เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า ประชากรส่วนใหญ่ร้อยละ 95 ของประเทศไทยนับถือศาสนาพุทธ ถึงแม้ว่าจะไม่มีกฎหมายฉบับใดรับรองให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ แต่ด้วยความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ ซึ่งพระมหากษัตริย์จะต้องปกครองโดยหลักธรรมทางพุทธศาสนาประกอบกับรัฐธรรมนูญ ทุกฉบับกำหนดให้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะทำให้พุทธศาสนามีฐานะเสมือนเป็นศาสนาหลักของสังคมไทยโดยปริยาย พุทธศาสนาเน้นการศึกษาเรียนรู้ การขัดเกลา และฝึกฝนตนเองไปสู่การดับทุกข์ เกิดความเข้าใจแนวทางในการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นและสิ่งแวดล้อมอย่างสงบสันติ หัวใจสำคัญของพุทธศาสนา คือ การละเว้นความชั่วทำความดี และทำจิตใจให้บริสุทธิ์เบิกบานแจ่มใส พุทธศาสนิกชนที่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนแล้วดำเนินชีวิตอยู่ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นมีเมตตากรุณาช่วยเหลือเกื้อกูลต่อส่วนรวม ช่วยพัฒนาสังคมไปสู่สันติสุขร่วมกัน ย่อมเกิดพลังแห่ง ศีล สมาธิ ปัญญาในการดำรงชีวิตไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นพร้อม ๆ กันกับมีพลังเมตตากรุณาในการช่วยเหลือเผื่อแผ่ต่อส่วนรวมและขวนขวายพัฒนาสังคมไปสู่ความดีงามและสันติสุขร่วมกัน สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงดับขันธ์ปรินิพพาน โดยไม่ได้ทรงแต่งตั้งผู้ใดเป็นศาสนทายาท แต่ได้ทรงฝากหลักพระธรรมคำสั่งสอนที่พระองค์ทรงค้นพบไว้กับพุทธบริษัท 4 อันประกอบด้วย ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกา ความเจริญรุ่งเรืองหรือความเสื่อมถอยของพุทธศาสนา ขึ้นอยู่กับความเป็นปึกแผ่นเข้มแข็งของพุทธบริษัททั้ง 4 นี้ ปัจจุบันพุทธบริษัท 4 ในประเทศไทยยังไม่ครบถ้วนและขาดความเข้มแข็ง มีแต่พระภิกษุแต่ยังขาดภิกษุณี แม้แม่ชีเองก็ไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นนักบวช แม้จะมีหญิงจำนวนไม่น้อยที่มีความศรัทธาเลื่อมใสในการปฏิบัติธรรม รวมทั้งต้องการถือสมณเพศ แต่กฎหมายของบ้านเมือง สถาบันสงฆ์ ตลอดจนค่านิยมของสังคมได้ปิดกั้นโอกาสทั้งหมดที่ได้กล่าวมานี้ ในขณะที่เพศชายได้รับการสนับสนุนส่งเสริมให้บวชเป็นสามเณรหรือภิกษุได้ การบวชเรียนของเพศชายในสังคมไทยทำให้สามารถศึกษาเรียนรู้พระธรรมคำสั่งสอนตลอดจนได้รับความรู้ความชำนาญในเรื่องอื่น ๆ การบวชเรียนในสังคมดั้งเดิมจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เพศชายได้รับโอกาสด้านการศึกษาและสามารถพัฒนาฐานะทางสังคมให้สูงยิ่งขึ้น ไปได้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ให้ความเคารพศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์และความเสมอภาคระหว่างชายและหญิง ซึ่งรับรองหลักการดังกล่าวนี้ไว้อย่างชัดเจนในมาตรา 4 ที่ให้การคุ้มครองต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพของบุคคล ประชาชนชาวไทย ไม่ว่าเหล่ากำเนิด เพศ หรือศาสนาใดย่อมได้รับความคุ้มครองจากรัฐธรรมนูญเสมอกัน (มาตรา 5) และมาตรา 30 ได้รับรองสิทธิที่เท่าเทียมกันของชายและหญิง ส่วนในมาตรา 38 เป็นการให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนชาวไทยในการนับถือศาสนารวมทั้งในการปฏิบัติตามศาสนบัญญัติหรือปฏิบัติพิธีกรรมได้ตามความเชื่อถือของตนหากไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่พลเมืองดีและไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรม และสิทธิเสรีภาพนี้ได้รับความคุ้มครองไม่ให้รัฐกระทำการใด ๆ ที่เป็นการริดรอนสิทธิอันควรมีควรได้ด้วย และมาตรา 26 กำหนดให้การใช้อำนาจโดยองค์กรของรัฐทุกองค์กรต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ นอกจากกฎหมายภายในประเทศแล้ว ประเทศไทยยังเป็นภาคีอนุสัญญาของ องค์การสหประชาชาติว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบ ซึ่งส่งเสริมให้รัฐภาคีให้ความเคารพต่อหลักความเสมอภาคทางเพศอีกด้วย หลักการดังกล่าวนี้ สอดคล้องกับพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าซึ่งกล่าวว่าหญิงชายที่ปฏิบัติตามหลักพุทธศาสนาย่อมสามารถบรรลุธรรมได้เสมอกัน อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าเพศชายและเพศหญิงยังไม่ได้รับโอกาสในการเข้ามาปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเท่าเทียมกัน เพราะเพศชายสามารถบวชเป็นพระภิกษุได้ กฎหมายซึ่งอนุโลมตามขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมของไทยทำให้ชายสามารถลาบวชได้ ภิกษุและสามเณรมีสถานภาพทางศาสนาและกฎหมายที่ชัดเจน ได้รับการบำรุงเลี้ยงดู สนับสนุนและเคารพนับถือบูชากราบไหว้จากสังคม แต่เพศหญิงซึ่งมีความเลื่อมใสศรัทธาต่อการปฏิบัติตามพระธรรมวินัยและมีศักยภาพที่จะเผยแพร่พระธรรมคำสั่งสอนไม่ได้รับอนุญาตให้บวชเป็นภิกษุณีจากคณะสงฆ์ไทย ซึ่งอุปสรรคเกี่ยวกับการบวชของภิกษุณีเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงในสังคมไทยตลอดมา ถึงแม้ว่าโอกาสทางการศึกษาในสังคมสมัยใหม่ทำให้ประเพณีการบวชเรียนของเพศชายลดความสำคัญลง แต่การบวชเรียนก็ยังเป็นวิถีปฏิบัติและเป็นทางออกทางด้านการศึกษาและการดำรงชีพของครอบครัวที่ด้อยโอกาส ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก แต่การบวชของหญิงในพุทธศาสนาของประเทศไทยเป็น ประตูที่ปิดตาย สำหรับเพศหญิง ปัจจุบันพระพุทธศาสนาในประเทศไทยกำลังเผชิญกับภาวะวิกฤตินานัปประการ ซึ่งถ้าไม่เร่งหาแนวทางแก้ไขแล้ว พระพุทธศาสนาอาจเสื่อมถอยและเป็นอันตรายต่อการเสื่อมสูญไปจากประเทศได้ หนึ่งในวิกฤตนั้นได้แก่ การที่เพศชายผู้บวชเป็นภิกษุสามเณรมีจำนวนลดลงเรื่อย ๆ วัดวาอารามที่ญาติโยมมีศรัทธาสร้างไว้กลายเป็นวัดร้างถึง 6,900 วัด[1] และมีจำนวนภิกษุในแต่ละวัดไม่เพียงพอต่อการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เมื่อต้นปี พ.ศ.2545 ได้มีการบวชสามเณรีเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยอุปัชฌาย์/ปวัตตินี จากประเทศศรีลังกา เหตุการณ์ดังกล่าวได้นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยอย่าง กว้างขวาง นายพิชัย ขำเพชร สมาชิกวุฒิสภา จังหวัดเพชรบุรี ได้หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาหารือในที่ประชุมคณะกรรมาธิการกิจการสตรี เยาวชนและผู้สูงอายุ วุฒิสภา เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2545 ในที่สุดที่ประชุมได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมาธิการด้านสตรี ซึ่งมีนางระเบียบรัตน์ พงษ์พานิช เป็นประธานให้ทำการศึกษาในเรื่องนี้ คณะอนุกรรมาธิการได้ใช้เวลาในการศึกษาประมาณ 6 เดือน ตั้งแต่ พฤษภาคม - พฤศจิกายน พ.ศ. 2545 ในการศึกษาค้นคว้าจากเอกสารปฐมภูมิและเอกสารทุติยภูมิ ตลอดจนได้เชิญผู้มีความรู้และความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้ ทั้งที่เป็นฆราวาสและพระภิกษุทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการบวชภิกษุณีมาให้ข้อมูลและความคิดเห็นต่อคณะอนุกรรมาธิการ ซึ่งผู้ที่ได้รับเชิญนิมนต์มาประกอบด้วย พระราชกวี พระศรีปริยัติโมลี พระเทพดิลก พระอริยเมธี พระมหาประเสริฐ ติรธัมโม พระโกศิล ปริปุณโณ พระมโน เมตตานันโท ศาสตราจารย์ ดร.อมร รักษาสัตย์ ราชบัณฑิต ศาสตราจารย์(พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต ดร.บรรจบ บรรณรุจิ และพันเอก (พิเศษ) ทองขาว พ่วงรอดพันธุ์ รวมทั้งสามเณรีธัมมนันทา ในส่วนการศึกษาข้อมูลนอกสถานที่นั้น คณะอนุ กรรมาธิการได้ไปนมัสการและรับฟังข้อคิดเห็นจากพระพิศาลธรรมพาที วัดสวนแก้ว จังหวัดนนทบุรี และ เจ้าอาวาสวัดถ้ำภูตอง จังหวัดลพบุรี เป็นต้น การศึกษาเพื่อรวบรวมความเห็นและข้อเท็จจริงครั้งนี้ ถือได้ว่าครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่เรียกได้ว่าเป็นการบุกเบิกครั้งแรกของประเทศไทย ที่คณะกรรมาธิการกิจการสตรี เยาวชนและผู้สูงอายุ วุฒิสภา อันเป็นองค์กรที่ทำงานด้านสตรีได้ทำการศึกษาเรื่องดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ ปัญหาและการบวชภิกษุณีของสังคมไทยปัจจุบัน ทั้งนี้เพื่อที่จะเสนอข้อเท็จจริงให้สังคมไทยได้รับรู้และมีความเข้าใจสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริงและเป็นรูปธรรม ตลอดจนกระตุ้นให้คนในสังคมไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญ และคุณูปการของภิกษุณีต่อสังคมไทย ถ้ามีการเปิดโอกาสให้สตรีได้มีบทบาทในการสืบทอดพระพุทธศาสนาในฐานะ ภิกษุณี ต่อไป วัตถุประสงค์ของการศึกษา1. เพื่อศึกษากำเนิดและความเป็นมาของภิกษุณีในพระพุทธศาสนา 2. เพื่อศึกษาบทบาทและความสำคัญของภิกษุณีในการสืบทอดพระพุทธศาสนา 3. เพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการบวชภิกษุณี 4. เพื่อศึกษาปัญหาและอุปสรรคที่เป็นข้อจำกัดต่อการบวชภิกษุณีในประเทศไทย 5. เพื่อศึกษาหาแนวทางในการเปิดโอกาสให้สตรีในประเทศไทยบวชเป็นภิกษุณี ในพุทธศาสนาอย่างถูกต้องและเป็นที่ยอมรับตามพระธรรมวินัย
การดำเนินการศึกษา1. ทบทวนเอกสาร สิ่งตีพิมพ์ และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง 2. เชิญผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญ และผู้เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนามาให้ความรู้ ข้อมูลและแสดงความคิดเห็นในเรื่องภิกษุณี 3. ตั้งกระทู้ถามกรณีการบวชภิกษุณีต่อรัฐบาล 4. ศึกษาดูงานนอกสถานที่ 5. ศึกษาประมวลและวิเคราะห์ข้อมูล 6. นำเสนอผลการศึกษาต่อคณะกรรมาธิการกิจการสตรี เยาวชนและผู้สูงอายุ วุฒิสภา 7. เผยแพร่ผลการศึกษาต่อประชาชน สื่อสารมวลชน สถาบันการศึกษา หน่วยงาน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ สังคมไทยจะได้รับประโยชน์ดังนี้1. ได้ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับฐานะและบทบาทของสตรีไทยในพระพุทธศาสนา อันจะนำไปสู่การลดการมีอคติทางเพศต่อสตรี และส่งเสริมฐานะและบทบาทของสตรีที่มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มีความเท่าเทียมและเสมอภาค ตามหลักธรรมของพุทธศาสนาและรัฐธรรมนูญ 2. เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับบทบาทและภารกิจที่สำคัญของภิกษุณี เกิดความศรัทธาเลื่อมใสและให้การสนับสนุนส่งเสริมการบวชภิกษุณีเพื่อให้ครบพุทธบริษัท 4 3. ได้รูปแบบที่ชัดเจนของการบวชภิกษุณีในประเทศไทย 4. เกิดสถาบันภิกษุณีอันจะเป็นที่พึ่งทางใจให้แก่พุทธศาสนิกชน สร้างความเข้มแข็งให้แก่ ครอบครัว สังคม สร้างความมั่นคงและช่วยจรรโลงพระพุทธศาสนา 5. เพื่อให้การศึกษาเรื่องภิกษุณีครั้งนี้ ได้รับการบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์และเป็นหลักฐาน อ้างอิงทางวิชาการต่อไป [1] ข้อมูลจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พ.ศ. 2546 |
|
|
สถานที่ติดต่อ
วัตรทรงธรรมกัลยาณี
เลขที่ 195 ถนนเพชรเกษม ต.
พระประโทน
อ. เมืองฯ จ. นครปฐม 73000
โทร. (034) 258-270 โทรสาร (034) 284-315
ติชม [email protected]