"อลิสัน" เธอเป็น Buddhist by choice
...
.....................................................................................................................................
 
.............. ผู้เขียนเคยได้ยินหลวงแม่เคยเทศน์ถึงความแตกต่างระหว่างการเป็นชาวพุทธ ตามทะเบียนบ้าน กับการ เป็นชาวพุทธโดยการเลือก (Buddhist by chance or Buddhist by choice) วันนี้เองจึงเป็นโอกาสดีที่ผู้เขียนได้พบกับ "อลิสัน มูลล์" ผู้ที่เป็น Buddhist by choice ได้แลกเปลี่ยนและได้เรียนรู้จากเธอเป็นอย่างดี
อลิสันเป็นนักศึกษาที่เพิ่งจบการศึกษา ในสาขาวิชาศาสนาและปรัชญา โดยมีวิชาเอก คือ พระพุทธศาสนา จากมหาวิทยาลัยมารี่แลนด์ ประเทศสหรัฐอเมริกา และ ที่ได้รับทุนมาทำวิจัยด้านพระพุทธศาสนาในประเทศไทย เธอมาพักอยู่ที่วัตรฯ กับพวกเรา 10 วัน หลวงแม่มอบหมายให้ผู้เขียนดูแลเธอ ในช่วงเวลาที่หลวงแม่เดินทางไปศรีลังกาแล้ว
อลิสันเล่าว่า เธอหันมานับถือศาสนาพุทธมาเป็นเวลา 1 ปี และรับศีล 5 จากลามะที่อยู่ในประเทศอินเดีย และถือมังสวิรัติมาตั้งแต่บัดนั้นด้วย ผู้เขียนถามว่าอะไรเป็นแรงบันดาลใจให้เธอหันมานับถือศาสนาพุทธ แบบธิเบต
เธอตอบว่า "ศาสนาพุทธได้ให้คำตอบกับสิ่งที่เธอต้องการในชีวิตและช่วยเติมเต็มความสงสัยที่เธอมี ทำให้เธอได้สัมผัสถึงความเมตตากรุณา และอยากที่จะเป็นคนที่ดีขึ้น นอกจากนี้ศาสนาพุทธยังช่วยทำให้ชีวิตของเธอสมบูรณ์ "
เดิมทีเดียวครอบครัวของเธอเป็นคริสเตียน แต่ก็ไม่ได้เข้าโบสถ์มากนัก ทั้งนี้ทางบ้านของเธอ ก็มิได้ขัดขวางในการเปลี่ยนศาสนา เพียงแต่คุณยายของเธอแทบไม่รู้จักด้วยซ้ำว่า ศาสนาพุทธคืออะไร แถมยังรู้สึกอีกด้วยว่าหลานสาวของตนนั้นกำลังนับถือศาสนาอะไรประหลาดๆ
ก่อนหน้าที่จะเดินทางมาประเทศไทย เธอเองก็แทบจะไม่รู้จักประเทศไทยว่าอยู่ตรงไหนของโลกเช่นเดียวกัน รู้แต่ว่าในกลุ่มที่ทำวิจัยนั้นต้องมาที่นี่ สืบเนื่องเพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่มีคนนับถือศาสนาพุทธอยู่เป็นจำนวนมาก
เมื่อไม่นานมานี้เธอเล่าว่าเคยไปนมัสการท่านทไลลามะที่ธิเบตด้วย กลุ่มของเธอได้พบองค์ทไลลามะและพบว่าทรงมีพระเมตตาและทรงฉลาดหลักแหลมมาก เราได้แลกเปลี่ยนกัน เกี่ยวกับเรื่องราวขององค์ทไลลามะ ซึ่งถึงแม้ผู้เขียนจะยังไม่มีความรู้เรื่องศาสนาพุทธแบบธิเบต อย่างลึกซึ้ง เพราะเพิ่งหยิบหนังสือที่หลวงแม่แปล ชื่อเรื่องว่า ทไลลามะ ลูกชายของฉัน โดย ดิกกี้ เซริง ที่หลวงแม่แปลไว้นานแล้วขึ้นมา อ่านเป็นเล่มแรกๆ พลันก็รู้สึกว่าดีใจและตื่นเต้นราวกับว่าได้พบท่านทไลลามะไปกับเขาด้วยตามเรื่องราวที่ อลิสันได้แบ่งปัน
พร้อมกับหยอกเธอว่าผู้เขียนไม่ต้องเดินทางไปที่ไหนเลย เพียงอยู่ที่วัตรฯ แล้วรอพบพวกคุณอยู่ที่นี่เท่านั้น ก็รู้สึกราวกับว่าได้เดินทางไปกับพวกคุณด้วยแล้ว อลิสันหัวเราะชอบใจพร้อมกับบอกว่าวิธีนี้เวิร์คมากๆ
ผู้เขียนถามเธอว่า จำนวนผู้เรียนวิชาศาสนาและปรัชญามีมากไหมในอเมริกา เธอบอกว่ามีไม่มาก เช่นเดียวกันกับในประเทศไทย ผู้เขียนแสดงความเห็น แต่อย่างน้อยที่สุด อลิสัน คุณ ก็ได้เรียนในวิชาที่คุณชอบ คุณสนใจและอยากที่จะเรียนแล้ว คุณโชคดีมากที่พบว่าตัวเองชอบและสนใจที่จะศึกษาเรื่องอะไรจริงๆ ผู้เขียนกล่าว
นอกจากนี้ อลิสัน ยังมีเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร ผิดกับแหม่มชาวอเมริกันทั่วๆ ไป เธอพนมมือไหว้พระได้สวยงามมาก ทั้งยังมีกริยานุ่มนวล อ่อนโยน รู้จักกาลเทศะ จนหลวงแม่ และหลวงพี่ธัมมธีรา ยังเอ่ยปากชมว่า หาได้ยากนัก ที่จะพบในเด็กสาวชาวต่างประเทศทั่วๆ ไป
ผู้เขียนยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า ชาวพุทธใหม่เหล่านี้ หากเลือกที่จะนับถือศาสนาใด หรือเปลี่ยนศาสนาใดอย่างเป็นจริงเป็นจัง จิตของเขาจะน้อมลง และแสดงออกด้วยกิริยาอย่างนี้เสมอ นับเป็นสิ่งที่แสดงออกทางกายที่เราจะสังเกตได้อย่างชัดเจนประการหนึ่ง โดยที่ชาวพุทธตามทะเบียนบ้านอีกหลายๆ คน รวมทั้งตัวผู้เขียนเองก็ยังอาย เพราะการศึกษาและเข้าใจศาสนาพุทธที่แท้นั้นจะทำให้บุคคลเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น นั่นต้องเรียกว่าการปฏิบัติที่ต้องทำจริงต้องฝึกจริงเท่านั้น หลวงแม่พูดเสมอว่า ปฏิ คือสิ่งที่ต้องทำจากภายใน แล้วสิ่งที่งดงามเหล่านี้จะฉาดฉายออกมาภายนอกอย่างนี้นี่เอง
หลวงแม่ยังกล่าวอีกว่าชาวพุทธโดยทะเบียนบ้านและชาวพุทธโดยการเลือกนั้นควรจะได้มีโอกาสพบกัน และแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน วันนี้เราได้พบกันแล้วค่ะหลวงแม่
นอกจากนี้หลวงแม่ยังได้มอบหมายให้ผู้เขียนแปลบทสวดมนต์ให้เธอฟังว่ามีความหมายว่าอย่างไร เพื่อที่อลิสันจะได้ทราบว่าเรากำลังสวดมนต์บูชาสิ่งใดอยู่ บทสวดกล่าวถึงสิ่งใดมีความหมายอย่างไร และตามได้ทัน ผู้เขียนทำการบ้านอุตลุดเพื่อหาสมุดจดที่เคยบันทึกไว้ ตอนที่ฟังบรรยายจากหลวงแม่ เพราะมีศัพท์ เฉพาะทางศาสนาบางคำที่จะต้องอธิบายเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบทปฏิจจสมุปบาท ที่หลวงแม่เคยอธิบายไว้เป็นภาษาอังกฤษ ผู้เขียนจึงได้งัดวิชาความรู้ที่หลวงแม่ได้เคยถ่ายทอดให้ฟัง มาใช้ในโอกาสนี้
หลวงแม่กล่าวว่า บางครั้งคำอธิบายในภาษาอังกฤษช่วยให้เห็นภาพชัดเจนและมีความเข้าใจกว่าการเรียนการสอนในพุทธศาสนาด้วยภาษาบาลีแต่เพียงอย่างเดียว
ผู้เขียนถามอลิสันต่อว่าเธอจะทำอะไรหลังจากนี้ เธอตอบว่า ได้วางแผนที่จะหางานทำเป็นการชั่วคราวก่อนและจะศึกษาต่อในระดับปริญญาโท และปริญญาเอก ในสาขาวิชา พระพุทธศาสนาต่อไป
สำหรับผู้เขียนมีความรู้สึก ดีใจจริงๆ ที่ๆ ได้ยินเช่นนั้นเพราะพระพุทธศาสนาจะได้ขยายออกไปในวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ และหวังว่าจะได้พบดร. อลิสันในเร็วๆ นี้ ซึ่งเธอคาดว่าอาจจะต้องใช้เวลาถึง 5 ปีด้วยกันกว่าจะสำเร็จการศึกษา




 
 
 

วัตรทรงธรรมกัลยาณี เลขที่ 195 ถนนเพชรเกษม ต. พระประโทน  อ.เมืองฯ  จ.นครปฐม  73000
โทร.(034)258-270 โทรสาร (034) 284-315 E - mail : [email protected]
Copyright (c) 2002-2003  Thaibhikkhunis All right reserved.