บทที่ 4
ปัญหาและอุปสรรคเกี่ยวกับการบวชภิกษุณีในประเทศไทย
 

              ปัจจุบันในประเทศไทย ยังคงปิดกั้นโอกาสของสตรีไทยในทางพระพุทธศาสนาให้เป็นแต่เพียง       ผู้อุปถัมภ์หรือสนับสนุนกิจกรรมทางศาสนาเท่านั้น  แต่ไม่ได้รับสิทธิและโอกาสในการบวชเป็นธรรมทายาททางพระพุทธศาสนา  ซึ่งคณะอนุกรรมาธิการได้รับฟังความคิดเห็นจากหลายฝ่าย สรุปผลการศึกษาได้ 2 ประเด็นดังนี้

         4.1 ปัญหาและอุปสรรคต่อการบวชภิกษุณีในประเทศไทย

         4.2 ข้อโต้แย้งของคณะอนุกรรมาธิการต่อประเด็นข้อขัดข้องของการบวชภิกษุณีในประเทศไทย

                      
         4.1 ปัญหาและอุปสรรคต่อการบวชภิกษุณีในประเทศไทย

                จากการศึกษาและรับฟังความคิดเห็น เรื่อง  การบวชภิกษุณีสงฆ์ในประเทศไทยสามารถประมวลข้อขัดข้องหรือเหตุผลของฝ่ายที่คัดค้านไม่เห็นด้วยกับการบวชภิกษุณี ได้ดังนี้
          (1)  ประเพณีที่เป็นมาตั้งแต่รับพระพุทธศาสนามาในไทยนั้น ไม่ปรากฏว่ามีภิกษุณีสงฆ์

มาก่อน การสืบทอดสายของภิกษุณีได้หายสาบสูญไปแล้ว การบวชภิกษุณีต้องบวชโดยสงฆ์ 2 ฝ่าย ซึ่งเรียกว่า อุภโตสงฆ์

          (2)  พระพุทธศาสนาในประเทศไทยได้รับการทำนุบำรุงจาก 3 พุทธบริษัท คือ ภิกษุ อุบาสก อุบาสิกา มาโดยตลอด หากพุทธศาสนาจะเสื่อมก็คงเสื่อมตั้งแต่สมัยสุโขทัยไปแล้ว เพราะ         พระพุทธศาสนาเข้ามาในประเทศไทยมานานแล้ว และในประวัติศาสตร์ก็ไม่เคยปรากฏหลักฐานอ้างอิงถึงภิกษุณีสงฆ์

          (3)  ประกาศสมเด็จพระสังฆราชกรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ พ.. 2471 ที่ห้ามพระภิกษุไทยไม่ให้บวชหญิงเป็นบรรพชิตชัดเจนอยู่แล้ว ใครฝ่าฝืนถือว่าเป็นเสี้ยนหนามแก่พระพุทธศาสนา

          (4)  หากมีการบวชภิกษุณีจะทำให้พุทธศาสนิกชนเกิดการแตกแยกและจะนำความ             วุ่นวายมาสู่ประเทศไทย

          (5)  การเกิดขึ้นของภิกษุณีสงฆ์นั้นไม่ถูกต้องตามพระธรรมวินัยดังนั้นควรยอมให้พุทธศาสนาหายสาบสูญไปจากแผ่นดินไทยดีกว่าที่จะให้เกิดการมีภิกษุณีสงฆ์โดยผิดหลักการ

          (6)  ครุธรรม 8 ประการ ซึ่งกำหนดให้ภิกษุณีต้องจำพรรษาในวัดที่มีภิกษุเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงว่าจะเกิดอาบัติ เพราะปัจจุบันเพียงแค่สตรีเข้ามาปฏิบัติธรรมในวัดก็มีข่าวปัญหาความสัมพันธ์ที่ไม่เหมาะสมระหว่างภิกษุกับสีกา หากให้สตรีเข้ามาบวชเป็นภิกษุณีซึ่งต้องปฏิบัติกิจสงฆ์ร่วมกันแล้วเกรงจะเกิดเรื่องไม่ดีงาม  จะทำให้พระพุทธศาสนาเสื่อมได้

          (7)  ผู้คนในสังคมไทยก็ไม่เคยมีใครเรียกร้องถึงภิกษุณีสงฆ์ อยู่ ๆ ก็มีคนกลุ่มเล็ก ๆ            ลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิโดยอ้างว่าเป็นไปตามสิทธิมนุษยชน สิทธิสตรีเป็นคนละเรื่องกับพระพุทธศาสนาธรรมาธิปไตยกับประชาธิปไตยหากนำมาผสมปนเปกันจะทำให้สังคมแตกแยก กฎหมาย  รัฐธรรมนูญนั้นจะมาบังคับใช้ในทางพระพุทธศาสนาไม่ได้

           (8)  การให้สตรีเข้ามามีบทบาทในการทำนุบำรุงพุทธศาสนา หรือการประพฤติปฎิบัติ

ธรรมนั้นเป็นสิ่งที่ดี    แต่ไม่จำเป็นต้องบวชเป็นภิกษุณี การปฏิบัติธรรมเป็นเรื่องของความอิสระเป็นสิทธิส่วนตัวสามารถจะปฏิบัติได้ในภาวะความเป็นแม่ชี อุบาสิกาหรือภาวะใด ๆ ก็ได้ ไม่จำเป็นต้องบวชเป็นภิกษุณี  หากสตรีตั้งใจจะปฏิบัติธรรม ควรพัฒนาสถาบันแม่ชีขึ้นมาเพราะมีความคล่องตัวมากกว่า และมรรคผลนิพพานก็ได้รับเหมือนกัน

           (9)  ถ้าจะมีภิกษุณีจะต้องยกร่างพระราชบัญญัติขึ้นมารับรองการบวชแยกต่างหากออกไปไม่ให้รวมอยู่ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์  ต้องไม่อิงหลักพระธรรมวินัยโดยให้เป็นภิกษุณีรูปแบบใหม่   ขั้นตอนการบวชต้องเขียนขึ้นโดยกฎเกณฑ์ใหม่             

 

                จากการสรุปประเด็นข้อขัดข้องของการคัดค้านการบวชภิกษุณีในประเทศไทยดังกล่าวข้างต้น สามารถสรุปประเด็นข้อขัดข้องที่สำคัญ ซึ่งเป็นประเด็นหลักของการคัดค้านดังกล่าว ประกอบด้วย                  2  ส่วน ดังนี้

                ส่วนที่ 1 การบวชภิกษุณีขัดต่อพระธรรมวินัย  ประกอบด้วย 3 หัวข้อ ดังนี้

                   1.1  การบวชเป็นภิกษุณีขัดต่อพระธรรมวินัย

1.2  ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่าการบวชภิกษุณีต้องดำเนินโดยสงฆ์สองฝ่ายเท่านั้น

1.3  ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่าในการบวชภิกษุณีจะต้องบวชในสายมหายานเท่านั้น

                ส่วนที่ 2  ปัญหาและอุปสรรคด้านกฎหมาย มี 2 หัวข้อ ดังนี้

                    2.1  คำสั่งห้ามบวชภิกษุณีของสมเด็จพระสังฆราช พ.. 2471

 2.2   การลงโทษอาญาฐานแต่งกายเลียนแบบสงฆ์

 

                4.2 ข้อโต้แย้งของคณะอนุกรรมาธิการต่อประเด็นข้อขัดข้องของการบวชภิกษุณีในประเทศไทย

                จากผลของการศึกษาเรื่อง “การบวชภิกษุณีสงฆ์ในประเทศไทย” ของคณะอนุกรรมาธิการด้านสตรี พบว่า มีข้อมูลและหลักฐานที่สามารถโต้แย้งต่อประเด็นข้อขัดข้องที่คัดค้านการบวชภิกษุณีในประเทศไทย  ทั้ง 2 ส่วน  ได้ดังนี้               

ส่วนที่ 1 การบวชภิกษุณีสงฆ์ขัดต่อพระธรรมวินัย

1.1  การคัดค้านต่อการบวชเป็นภิกษุณี ขัดต่อพระธรรมวินัย  เมื่อได้ศึกษาโดยละเอียดแล้วพบว่า    การบวชภิกษุณีไม่ขัดต่อพระธรรมวินัย แต่อย่างใด

หลักฐานในพระไตรปิฎก ปรากฏชัดเจน พบว่า การบวชภิกษุณี ไม่ขัดกับพระธรรมวินัยแต่อย่างใด โดยมีหลักฐาน ดังนี้

:  ในภิกขุนี ขันธกะ พระวินัยปิฎก ภาษาไทย เล่ม 7 หน้า 321 บรรทัดที่ 2 และ 3 ฉบับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.. 2539 มีใจความว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลาย อุปสมบทสตรีเป็นภิกษุณีทั้งหลาย” และ “ภิกษุทั้งหลายพึงให้อุปสมบทภิกษุณีทั้งหลาย”

:  ในวินัยบัญญัติของภิกษุณีสงฆ์ในพระปาฎิโมกข์ 227 ข้อ ไม่มีข้อใดห้าม ภิกษุ   สงฆ์อุปสมบทสตรีเป็นภิกษุณี

:  การปฏิบัติตนของภิกษุณีสงฆ์เพื่อให้ถูกต้อง ตามพุทธบัญญัตินั้น มีปรากฏชัดเจน

ในนวโกวาทวินัยบัญญัติ นิสสัคคียปาจิตติย์ 30 จีวรวรรค ที่ 1 ข้อที่ 4 และข้อที่ 5 ปาจิตตีย์ 92 สิกขาบท โอวาท วรรคที่ 3 มี 10 สิกขาบท ทั้ง 10 สิกขาบทนี้ไม่มีสิกขาบทใดที่ห้ามภิกษุอุปสมบทสตรีเป็นภิกษุณี

  : พระไตรปิฎก เล่ม 7 หน้า 346 – 349 (ฉบับเดียวกันที่ได้อ้างในข้อ 1 ) กล่าวถึง การให้

อุปัชฌาย์ทำหน้าที่แทนปวัตตินี ดังนั้น การอุปสมบทสตรีเป็นภิกษุณีนั้น สามารถทำได้โดยภิกษุสงฆ์

  :  ในบุคคลห้ามบวชโดยเด็ดขาด 11 ประเภท และไม่ห้ามโดยเด็ดขาด 10 ประเภท

ว่าด้วยบุคคลไม่ควรให้บรรพชา 32 ประเภท ไม่มีสตรีรวมอยู่ด้วย  (เล่ม 3 มหาขันธกะ หน้า                           173 – 187 )

 

                1.2 ประเด็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่าการบวชภิกษุณีต้องดำเนินโดยสงฆ์สองฝ่ายเท่านั้น  จากการศึกษาพบว่า พุทธศาสนิกชน หรือแม้แต่ภิกษุสงฆ์ นักบวช นักปฏิบัติธรรม และแม่ชีเข้าใจเรื่องภิกษุณีและการบวชภิกษุณีคลาดเคลื่อน โดยเข้าใจว่าการบวชเป็นภิกษุณีนั้นต้องเป็นสังฆกรรมโดยสงฆ์สองฝ่าย ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไม่ถูกต้อง สิ่งที่ถูกต้องและต้องทำความเข้าใจใหม่ คือ

                  1.2.1  ข้อคัดค้านจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยต่อการอุปสมบทภิกษุณีนี้  วีระรัตน์[9]  ได้ให้ข้อคิดที่น่าสนใจว่า  “ผู้ที่เข้าใจคลาดเคลื่อนในเรื่องนี้ คงไปติดค้างอยู่กับคำพูดของพระมหินท์เถระ ที่กล่าวว่า “เป็นการไม่ถูกต้องที่อาตมาจะให้การอุปสมบทแก่ภิกษุณี พระขนิษฐาของอาตมา คือพระนางสังฆมิตตาเถรี อยู่ในประเทศอินเดีย ขอให้ทูลนิมนต์พระนางลงมาเกาะลังกา”  หลักฐานในพระไตรปิฎกนั้นไม่มี    ข้อความใดในพระวินัย ที่ห้ามมิให้พระภิกษุสงฆ์อุปสมบทภิกษุณี แต่การที่พระมหินท์เถระรับสั่งเช่นนั้น คงเป็นเพราะขณะนั้นยังมีภิกษุณีสงฆ์อยู่ และสามารถนิมนต์มาได้ เพื่อความสะดวกต่อสตรีในการถามอันตรายิกธรรม (ธัมมนันทา สามเณรี 2544 : 21 – 27)

                   1.2.2   การบวชภิกษุณีครั้งแรกในสมัยพุทธกาลนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทานอนุญาตให้ พระนางมหาปชาบดีโคตมีบวชโดยการรับครุธรรม 8 ประการ  ส่วนนาง           สากิยานีและนางโกลิยานี  ซึ่งเป็นข้าราชบริพาร 500 นางนั้น พระองค์ทรงมอบหมายให้พระภิกษุสงฆ์บวชให้ ดังปรากฏในภิกษุณีขันธกะ พระวินัยปิฎกภาษาไทย เล่มที่ 7 หน้า 321 บรรทัดที่ 2 และ 3 ฉบับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.. 2539 มีใจความว่า “ภิกษุทั้งหลายเราอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลายอุปสมบทภิกษุณีทั้งหลาย” และ “ภิกษุทั้งหลายพึงให้อุปสมบทภิกษุณีทั้งหลาย” พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ภิกษุบวชภิกษุณีได้  และในสมัยพระพุทธองค์  พระภิกษุสงฆ์ก็บวชภิกษุณีมาตลอด  และพระพุทธองค์ได้บัญญัติเพิ่มเติมในภายหลังที่ให้ภิกษุณีเข้ามามีบทบาทในการสอบถามอันตรายิกธรรม  (ท่านมาปะละคาม วิปุลสาระมหาเถระ)[10] ได้กล่าวถึง เรื่องการบวชภิกษุณี โดยสงฆ์สองฝ่ายนี้ในพระวินัยไม่ได้ระบุไว้ว่าควรจะบวชภิกษุณีอย่างไรในประเทศที่ไม่มีภิกษุณีสงฆ์ เมื่อเป็นเช่นนี้ภิกษุสงฆ์จึงสามารถอุปสมบทภิกษุณีได้ตามพุทธานุญาตของพระพุทธองค์ที่ว่า “ภิกษุทั้งหลายเราอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลายอุปสมบทภิกษุณีทั้งหลาย” และ “ภิกษุทั้งหลายพึงให้อุปสมบทภิกษุณีทั้งหลาย” และเมื่อตรวจสอบพระวินัยแล้วจะเห็นได้ว่าหากมหาเถระ 10 รูป ขึ้นไป เมื่อเห็นพร้อมกันว่าเป็นสิ่งถูกต้องก็เป็นสิ่งที่พึงทำได้ (ธัมมนันทา สามเณรี 2544 : 21 – 27)

                    1.2.3  การบวชภิกษุณีนั้น เป็นพิธีกรรมครั้งเดียวที่ทำโดยภิกษุสงฆ์  โดยพระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้ภิกษุณีสงฆ์ซักถามอันตรายิกธรรมกับผู้หญิงที่ต้องการบวชเสียก่อน เมื่อพบว่าผู้หญิงที่ต้องการบวชนั้น มีคุณสมบัติครบถ้วนไม่มีอุปสรรคแล้ว จึงส่งเข้ามาบวชในคณะภิกษุสงฆ์ การที่ให้ภิกษุณีสงฆ์เข้ามาซักถามอันตรายิกธรรมนั้น จึงไม่ใช่สังฆกรรม  แต่เป็นเพียงขั้นตอนที่จะเตรียมเข้าสู่สังฆกรรม โดยมีภิกษุสงฆ์เป็นฝ่ายดำเนินการบวชในขั้นสุดท้าย ข้อความนี้ปรากฏในปาจิตตีย์ของภิกษุณีสงฆ์  ความเข้าใจที่ว่าวิธีการบวชภิกษุณีต้องดำเนินการโดยสงฆ์สองฝ่ายเท่านั้นจึงเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนและหากให้ภิกษุณีสงฆ์ทำสังฆกรรมอุปสมบทให้ครั้งหนึ่งแล้วและภิกษุสงฆ์มาทำสังฆกรรมเดียวกันอีกครั้งหนึ่ง   ต้องแสดงว่าสังฆกรรมครั้งแรกนั้นผิดพลาด  ต้องมีการยกเลิกสังฆกรรมแรกก่อนจึงจะสามารถมาทำสังฆกรรมหลังได้  เพราะเป็นการทำสังฆกรรมซ้ำ ความเข้าใจเรื่องการบวชสองครั้ง หรือบวชโดยสงฆ์สองฝ่ายจึงไม่น่าจะถูกต้อง

                     1.2.4 ในวินัยบัญญัติของภิกษุสงฆ์ในพระปาฏิโมกข์ 227 ข้อ ไม่มีข้อใดห้ามภิกษุสงฆ์

อุปสมบทสตรีเป็นภิกษุณี

                     1.2.5 การปฏิบัติตนของภิกษุที่เกี่ยวข้องกับภิกษุณี ตามพุทธบัญญัตินั้นมีปรากฏชัดเจนในวินัยบัญญัติ นิสสัคคีปาจิตตีย์ 30 จีวรวรรค ข้อที่ 4 และข้อที่ 5 โกสิยวรรค ข้อที่ 7 ปาจิตตีย์ 92 สิกขาบท โอวาท วรรคที่ 3 มี 10 สิกขาบท ปฏิเทศนียะ สิกขาบทที่ 1 และ 2 ทั้ง 15 สิกขาบทนี้ไม่มีสิกขาบทใดห้ามภิกษุอุปสมบทสตรีเป็นภิกษุณี

                     1.2.6 พระไตรปิฎกเล่ม 7 หน้า 346 – 349 กล่าวถึงการให้อุปัชฌาย์ทำหน้าที่แทนปวัตตินี ดังนั้น การอุปสมบทสตรีเป็นภิกษุณีนั้น สามารถทำได้โดยภิกษุสงฆ์

 

       1.3 ประเด็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่าในการบวชภิกษุณีจะต้องบวชในสายมหายานเท่านั้น

 จากการศึกษา พบว่า เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ผู้หญิงบวชเป็นพระภิกษุณีได้นั้น พุทธศาสนายังไม่ได้มีการแบ่งแยกนิกาย นิกายมหายานเกิดขึ้นในสมัยหลังร่วม 500 ปี

                ความแตกต่างระหว่างสายเถรวาทและมหายานนั้นเป็นเรื่องของการตีความพระธรรมไม่ใช่อยู่ที่การถือปฎิบัติตามพระวินัย แต่การบวชเป็นเรื่องของพระวินัย มหายานก็ถือวินัยการบวชของเถรวาท ความแตกต่างจึงอยู่ที่การตีความพระธรรมที่ขึ้นอยู่กับบริบทของภูมิประเทศและแนวคิดปรัชญา              บางประการเท่านั้น  แต่เรื่องของการบวชเป็นเรื่องของการถือตามพระวินัย  การบวชของภิกษุณีสงฆ์จีนในทุกวันนี้ก็เป็นการถือตามนิกายธรรมคุปต์ซึ่งเป็นนิกายย่อยไปจากสายเถรวาท

                ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ประมาณพุทธศตวรรษที่ 3 นั้น  ปรากฏว่ามีการแบ่งแยกนิกาย ในพระพุทธศาสนาถึง 32 นิกาย แต่นิกายหลักที่มีหลักฐานปรากฏชัดเจนนั้นมี 18 นิกาย กล่าวคือ แยกไปจากเถรวาท 12 นิกาย และแยกไปจากมหายาน 6 นิกาย  พระวินัยฝ่ายจีนที่ถือปฏิบัตินั้นแยกออกไปจาก        เถรวาทนั้นเอง

                ความแตกต่างระหว่างเถรวาทและมหายานนั้นกล่าวได้ว่า โดยหลักกว้าง ๆ นั้น  มหายานต่างจากเถรวาทในการอธิบายพระธรรมที่แยบยล ลึกซึ้ง และกว้างขวาง  โดยการเขียนพระสูตรอธิบายข้อ           พระธรรมต่างๆ  ได้พิสดารมากขึ้น  แต่ข้อธรรมะที่มหายานหยิบยกขึ้นมาอธิบายขยายความนั้นล้วนเป็นข้อธรรมะที่มีรากฐานมาจากพระพุทธศาสนาที่เป็นคำสอนดั้งเดิมทั้งสิ้น สายการบวชซึ่งเป็นการสืบสายทางพระวินัย ภิกษุณีสงฆ์ที่มีอยู่ในปัจจุบันล้วนมาจากสายเถรวาททั้งสิ้น  ไม่ว่าจะเป็นนิกายธรรมคุปต์ของจีน หรือมูลสรวาสติวาทของธิเบต

   

                ส่วนที่ 2  ปัญหาและอุปสรรคด้านกฎหมาย

                 2.1  คำสั่งห้ามบวชภิกษุณีของสมเด็จพระสังฆราช ฯ

                นับตั้งแต่ที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระพุทธศาสนาพระองค์ทรงประดิษฐานพุทธศาสนาไว้ที่พุทธบริษัท 4 อันได้แก่ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกา แต่พุทธบริษัทในประเทศไทยมีเพียง ภิกษุ อุบาสก และอุบาสิกา แต่ไม่มี “ภิกษุณี” แม้ในครั้งพุทธกาล พระพุทธองค์ยังทรงตอบพญามารว่า          พระองค์จะเสด็จสู่พระปรินิพพานก็ต่อเมื่อ พุทธบริษัททั้ง 4 เข้าใจในพระธรรมคำสอนและเผยแผ่              พระธรรมได้เท่านั้น และพระองค์ได้ตอบพระอานนท์ว่า...ผู้หญิงนั้นมีศักยภาพในการบรรลุธรรมได้เช่นเดียวกับชายแต่ศาสนาจักรในประเทศไทยกลับมีพระบัญชาของพระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหลวงชินวร          สิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราช ประกาศห้ามพระภิกษุไม่ให้บวชหญิงเป็นบรรพชิต  ดังมีรายละเอียดในประกาศ   ดังนี้

 

ประกาศ

ห้ามพระเณรไม่ให้บวชหญิงเป็นบรรพชิต

                หญิงซึ่งจักได้สมมติตนเป็นสามเณรี โดยถูกต้องพระพุทธานุญาตนั้น ต้องสำเร็จด้วยนางภิกษุณีให้บรรพชา เพราะพระองค์ทรงอนุญาตให้นางภิกษุณีมีพรรษา 12 ล่วงแล้วเป็น ปวัตตินี คือเป็นอุปัชฌาย์ไม่ได้ทรงอนุญาตให้ภิกษุเป็นอุปัชฌาย์ นางภิกษุณีหมดสาบสูญขาดเชื้อสายมานานแล้ว เมื่อนางภิกษุณีมี   ผู้รักษาขนบธรรมเนียมสืบต่อมาสามเณรีไม่มีแล้ว สามเณรีผู้บวชสืบต่อมาจากภิกษุณีก็ไม่มี เป็นอัน            เสื่อมสูญไปตามกัน ผู้ใดให้บรรพชาเป็นสามเณรี ผู้นั้นเชื่อว่าบัญญัติสิ่งที่พระพุทธเจ้าไม่บัญญัติเลิกถอนสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้แล้ว เป็นเสี้ยนหนามต่อพระศาสนาเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี

                เพราะเหตุนี้ ห้ามไม่ให้พระเณรทุกนิกาย บวชหญิงเป็นภิกษุณีเป็นสิกขามานา และเป็นสามเณรี  ตั้งแต่บัดนี้

                                                ประกาศนับตั้งแต่วันที่  18  มิถุนายน  .. 2471

                                                                กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์

            ในปัจจุบันประกาศฉบับนี้ยังไม่ได้ถูกยกเลิกและยังมีผลบังคับใช้ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.. 2505 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) .. 2535 มาตรา 4  ระบุให้ประกาศและคำสั่งของสมเด็จพระสังฆราชมีผลบังคับใช้ต่อไป    

                 แม้ว่ารัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2540 จะได้ประกาศใช้ครบ 5 ปีแล้ว ภาครัฐก็ยังเพิกเฉย ละเลยไม่ดำเนินการแก้ไขให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ทั้งยังขัดต่ออนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ ที่ประเทศไทยได้ร่วมลงนามเป็นภาคีอนุสัญญาเมื่อปี พ.. 2528 รวม 165 ประเทศ

                 สาระสำคัญของอนุสัญญานี้ เพื่อให้รัฐภาคีหรือประเทศสมาชิกใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายและมาตรการการดำเนินงานด้านนิติบัญญัติ ตุลาการ การบริหาร หรือมาตรการอื่นๆ เกี่ยวกับการขจัดการเลือกปฏิบัติทั้งมวลต่อสตรี และให้หลักประกันว่าสตรีจะต้องได้สิทธิประโยชน์และโอกาสต่าง ๆ จากรัฐบนพื้นฐานของความเสมอภาคกับบุรุษ

                 เนื้อหาหลักของอนุสัญญานี้ ให้คำจำกัดความไว้ในข้อ 1 “การเลือกปฏิบัติต่อสตรี” หมายถึง การแบ่งแยก การกีดกัน หรือการจำกัดใด ๆ  เพราะเหตุแห่งเพศซึ่งมีผลหรือความมุ่งประสงค์ที่จะทำลายหรือทำให้เสื่อมเสียการยอมรับได้อุปโลกน์    หรือใช้สิทธิสตรีโดยไม่เลือกสถานภาพด้านการสมรสบนพื้นฐานของความเสมอภาคของบุรุษและสตรีของสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพขั้นพื้นฐานในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม พลเมือง หรือด้านอื่น ๆ

               

2.2  การลงโทษอาญาฐานแต่งกายเลียนแบบสงฆ์

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 208 บัญญัติว่า “ผู้ใดแต่งกายหรือใช้เครื่องหมายที่แสดงว่าเป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวชในศาสนาโดยมิชอบ เพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนเป็นบุคคลเช่นนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินสองพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ”

          กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นแล้ว เมื่อสามเณรีไทยที่ได้รับการบวชมาจากต่างประเทศจะเดินทางไปต่างประเทศ แต่ไม่ได้รับการยอมรับในสถานภาพของนักบวชสตรีและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ปฏิบัติอย่างไม่         เหมาะสม  กล่าวคือ

- กรมการกงสุล กระทรวงต่างประเทศ ออกหนังสือเดินทางให้โดยยังใช้คำนำหน้าชื่อว่า “นาง”

          - เจ้าพนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่ได้รับการอำนวยความสะดวก

แท้ที่จริงแล้วการที่เจ้าหน้าที่จะอ้างว่าการแสดงตนเป็นสามเณรีถือว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา และไม่มีสถานภาพเป็นภิกษุณีน่าจะไม่ถูกต้อง เนื่องจากสามเณรีได้รับการบวชตามธรรมวินัยโดยมีปวัตตินี (อุปัชฌาย์) เป็นชาวศรีลังกา และมีเอกสารรับรองการบวชด้วยอย่างถูกต้อง จึงเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลของผู้บวชอันเป็นการขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายอาญา อีกทั้งยังเป็นการริดรอนสิทธิมนุษยชนตามปฎิญญาสากลขององค์การสหประชาชาติด้วย 

นอกจากนี้ยังมีประเด็นร้องเรียน กรณีภิกษุณีต่างประเทศ เมื่อต้องการขอต่ออายุวีซ่า จะต้องเปลี่ยนเป็นชุดขาวเหมือนแม่ชี ต่อประเด็นนี้  นายวิษณุ  เครืองาม  รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้กำกับดูแลสำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติได้ตอบกระทู้ถามของ นางระเบียบรัตน์  พงษ์พานิช สมาชิกวุฒิสภา  ว่าสตรีที่บวชเป็นภิกษุณีในนิกายอื่นก็ได้รับการยอมรับจากรัฐว่าอยู่ในฐานะภิกษุณีเช่นกัน  ส่วนคณะสงฆ์เถรวาทจะรับรองสถานภาพของภิกษุณีองค์นั้นว่าเป็นนิกายเดียวกันหรือไม่ เป็นอีกประเด็นหนึ่ง[1]  โดยนัยดังกล่าวนี้          เจ้าหน้าที่ตำรวจจะทำการจับกุมสตรีที่บวชโดยถูกต้องไม่ได้  ดังนั้น  หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องควรที่จะให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่ให้ชัดเจนเพื่อให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างถูกต้องและเป็นธรรม

          สรุป จากการศึกษาของคณะอนุกรรมาธิการด้านสตรี เรื่อง “การบวชภิกษุณีสงฆ์ในประเทศไทย” ทั้งการค้นคว้าทางเอกสารประกอบกับความเห็นของผู้รู้ทั้งที่เป็นพระสงฆ์ และฆราวาส  สรุปได้ว่าการบวชภิกษุณีไม่ได้ผิดพระธรรมวินัย  ดังนั้น ข้อขัดข้องหรือเหตุผลที่คัดค้านการบวชภิกษุณีสงฆ์ดังกล่าว เกิดจากระเบียบ กฎหมาย ดังเช่น ประกาศของสมเด็จพระสังฆราช และการยึดถือตาม ๆ กันมาโดยไม่ได้มีการตรวจสอบเพื่อให้เกิดข้อยุติที่จะเอื้อต่อการฟื้นฟูการบวชภิกษุณี ที่สำคัญยังดูเหมือนว่าประกาศฉบับนี้ไม่ได้เป็นเพียงกฎหมายหรือข้อบังคับที่กำหนดขึ้นมาเพื่อกีดกันไม่ให้ผู้หญิงมีสิทธิในการบวชเท่านั้น แต่ข้อความที่ถูกเขียนขึ้นในประกาศฉบับนี้กลายเป็น “จารีต” และได้ปลูกฝังเป็น “ค่านิยม” ส่งเสริมให้เกิด           “อคติในเรื่องการบวชของผู้หญิง”

       [9] D. Amarasiri Weeraratne , “Ven. Mapalagama  Vipulasara  and  the Bhikkuni Order” YASODHARA ,No. 6 , Jan – Mar  2001

         [10] พระภิกษุชาวศรีลังกา ผู้ดำรงตำแหน่งประธานองค์กรพุทธศาสนาโลก ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับการบวชภิกษุณีและเป็นผู้ที่ชาวศรีลังกาให้ความนับถือได้สนับสนุนการบวชภิกษุณีหลังจากที่ได้ตรวจสอบพระวินัยแล้วเห็นว่าหากมหาเถระ 10 รูปขึ้นไปเห็นพ้องกันว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องก็อุปสมบทภิกษุณีได้ตามพุทธานุญาตที่ว่า “ตถาคตอนุญาตให้ภิกษุอุปสมบทภิกษุณีได้”

        ภิกษุณี, เอกสารทางวิชาการลำดับที่ 7 กระทู้ถามโดย ส.ว.ระเบียบรัตน์  พงษ์พานิช, คณะกรรมาธิการกิจการสตรี เยาวชนและผู้สูงอายุ     วุฒิสภา, หน้า 22


 


Back



สถานที่ติดต่อ
  วัตรทรงธรรมกัลยาณี
เลขที่  195  ถนนเพชรเกษม  ต. พระประโทน
อ. เมืองฯ  จ. นครปฐม   73000
โทร. (034) 258-270  โทรสาร (034) 284-315
ติชม  [email protected]