มายาคติในพุทธศาสนา 2
 

วันนี้เราจะพิจารณาถึงเรื่อง มายาคติที่ปรากฏหรือที่แอบแฝงอยู่ในพุทธศาสนา คำว่า มายาคติ แปลว่าอะไร คติคือความเชื่อ มายาคือของหลอกไม่ใช่ของจริง ที่มันไม่เป็นจริง พุทธศาสนานั้นเกิดขึ้นในชมพูทวีปซึ่งเป็นดินแดนที่มีศาสนาพราหมณ์เกิดขึ้นก่อนนั้น  เพราะคณะสงฆ์ในสมัยแรกก็มาจากบริบทของสังคมที่เป็นสังคมของความเชื่อของศาสนาพราหมณ์มาก่อน ถ้าเราไม่ตั้งหลักให้ดีเราไม่เข้าใจใน องค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าที่แท้จริง เราก็จะมาติดกับอยู่ในความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ซึ่ง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ก้าวล่วงมาแล้ว เจตนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ตั้งใจจะสอนเพื่อความหลุดพ้นสารัตถะแท้ ๆ ของพุทธศาสนาอธิบายอย่างง่ายที่สุดมีเพียงให้ รู้จักทุกข์ แล้วก็ให้แสวงหาทางดับทุกข์ ถ้าหากเราจับเจตนารมณ์ของพุทธศาสนาได้ เราจับแก่นแท้ของพุทธศาสนาได้อะไรก็ตามที่เป็นความเชื่อ ที่ทำให้แก่นแท้ของพุทธศาสนาไม่สามารถจะเป็นจริงได้ อาตมา คิดว่าอันนั้นเป็นอุปสรรคที่เราจะต้องก้าวข้าม ในสมัยแรกนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ปรารถนาที่จะให้มีพระวินัยด้วยซ้ำไป พระสารีบุตรได้ทูลถามเรื่องพระวินัย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารับสั่งว่ายังไม่ถึงเวลาอันควร เพราะว่าบรรดาพระสงฆ์ที่มาบวชในสมัยแรก ก็ล้วนแล้วแต่บรรลุแล้ว ถึงได้ขอเข้ามาบวช สำหรับผู้ที่บรรลุแล้วจิตใจบริสุทธิ์แล้วไม่ได้ติดกับอยู่ในกิเลสทั้งหลายแล้ว วินัยแทบจะไม่ใช่เรื่องที่สำคัญ  และต่อมาเมื่อคณะสงฆ์เจริญเติบโตขึ้นเกิดระเบียบวินัยมากขึ้น แต่เราต้องทำความเข้าใจว่ากฎระเบียบนั้น  กไก่ ฎ ชฎา ไม่ใช่มีไว้สำหรับกด  กไก่  ด เด็ก  ไม่ใช่มีไว้สำหรับกดข่มคณะสงฆ์แต่กฎระเบียบเหล่านั้น เกิดขึ้นเพราะว่ามันมีคดีเกิดขึ้นเพื่อมิให้เหตุเหล่านั้นเกิดขึ้นซ้ำซ้อนอีกจึงวางไว้เป็นกฎเกณฑ์ที่เรียกว่า พระวินัย  ส่วนในข้อห้ามเฉพาะเรียกว่า พระปาติโมกข์ อย่างเช่นข้อแรกในปาราชิกที่ห้ามมิให้ล่วงเกินทางเพศ ก็เพราะว่ามีคดีของพระภิกษุรูปหนึ่งชื่อท่านสุทิน ๆ  เป็นพระที่ตั้งใจปฏิบัติดี แต่เนื่องจากเมื่อกลับไปเยี่ยมครอบครัว พ่อแม่เห็นว่าไหน ๆ ลูกชายก็สละทางโลกไปแล้วอยากจะได้หลานเอาไว้สักคนหนึ่ง ก็ไปอ้อนวอนพระลูกชายว่าขอให้หลับนอนกับภรรยาเพื่อว่าจะได้สืบสายสืบตระกูลไหน ๆ ท่านก็ไปบวชแล้วไม่มีลูกหลานเอาไว้สืบสกุล พระสุทินเมื่อได้หลับนอนกับภรรยาแล้วก็มีความเศร้าหมองในใจตัวเองก็ผ่ายผอมเป็นที่สังเกตของบรรดาเพื่อน ๆ เมื่อเพื่อน ๆ พระถามขึ้นพระสุทินก็บอกไปตามความจริงถ้าตอนนั้นยังไม่ได้ถือว่าเป็นเรื่องผิดไม่มีกฎเกณฑ์ห้ามแม้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทราบจึงได้วางกฎเกณฑ์นี้ว่า  คนที่บวชแล้วจะไม่สามารถที่จะมีความยุ่งเกี่ยวทางเพศได้ ในปาราชิกข้อนี้ จะเห็นถึงความละเอียดอ่อน ในพระไตรปิฎกของไทยโดยเฉพาะข้อนี้เข้าไปเป็นร้อยหน้า ก็จะเห็นว่ากฎเกณฑ์นั้นไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อที่จะล้อมกรอบหรือบีบบังคับ แต่เกิดขึ้นตามกาละเทศะ ตามเหตุที่มีมา ก็ตั้งกฎเกณฑ์ขึ้นมาเพื่อว่าไม่ให้ละเมิดในข้อนั้นอีก  ทีท่าขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงวางกฎเอาไว้ แต่ไม่ได้หมายความว่าให้กฎนั้นเป็นเรื่องตายตัวไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงได้ อาตมาขอยกตัวอย่างเรื่องหนึ่ง ก็คือเรื่องที่เราสังคมสมัยปัจจุบันจะเห็นว่าเรื่องจีวรเป็นเรื่องที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นเรื่องที่ผู้หญิงมายุ่งเกี่ยวไม่ได้ เพราะว่าผู้หญิงนั้นแปดเปื้อนหลายครั้งจะมีคนถามว่าเป็นผู้หญิงครองจีวรได้หรือ อันนี้ก็แสดงว่าไม่ได้มีความเข้าใจในความเป็นมาในพระพุทธศาสนาว่า ในเรื่องการบวชของผู้หญิงนั้นเขาบวชมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ทั้งนี้ถ้าหากว่ากฎเกณฑ์นั้นเป็นไปเพื่อที่จะให้เคร่งครัดอย่างเดียวเป็นการล้อมกรอบคณะสงฆ์ไม่ให้กระดิกกระเดี้ยวจริง ๆเราก็จะไม่มีเรื่องราวที่จะเล่าต่อไปนี้ พระภิกษุณีรูปหนึ่งเกิดท้องขึ้น เมื่อพระภิกษุณีเกิดท้องขึ้นพระอาจารย์ของท่านก็คือพระเทวทัตก็ให้ขับออกจากคณะสงฆ์ถือว่าผิดปาราชิก ล่วงเกินทางเพศให้ขับออกจากคณะสงฆ์เสีย พระภิกษุณีรูปนี้ท่านยืนยันในความบริสุทธิ์ของท่านว่า นับตั้งแต่วันที่บวชเข้ามายังไม่เคยละเมิดปาราชิกเลย เพราะฉะนั้นท่านไม่ควรที่จะถูกบังคับให้สึก ท่านจึงไปกราบทูลองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าขอความเป็นธรรมให้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้โปรดพิจารณาให้ความเป็นธรรมกับนางด้วย  องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นทรงเป็นสัพพัญญูก็คือ ผู้รู้รอบ ย่อมทรงรู้ด้วยพระญาณว่าภิกษุณีรูปนี้เป็นผู้บริสุทธิ์โดยแท้ แต่ว่าในการปกครองคณะสงฆ์นั้นการที่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรู้เพียงพระองค์เดียวก็ไม่เพียงพอ จำเป็นจะต้องให้คณะสงฆ์ตระหนักรู้เพื่อให้เกิดการยอมรับในคณะสงฆ์ด้วยจึงให้ตั้งคณะกรรมการขึ้น คณะกรรมการนี้ประกอบด้วยภิกษุณีสงฆ์และภิกษุสงฆ์และพร้อมทั้งให้ไปเชิญนางวิสาขา ซึ่งเป็นมหาอุบาสิกาเป็นคนที่มีครอบครัวมีลูกหลานเป็นจำนวนมาก  นางวิสาขาได้ทำหน้าที่ของนางโดยการที่ซักไซร้ไล่เรียงพระภิกษุณีรูปนี้จึงได้ความกระจ่างว่า พระภิกษุณีรูปนี้นั้น ท่านท้องติดมาโดยที่ท่านไม่ได้รู้ตัว เมื่อเป็นเช่นนี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงอนุญาตทรงมีพระเมตตากรุณา อนุญาติให้ภิกษุณีรูปนี้ท้องและคลอดลูกอยู่ในจีวรนั่นแหละไม่ได้ลาสิกขาลาเพศไม่จำเป็นจะต้องสึกออกไปเพราะว่านางไม่ได้ผิดเงื่อนไขปาราชิกจริง ๆ พระภิกษุณีรูปนี้ไม่ใช่แต่จะท้องในจีวรเท่านั้น คลอดลูกในจีวร แล้วก็ให้นมลูก เลี้ยงลูกมาจน 1 ขวบ  เพราะว่าถ้าหากว่าจะให้ลูกพรากจากมารดาก็จะเป็นการที่ไม่ได้ให้ความเมตตากรุณา เพราะในสมัยก่อนยังไม่มีนมเทียมลูกจำเป็นที่จะต้องอาศัยนมแม่ ก็โปรดให้เลี้ยงดูจนกระทั่งลูกหย่านมแล้ว จึงยกลูกให้เป็นบุตรบุญธรรมพระราชาอื่นพระองค์หนึ่ง เรื่องราวของภิกษุณีรูปนี้อาตมาเห็นเป็นความงามในพุทธศาสนาที่ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้วางกฎระเบียบวินัยเพื่อให้กดขี่ผู้ที่ปฏิบัติแต่เพื่อให้การปฏิบัตินั้นเป็นไปได้เพื่อให้เอื้อต่อการปฏิบัติอย่างแท้จริง เมื่อพูดอย่างนี้เราก็จะทำความเข้าใจว่า แล้วถ้าเราจะทำความเข้าใจในเรื่องจริง ๆ ในเรื่องที่เราจะก้าวข้ามมายาคตินั้นทำอย่างไร กลไก หรือว่า เครื่องมือในการที่เราจะก้าวล่วงมายาคติได้นั้นก็คือปัญญาองค์ความรู้  และความสามารถในการที่เราจะเข้าใจในเจตนารมณ์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อมาใช้เป็นเครื่องมือในการรื้อทิ้ง อาตมาใช้คำว่ารื้อทิ้ง ทฤษฎีของสตรีนิยมเขาเรียกว่า Deconstruct  มารื้อทิ้งมายาคติซึ่งเป็นความเชื่อที่ไม่ได้มีพื้นฐานของความจริงและเราสามารถจะพิสูจน์ได้โดยการที่เข้าไปศึกษาในองค์ความรู้เดิม มายาคติที่ปรากฏในสังคมไทยนั้นมีอยู่หลายประการถ้าจะลำดับก็คงจะไม่จบสิ้น จะขอพูดเฉพาะมายาคติที่เป็นปัญหาอุปสรรคที่เราเผชิญอยู่ขณะนี้ก็คือ มายาคติที่ถือว่า บวชภิกษุณีนั้นเป็นไปไม่ได้เพราะต้องบวชโดยสงฆ์ 2 ฝ่าย อาตมาอยากจะเล่าให้ฟังถึงขั้นตอนการบวช ๆ ของผู้หญิงนั้น ผู้หญิงคนแรกที่ได้รับการบวชจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็คือ พระแม่น้านางมหาปชาบดี พระแม่น้านางมหาปชาบดีเป็นคนเดียวที่ได้รับการบวชโดยการน้อมรับครุธรรม  8  ผ่านพระอานนท์  ส่วนนางสากิยานีนั้นที่ตามเสด็จมา 500  นาง  ได้รับการบวชจากพระภิกษุสงฆ์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุญาตไว้ว่า ภิกษุทั้งหลายเราอนุญาตให้ภิกษุบวชภิกษุณี บวชผู้หญิงเป็นภิกษุณี การที่พระภิกษุสงฆ์บวชให้ผู้หญิงเป็นภิกษุณีนั้นก็ถือปฏิบัติสืบเนื่องกันมาเป็นเวลาพอสมควร จนกระทั่งมีเหตุการณ์ครั้งหนึ่งที่พระภิกษุสงฆ์ไม่สามารถที่จะบวชต่อไปได้  เพราะว่าในการซักถามอันตรายิกธรรมนั้น  อันตรายิกธรรมก็คือ ธรรมอันจะเป็นอันตรายต่อชีวิตสมณะเพศถ้ามาบวชแล้วจะมีอุปสรรค  สำหรับผู้ชายมี  13   สำหรับผู้หญิงมี  24  ของผู้หญิงก็คือ  13  ข้อของผู้ชายนั้นและก็มีข้อเพิ่มขึ้นมาอีก  11 ข้อ   ใน  11 ข้อที่เพิ่มขึ้นมานี้เป็นการถามในเรื่องส่วนตัว เช่นถามว่า  มีประจำเดือนกระปิดกระปอยหรือเปล่า  มีประจำเดือนตลอดเวลาหรือเปล่า มีอวัยวะเพศทั้งสองอย่างหรือเปล่า  หรือไม่มีอวัยวะเพศเลยหรือเปล่า หรือมีแผลที่ต้องใช้ผ้าปิดแผลตลอดเวลาหรือเปล่า คำถามเหล่านี้เป็นคำถามที่สร้างความอึดอัดใจ อาย  ผู้หญิงอายก็ไม่ตอบ พอไม่ตอบคณะสงฆ์ไม่สามารถที่จะดำเนินการบรรพชาอุปสมบทต่อไปได้  จึงมากราบทูลถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าในกรณีนี้จะให้ทำอย่างไร  องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงอนุญาตว่า ในการซักถามอันตรายิกธรรมนั้นให้ฝ่ายภิกษุณีสงฆ์เป็นฝ่ายซักถามเองซะก่อน เมื่อซักถามเรียบร้อยแล้วหญิงผู้นี้บริสุทธิ์ จากอันตรายิกธรรมแล้วจึงส่งเข้ามาบวชในคณะภิกษุสงฆ์  แต่ว่าคำสั่งเดิมที่อนุญาติเอาไว้ว่าให้ภิกษุสงฆ์บวชภิกษุณีได้นั้นก็ไม่ได้ยกเลิก เพราะฉะนั้นในกรณีที่เทศไทยมีแต่ภิกษุสงฆ์อย่างเดียว ถ้าจำเป็นที่จะต้องบวชผู้หญิงจริง ๆ ก็สามารถที่จะบวชได้โดยถูกต้องตามพระธรรมวินัย อันนี้เป็นวิธีการตอบประการหนึ่ง วิธีการตอบประการที่ 2  ก็คือถ้าหากว่าที่จะยืนยันที่จะมีการบวชโดยสงฆ์  2 ฝ่าย ก็สามารถที่จะไปรับการบวชจากภิกษุณีสงฆ์ในต่างประเทศได้ ในต่างประเทศที่มีอยู่ในขณะนี้ก็มีสายศรีลังกา  ซึ่งสืบมาจากสายไต้หวัน  สำหรับพวกที่ไม่เห็นด้วยมายาคติที่ไม่เห็นด้วยก็บอกว่า มหายานนั้นไปรับมาจากมหายานเพราะฉะนั้นเป็นคนละนิกายกัน ก็เป็นมายาคติอีกแบบหนึ่งที่จะต้องใช้วิชาความรู้เข้ารื้อทิ้ง  เวลาที่พูดถึงพระธรรมวินัยกำลังพูดถึง  2 ส่วน คือพระธรรมและพระวินัย ในเรื่องการบวชเป็นเรื่องการบวชในสืบสายพระวินัย ในสายพระวินัยนั้นสายการบวชของภิกษุณีเท่าที่มีอยู่ล้วนแล้วเป็นสายที่แตกมาจากเถรวาททั้งสิ้น  ไม่มีสายพระวินัยที่มาจากมหายาน นี่เป็นประการที่   1   ประการที่  2 ก็คือ ความแตกต่างระหว่างมหายานกับเถรวาทนั้น  เป็นความแตกต่างที่พระธรรมไม่ใช่พระวินัย ความแตกต่างในพระธรรมหมายความว่าอย่างไร มหายานมีวิธีการอธิบายธรรมะแตกต่างไปจากฝ่ายเถรวาท  เช่น  อธิบายในเรื่องพระพุทธเจ้า  อธิบายในการบรรลุของพระอรหันต์ต่างไปจากของเถรวาทอย่างนี้เป็นต้น  ส่วนเรื่องการสืบสายการบวชเป็นเรื่องของพระวินัยเท่านั้น ไม่ใช่เรื่องของพระธรรม  เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าจะอ้างว่าการไปการบวชจากไต้หวันเป็นมหายาน  ไม่สามารถจะรับได้เพราะว่าเราเป็นเถรวาทนี้ก็คือพูดจากมายาคติที่ไม่เข้าใจว่าเรื่องสายการบวชนั้นเป็นเรื่องของพระวินัย ไม่ใช่เรื่องธรรมและความแตกต่างระหว่างมหายานกับเถรวาทเป็นความแตกต่างในทางธรรมะ ในการอธิบายขยายความธรรมะ  มายาคติอีกเรื่องหนึ่งที่อาตมาอยากจะยกตัวอย่างให้ดูว่าถ้าหากเรายึดถือตามตัวอักษรเกินไปเราก็จะไม่เข้าถึงเจตนารมณ์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและไม่ใช่ไม่เข้าถึงอย่างเดียวเราจะล่วงเกินเจตนารมณ์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยซ้ำ  การปฏิบัติที่ถืออยู่ในปัจจุบันที่ถือเคร่งครัดว่าไม่ให้มีการถูกเนื้อต้องตัวผู้หญิงของพระภิกษุนั้นไม่ได้เราจะถือเคร่งจริง ๆ ตามนั้นหรือเปล่า  อาตมาอยากจะเล่าเรื่อง เมื่อตอนที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จเข้าไปเยี่ยมพระนางยโสธราที่ตำหนักฝ่ายในนั้น  องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงหยั่งรู้ว่าพระนางยโสธรามีความเศร้าโศกเสียพระทัยเป็นอันมาก  และเนื่องจากพระนางยโสธราเองก็ยังไม่ได้เข้าใจว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเวลานี้เป็นสมณะแล้ว  เวลานี้มีเงื่อนไขของคณะสงฆ์ที่ไม่ให้ถูกเนื้อต้องตัวกับฝ่ายหญิง  องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงหันไปเตือนพระโมคคัญลานะและพระสารีบุตรพระสาวกซ้ายขวาซึ่งตามเสด็จว่า  ไม่ว่าพระนางจะแสดงอาการเคารพด้วยวิธีใดขอร้องว่า ไม่ให้เข้าไปห้ามปรามพระนาง ถ้าอย่างนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ละเมิดกฎเกณฑ์ของคณะสงฆ์หรือ ตรงนี้จะแสดงให้เห็นชัดเจนว่า กฎเกณฑ์นั้นไม่ได้มีเอาไว้กดขี่ แต่กฎเกณฑ์นั้นเป็นกฎเกณฑ์ที่เป็นไปได้ที่ทำให้ความเป็นอยู่ของคณะสงฆ์เป็นไปได้ เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้าไปในพระตำหนักฝ่ายในของพระนางยโสธราซึ่งแท้ที่จริงแล้วก็คือตำหนักเดิมของพระองค์นั้นเอง พระนางยโสธราทรงสยายพระเกศา เอาพระเกศาเช็ดพระบาทของพระพุทธเจ้า ๆ ก็ประคองนางให้ลุกขึ้นมานั่งในที่อันควร  ถ้าเราเห็นภาพนี้ชัดเจน เราจะเห็นภาพนี้ว่าเป็นการแสดงออกซึ่งความเมตตากรุณาอันล้นพ้นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถ้ามัวจะถือเคร่งตามกฎพระวินัยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็คงจะบอกว่า พระนางยโสธราถูกเนื้อต้องตัวพระองค์ไม่ได้เวลานี้พระองค์เป็นพระพุทธเจ้า เวลานี้พระองค์เป็นสมณะเป็นพระภิกษุแล้วแต่พระพุทธองค์ไม่ได้กล่าวเช่นนั้นในทางตรงกันข้ามกลับเตือนโมคคัญลาพระสารีบุตรด้วยซ้ำว่าไม่ให้เข้ามาห้ามปรามให้พระนางแสดงความจงรักภักดีตามที่พระนางต้องการจะแสดงเราก็จะเห็นว่ามายาคติที่พอกพูนเข้ามาในความเชื่อของเรานั้นจำเป็นที่จะต้องไถ่ถอน จำเป็นที่ต้องทำความเข้าใจว่ามายาคติเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นมายาคติที่เกิดขึ้นเพราะความไม่รู้ไม่เข้าใจของเราเองเสียเป็นส่วนใหญ่ เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าเราเป็นผู้ได้ศึกษาพระศาสนาอย่างแท้จริง ไม่ใช่อ่านเฉพาะพระสูตรใดพระสูตรหนึ่งแต่จะต้องเข้าใจในองค์รวมของคำสอนทั้งในส่วนของพระธรรมทั้งในส่วนของพระวินัยว่าเจตนารมณ์ที่แท้จริงของพระพุทธเจ้านั้นเป็นอย่างไรในการที่วางรากฐานให้กับเราในเรื่องพระวินัยเราก็จะสามารถที่จะรักษาพระวินัยโดยการที่รักษาเอาไว้ใน Spirit  ในเจตนารมณ์ที่แท้จริงไม่ใช่รักษาเฉพาะเปลือกภายนอก ไม่ใช่รักษาเฉพาะตัวอักษรแต่รักษาโดยนัยยะโดยความเข้าใจที่แท้จริง เมื่อสองวันก่อนที่มีคณะของชาวอเมริกันมาถามว่า ในเมื่อพระวินัยหลายข้อไม่สอดคล้องกับสังคมปัจจุบันเรายกเลิกไปเลยดีไหม  อาตมาก็บอกว่า ถ้าหากว่ายกเลิกไปเลยในท้ายที่สุด เมื่อห้าร้อยปีผ่านไปเราจะไม่เหลืออะไรที่เป็นของเก่าเลย เพราะฉะนั้นท่าทีของเถรวาทก็คือให้รักษาของเก่าเอาไว้นั้นก็เป็นสิ่งที่ดีแต่ต้องรักษาของเก่าเอาไว้ในลักษณะที่ว่าเราสามารถที่จะเข้าใจถึงเจตนารมณ์ของพระวินัยแต่ละข้อ เข้าใจถึงเจตนารมณ์ซึ่งเป็นองค์รวมของพุทธศาสนาที่ตั้งใจที่จะให้เราเข้าใจในทุกข์ ตั้งใจให้เราที่จะสามารถก้าวล่วงทุกข์ได้ นั่นคือแก่น นั่นคือสาระเมื่อเราซึ่งเป็นพระต้องพยายามรักษาพระธรรมวินัย และต้องเข้าใจถึงแก่นถึงสาระ อะไรก็ตามที่เป็นเปลือกเป็นกระพี้บางครั้งถ้าไม่จำเป็นก็สามารถที่จะเพิกถอนได้ตามคำอนุญาตขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเองเพียงแต่ว่าคณะสงฆ์ปัจจุบันไม่ได้สิทธิ์ของตัวเองแต่ว่าพยายามยืนยันทีท่าเดิม ๆ ซึ่งน่าจะเป็นมายาคติอีกรูปแบบหนึ่งที่เราจำเป็นที่จะต้องช่วยกันรื้อทิ้งเพื่อที่จะจรรโลงภาพแห่งความงดงามของพุทธศาสนาเอาไว้ เพื่อที่จะให้อนุชนรุ่นหลังจะได้เห็นว่าคำสอนในพระพุทธศาสนานั้นเป็นสิ่งที่สอดคล้องเป็นสิ่งที่ทันสมัยเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ในชีวิตปัจจุบัน มายาคติทั้งหลายเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราต้องศึกษาเป็นสิ่งที่เราต้องสนใจและพยายามที่จะรื้อทิ้งเพื่อให้ได้เห็นภาพอันงดงามแท้จริงของพุทธศาสนาเอง 

                                                                   ขอเจริญพร
                                                               25 มกราคม 2546.


 


Back



สถานที่ติดต่อ
  วัตรทรงธรรมกัลยาณี
เลขที่  195  ถนนเพชรเกษม  ต. พระประโทน
อ. เมืองฯ  จ. นครปฐม   73000
โทร. (034) 258-270  โทรสาร (034) 284-315
ติชม  [email protected]