลัทธิใด ๆ ก็ได้ตราบที่ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีงามของประชาชน

(3)  อย่างไรก็ดี เมื่อเป็นองค์กรเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา องค์กรใหม่นี้ต้องขึ้นอยู่ในความปกครองขององค์กรใหญ่คณะสงฆ์ เช่นในขณะนี้ก็ต้องขึ้นต่อมหาเถรสมาคมและสมเด็จพระสังฆราช จะทำตัวเป็น “รัฐอิสระ” ไม่ได้เป็นอันขาด แม้กฎหมายรัฐธรรมนูญจะให้สิทธิแต่สิทธินั้นต้องอยู่ภายใต้กฎหมายลูก คือ พ...คณะสงฆ์ด้วย

(4)  น่าจะเป็นหน้าที่ของกรมการศาสนาที่ต้องตรวจสอบว่าองค์กรสงฆ์ใหม่นี้มีกฎหมายใดควบคุมหรือยัง ถ้า พ...คณะสงฆ์ยังควบคุมไม่ถึงก็ต้องดำเนินการออกกฎหมายเพิ่มเติมเพื่อให้ปกครองกันได้

(5)  ทางปฏิบัติที่ดีในขณะนี้องค์กรสงฆ์ใหม่ โดยสามเณรีธัมมนันทาต้องแสดงอปจายนธรรม(คือความอ่อนน้อมถ่อมตน) ต่อมหาเถรสมาคมและสมเด็จพระสังฆราช โดยรายงานเป้าหมายอุดมการณ์ของการก่อตั้ง ลำดับพิธีกรรมตลอดถึงกฎ กติกาตลอดถึงศีลวัตรปฏิบัติเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องโดยด่วน

และสิ่งที่กระผมใคร่ขอร้องต่อ “คณะสงฆ์เจ้าบ้าน” คือ กรุณาอย่ารีบ “รับไม่ได้” โปรดวินิจฉัยตามสมควรแก่ธรรม แล้วทุกอย่างก็จะเป็นไปด้วยดีเพื่อความดีงามในสังคมชาวพุทธตลอดไป
               การแต่งกายของสงฆ์ใหม่ขอให้เหมือนกับที่ “หลวงแม่” ท่านแต่งอยู่แล้ว คือสวมเสื้อกุยเฮง นุ่งกางเกงขาก๊วยชุดเหลือง มีจีวรสีเหลืองอ่อนห่มทับอีกผืนหนึ่ง ดูอย่างไรก็ไม่เหมือนคณะสงฆ์เถรวาทครับ
               ขอขอบคุณหนุนยันอย่างสูง และขออภัยที่จดหมายนี้ยาวไปหน่อย ด้วยความจำเป็นแท้ ๆ

                                                                                                ด้วยรักและนับถือ

                                                                                              ไชยรัตน์  รัตนวิจิตร

 

   ตอบ     – พุทธบริษัท 4 ประกอบด้วย ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในสมัยพุทธกาล พระพุทธองค์ทรงให้ความสำคัญกับพุทธบริษัททั้ง 4 อันเป็นสดมภ์ของพระศาสนา โดยเสมอภาค
                          ภายหลังจากพระพุทธองค์ทรงดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว มีการชำระพระธรรมวินัยของสาวกภิกษุในการสังคายนาพระไตรปิฏกครั้งแรก นำโดยพระมหากัสสป มีผลให้ภิกษุณีถูกลดฐานะ สถานภาพและบทบาทลงตามลำดับ
                          ภิกษุณี หนึ่งในพุทธบริษัท 4 ถูกกีดกันสิ้นไปจากสังคมอินเดีย ที่ยึดติดอยู่กับวรรณะและการเหยียดเพศ เช่นเดียวกับอีก 3 สดมภ์ ของพระพุทธศาสนาก็จางหายสิ้นไปจากชมพูทวีปในที่สุด
                          พระพุทธศาสนาเบ่งบานในที่ที่มนุษย์มีความเสมอภาค ในความเป็นมนุษย์ ภิกษุณี หนึ่งในพุทธบริษัท 4 ยังคงสืบสายมีอยู่ในดินแดนที่ไม่ติดวรรณะและไม่ยึดเพศเป็นสรณะ


จากหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน  ฉบับวันที่
6 มี.. 2545


Back



สถานที่ติดต่อ
  วัตรทรงธรรมกัลยาณี
เลขที่  195  ถนนเพชรเกษม  ต. พระประโทน
อ. เมืองฯ  จ. นครปฐม   73000
โทร. (034) 258-270  โทรสาร (034) 284-315
ติชม  [email protected]