การสืบสายภิกษุณีจากศรีลังกาไปประเทศจีน
ซึ่งเมื่อย้อนกลับมาดูที่ประเทศศรีลังกาเอง
ในศรีลังกานั้นมีปัญหาถูกรุกรานจากกษัตริย์โจละ
ซึ่งเป็นอินเดียใต้
นับถือศาสนาฮินดู ใน ค.ศ. 1117
ประมาณพ.ศ. 1500 กว่า กษัตริย์โจละของฮินดูเข้ามายึดเกาะศรีลังกาทั้งเกาะ
แล้วก็นำเอาศาสนาฮินดูเจ้ามาเผยแพร่
คนทั้งเกาะก็ถูกบังคับให้นับถือศาสนาฮินดูไป อีก 50 ปีต่อมา คือ ค.ศ. 1167 ก็มีการกอบกู้เอกราชขึ้น กษัตริย์ศรีลังกาสามารถรวบรวมผู้คนขับไล่กษัตริย์โจละของอินเดียใต้ออกไปได้ แล้วก็ขึ้นครองราชย์ รับนับถือศาสนาพุทธ แต่เมื่อตรวจสอบดูทั่วเกาะศรีลังกาแล้ว พบว่าภิกษุ ภิกษุณีสงฆ์ สูญหายไปหมด ทั้งเกาะเหลือแต่สามเณร จึงปรารภว่าจะสืบศาสนา เราจะสังเกตุเห็นว่าการจะสืบศาสนานั้นก็คือขอยืมจากประเทศเพื่อนบ้าน ลักษณะอย่างนี้ก็เป็นมาตั้งแต่ในประเทศไทยเอง เมื่อพระเจ้ารามคำแหงก่อตั้ง พยายามที่จะก่อตั้งพุทธศาสนาในสมัยสุโขทัย ก็ต้องไปขอหยิบขอยืมรับเอาพระพุทธศาสนาเถรวาทศรีลังกามาประดิษฐาน จึงเรียกว่า ลังกาวงศ์ ฝ่ายศรีลังกาเมื่อหมดสาย ไม่มีภิกษุ ภิกษุณีสงฆ์ สืบสาย พระเจ้าแผ่นดินท่านก็ได้ข้อมูล จากพ่อค้าที่ทำการติดต่อค้าขายระหว่างประเทศใกล้เคียง จากพ่อค้าชาวฮอลันดา ก็คือพวกดัทช์ ซึ่งได้กราบทูลว่าในประเทศสยามนั้นพระพุทธศาสนามั่นคงนัก มีพระภิกษุสงฆ์เป็นจำนวนมาก เหลืองอร่ามทีเดียว น่าที่จะแต่งทูตเพื่อไปขอบวช สืบสายจากประเทศสยาม ในขณะเดียวกัน ก็มีพระภิกษุศรีลังกาที่หนีการเข้ามายึดครองของกษัตริย์โจละ หนีเข้าไปอยู่ในพม่า ก็มีการสืบมา 2 สาย ก็มีการสืบสายหนึ่งมาจากพม่า และอีกสายหนึ่งมาจากประเทศไทย สายที่ไปจากประเทศไทยนั้นอยู่ในสมัยพระเจ้าบรมโกศ ซึ่งเป็นสมัยอยุธยา หัวหน้าคณะพระภิกษุที่สมเด็จพระเจ้าบรมโกศที่ส่งให้ไปสืบพระศาสนานั้นชื่อว่าพระอุบาลี ไปพร้อมกับคณะสงฆ์ไทยจำนวนหนึ่ง เพราะฉะนั้นนิกายที่ไปจากประเทศไทย จึงเรียกนิกายสยามวงศ์ เหมือนกับที่ประเทศไทยเรามีลังกาวงศ์ เพราะเราไปขอยืมมาจากลังกา ประเทศลังกาเองก็มีนิกายสยามวงศ์ที่รับไปจากประเทศไทย แต่ด้วยประเทศไทยไม่มีพระภิกษุณีสงฆ์ เขาก็สืบได้แต่เฉพาะภิกษุสงฆ์ นับตั้งแต่กษัตริย์โจละเข้ามาตีศรีลังกาตั้งแต่ ค.ศ. 1117 ไม่มีภิกษุณีสงฆ์เลย ตราบเท่าจนกระทั่งถึงประมาณ 100 ปีที่ผ่านมา ใน 100 ปีนี้เองศรีลังกาก็เกิดความตื่นตัวในการที่ผู้หญิงจะสืบศาสนาเป็นพระภิกษุณีอีก คนแรกที่คิดถึงเรื่องการสืบพระศาสนา ชื่อ แคทเธอรีน เดอ แอลวิส มีพ่อเป็นศรีลังกา เป็นลูกของมิชชั่นเนอรี่ที่เกิดและมาโตในศรีลังกา มีคำปรารภอยากจะบวชเป็นภิกษุณี แต่ปรากฎว่าในศรีลังกาเองไม่มี แล้วคณะสงฆ์ก็ไม่พิจารณาในเรื่องการบวชผู้หญิง จึงได้ไปศึกษาที่ประเทศพม่า แล้วก็สืบสายทศศีลมาตา ที่รับศีล 10 แล้วก็มาเริ่มต้นการบวชผู้หญิง แต่มาเริ่มต้นในลักษณะของทศศีลมาตาที่ศรีลังกา ศรีลังกาจึงมีทศศีลมาตาที่นุ่งครองสีเหลืองเหมือนกับพระนับตั้งแต่ประมาณ 100 ปีที่ผ่าน ทีนี้ใกล้เข้ามาอีก ศรีลังกาเริ่มมีการออกไปบวชภิกษุณีจริงๆ ในปี ค.ศ. 1988 โดยมีทศศีลมาตา 10 รูป โดยการนำของผู้หญิงคนหนึ่งชื่อราชปักเษ ซึ่งสนับสนุนให้มีการบวชภิกษุณีสงฆ์ แต่ตัวราชปักเษเองไม่ใช่นักบวช แต่เป็นอุบาสิกา พูดภาษาอังกฤษได้ ก็นำเอาทศศีลมาตาจำนวน 11 รูปบินไปลอสแองเจิลลีส ประเทศอเมริกา ที่นั้นมีการจัดการบวชนานาชาติขึ้นเป็นครั้งแรกที่วัดซีไหล อยู่ที่ฮาเซียนด้าไฮท์ในลอสแองเจลลีส ในการบวชครั้งนั้นมีการบวชผู้หญิงจากนิกายต่างๆ ถึง 200 กว่าคน ได้รับการบวชเป็นภิกษุณีสงฆ์ โดยการบวชจากสงฆ์ 2 ฝ่าย วัดซีไหลแปลว่าตะวันออกพบตะวันตก เจ้าอาวาสเป็นพระภิกษุณี สร้างวัดนี้ขึ้น ซึ่งเป็นวัดที่ใหญ่โตมาก ต้องใช้เงินทุนถึง 25 ล้าน เป็นแขนงของวัดโฝกวางชาน ที่อยู่ในไต้หวัน ซึ่งมีหลวงพ่อใหญ่คือหลวงพ่อซิงหยุน นั่นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ใน 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งเริ่มมีการบวชจริงจังขึ้น ก่อนหน้านั้นก็มีการบวชประปรายที่ฮ่องกง เกาหลี แต่การบวชระดับนานาชาติที่เรียกว่า international ordination มีเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1988 และหลังจากนั้นที่ซีไหลก็มีการจัดบวชต่อๆ กันมา แต่เว้นประมาณ ทุก 2 ปี นั่นเป็นภิกษุณีกลุ่มแรกของศรีลังกา อาตมาได้ติดตามไปดูว่ามีปัญหาอย่างไรหรือเปล่า ปัญหาที่ประสบสำหรับภิกษุณีกลุ่มแรกนั้น แม้ว่าจะไปบวชกัน 11 คน แต่บวชจริงๆ 5 คน แต่พอไปถึงลอสแองเจิลลีสแล้วก็เกิดความไม่มั่นใจว่า ถ้ากลับมาที่ศรีลังกาแล้วพระสงฆ์ของศรีลังกาจะไม่ยอมรับ ภิกษุณีกลุ่มนั้นก็มีการศึกษาไม่มากนัก ไม่รู้ภาษาอังกฤษ ทำให้มีอุปสรรคอยู่พอสมควร ครั้นกลับมาแล้ว บรรดาภิกษุณีเหล่านี้ก่อนจะไปบวชก็อยู่อารามแยกกัน เมื่อกลับมาแล้วก็อยู่อารามเดิมของตนเอง นั่นก็คืออยู่อารามแยกกัน ไม่ได้เป็นคณะสงฆ์ ถ้าหากว่าเราศึกษาประวัติความเป็นมาของภิกษุณีในศรีลังกา เราก็จะเรียนรู้ว่าถ้าหากว่า เราไม่เป็นคณะสงฆ์ ต่างคนก็ต่างไปอยู่อารามของตัวเอง เราก็ไม่สามารถทำอะไรได้ ข้อสำคัญก็คือการไม่รู้ภาษาอังกฤษนี้เป็นอุปสรรคอย่างยิ่ง เพราะการบวชนั้นเป็นการบวช international ordination การบวชสากล ภาษาที่ใช้เป็นภาษาอังกฤษ ในขั้นตอนการบวชภิกษุณี 5 รูปจากศรีลังกานั้นก็ต้องอาศัยราชปักเษเป็นคนแปลให้ ข้อสำคัญคือพระวินัยซึ่งเป็นพระวินัยของนิกายธรรมคุปต์นั้น บรรดาภิกษุณีเหล่านี้ก็ถือกลับมา แต่เป็นภาษาอังกฤษ แต่ก็อ่านไม่ได้ อ่านไม่ออก แต่เมื่ออาตมาตามไปในปี 1990 ได้พบกับภิกษุณีรูปหนึ่ง ก็ขอให้อุบาสิกาคนหนึ่งช่วยแปลพระวินัยของจีนซึ่งเป็นภาคภาษาอังกฤษนั้นออกมาเป็นภาษาสิงหล ออกมาเพื่อให้ภิกษุณีศรีลังกาใช้กันได้ในปี ค.ศ. 1996 มีการบวชอีกครั้งหนึ่ง แต่เป็นการบวชที่จัดขึ้นโดยคณะภิกษุสงฆ์เกาหลี เป็นประธาน เป็นสปอนเซอร์ จัดการบวชให้ที่เมืองสารนาถ คราวนี้มีผู้หญิงศรีลังกาที่เป็นทศศรีมาตาจำนวน 10 คนที่สำคัญหัวหน้าคนที่บวชชื่อกุสุมา ดีเวนดร้า คนนี้เป็นคนที่มีการศึกษา ตอนที่ไปบวชนั้นจบการศึกษาระดับปริญญาโท แต่เมื่อบวชแล้วก็หลับไปทำปริญญาเอกต่อ เนื่องจากเป็นคนที่รู้ภาษาอังกฤษ และเป็นคนที่ยอมรับในสังคมวงกว้าง การบวชครั้งนั้นก็ทำให้ชาวพุทธในศรีลังกามีการตื่นตัวขึ้นมากในเรื่องการบวชภิกษุณีสงฆ์ ย้อนไปเมื่อปี 1993 ที่ศากยธิดา ซึ่งขณะนั้นอาตมาเป็นประธานอยู่จัดการประชุมที่ศรีลังกา เมื่อตอนที่ขออนุญาตจัดการประชุม ข้าราชการคนหนึ่งก็ระบุชัดเจนว่า ที่เราจะประชุมกัน ห้ามไม่ให้พูดถึงการรื้อฟื้นภิกษุณีสงฆ์ เราก็รับปาก ว่าเราจะไม่มีการพูดถึงการบวชภิกษุณีสงฆ์ ไม่มีอยู่ใน Agenda ของการประชุม แต่ในความเป็นจริง เมื่อผู้ร่วมประชุมไปถึง 200 กว่าคนนั้น มากกว่าครึ่งเป็นภิกษุณีมาจากประเทศต่างๆ การประชุมจัดที่หอประชุมใหญ่ของชาติ international auditorium และผู้ที่มาเปิดงานประชุมเป็นประธานาธิบดีพร้อมทั้งรัฐมนตรี ในสายงานที่เกี่ยวข้องคือรัฐมนตรีศาสนาและวัฒนธรรม รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ที่ได้มาร่วมในการประชุม มีทศศีลมาตาถึง 300 รูป มีพระภิกษุสงฆ์จำนวนหนึ่ง การประชุมศากยธิดาในปี 1993 เรียกว่าเป็นการปลุกให้ชาวพุทธศรีลังกามีความตื่นตัว รับรู้ถึงการมีอยู่ เป็นอยู่ของภิกษุณีสงฆ์ในต่างประเทศ ในปี 1996 ที่อาตมาเล่าไปแล้วว่าเริ่มมีการบวชเป็นครั้งแรกของคณะสงฆ์จากเกาหลี และในปี 1998 ได้มีการจัดบวชระดับนานาชาติอีกครั้งหนึ่ง จัดโดยโฝกวางชาน ที่พุทธยา มีผู้เข้าร่วมหลายร้อนคน ขณะนี้กำลังเล่าเรื่องศรีลังกา ทศศีลมาตาของศรีลังกาที่เข้าไปร่วมในการบวชนั้น 30 คน มีการบวชภิกษุณีสงฆ์ และมีคณะสงฆ์ไทยไปร่วม 4 รูป หนึ่งในนั้นก็คือท่านเจ้าคุณพระศรีปริยัติโมลี หลวงพ่อสิงห์ทน หลวงพี่สมนึก นาโท ปัจจุบันเป็นเจ้าอาวาสอยู่วัดปลักไม้ลาย อำเภอกำแพงแสน ท่านได้เลื่อนเป็นพระครูแล้ว ชื่อตัวว่าสมนึก นาโท เดิมเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยเกษตร แล้ววัดท่านจะเน้นในเรื่องของสมุนไพร เน้นเรื่องการใช้ชีวิตแบบธรรมชาติ ภิกษุณีสงฆ์ที่บวชจากพุทธยา ก็กลับไปสู่บ้านเมืองของตนเอง การบวชครั้งนั้นก็เป็นเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1998 พระสงฆ์ศรีลังกาเริ่มตระหนักว่าผู้หญิงออกไปบวชกันจริงๆ แล้ว และถ้าหากว่าไปบวชโดยสายต่างประเทศ พระสงฆ์ศรีลังกาก็จะไม่สามารถควบคุมได้ ในท้ายที่สุดหลวงพ่อสุมังคโล ที่เป็นพระภิกษุณีในนิกายสยามวงศ์ ขอเล่าเรื่องนิกายสยามวงศ์สักนิดหนึ่ง นิกายสยามวงศ์ในศรีลังกานั้นเป็นนิกายที่เก่าที่สุด แต่เนื่องจากใน ค.ศ. 1117 แต่เป็นช่วงที่รับเอาศาสนาฮินดูเข้ามา เพราะการปกครองของกษัตริย์อินเดียช่วง 50 ปีนั้น ทำให้สยามวงศ์ ถือวรรณะ ซึ่งจะบวชเฉพาะวรรณพราหมณ์ ทั้งที่เดิมพุทธศาสนาได้ยกเลิกระบบวรรณะไปแล้ว หลวงพ่อสุมังคโล เป็นพระเถระรูปแรกที่อนุญาตให้มีการบวชพระภิกษุสงฆ์โดยไม่จำกัดวรรณะ นั้นก็เป็นพระภิกษุในสยามวงศ์ที่มีหัวก้าวหน้า และรูปนี้เองเป็นคนที่ดำริการบวชภิกษุณีสงฆ์ขึ้น แต่ท่านก็ทำงานอย่างมีขั้นตอน ท่านเป็นพระเถระผู้ใหญ่ และเป็นเจ้าอาวาสอยู่วัด dummbulla ซึ่งเป็นวัดถ้ำที่เป็นวัดทางประวัติศาสตร์ ถือว่าเป็นวัดใหญ่และเป็นวัดสำคัญของศรีลังกา เมื่อท่านดำริให้มีการบวชภิกษุณีสงฆ์นั้น ท่านวางขั้นตอนค่อนข้างจะรัดกุม มีการส่งจดหมาย application form ส่งไปทั่วประเทศ มีทศศีลมาตา ซึ่งแสดงความจำนงค์สมัครบวชเป็นร้อยคน แสดงว่าทศศีลมาตาในศรีลังกามีความตื่นตัวในเรื่องการบวชภิกษุณีอยู่มาก และทั้งได้เห็นในปี 1993 ได้เห็นด้วยตาตนเองว่ามีภิกษุณีสงฆ์ในต่างประเทศจำนวนมาก ในปี 1996 ก็เริ่มมีการบวชแล้ว ในปี 1998 ก็เริ่มมีการบวชอีก ฉะนั้นในปี 1998 ตอนปลายปีที่จัดให้มีการบวชใหญ่ในศรีลังกา จึงได้รับการตอบรับจากทศศรีมาตาจำนวนหลายร้อยคน แต่หลวงพ่อท่านคัดเอาเพียง 30 คน ซึ่ง 30 คนที่คัดมานี้มีการอบรมอยู่ถึง 3 เดือน เชิญอาจารย์เข้ามาสอน เพื่อให้ทศศีลมาตาเหล่านี้มีความเข้าใจในพระธรรมวินัยอย่างถูกต้อง แล้วจึงจัดการบวชให้ในปลายปี ค.ศ. 1998 ที่วัด dummbulla การบวชภิกษุณีสงฆ์ในครั้งนั้นปรากฏมีพระภิกษุสงฆ์มาร่วมกว่า 100 รูป ทำให้เห็นการยอมรับ คณะภิกษุสงฆ์เปิดใจยอมรับคณะภิกษุณีมากขึ้น ในศรีลังกานั้นมีอยู่ 3 นิกาย นิกายสยามวงศ์เป็นนิกายที่เก่าที่สุด แต่เพราะนิกายสยามวงศ์ถือเรื่องวรรณะ ทำให้พระภิกษุส่วนหนึ่งไม่พอใจ จึงทำให้มีการไปสืบสายจากพม่า เรียกว่า นิกายอมระปุระ เป็นนิกายที่ 2 ไม่ถือวรรณะ และนิกายที่ 3 คือ รามัญะ ก็สืบไปจากพม่าเหมือนกัน พระภิกษุในนิกายสยามวงศ์ อมรปุระ และรามัญะ สังเกตดูได้จากการห่มครอง ถ้าห่มครองอย่างอาตมาก็จะเป็นนิกายสยามวงศ์ แต่ถ้าห่มครองชนิดคล้ายๆ ม้วนลูกบวบ จะเป็นอมรปุระ และรามัญะ ซึ่งเห็นข้อแตกต่างได้ในภาพกว้าง พระภิกษุสงฆ์ทั้ง 3 นิกายไม่ขึ้นต่อกัน ไม่มีพระสังฆราชเหมือนอย่างในประเทศไทย ไม่มีลักษณะปกครองเป็นลำดับชั้น แต่ละนิกายก็ขึ้นอยู่กับตนเอง สมบูรณ์อยุ่ในตัวเอง พระภิกษุในแต่ละนิกายก็จะมีบางรูปสนับสนุน บางรูปก็ยังไม่สนับสนุน สำหรับพระภิกษุที่สนับสนุนท่านก็จัดการบวชให้ อย่างนิกายอมรปุระ หลวงพ่อธัมมโลก ท่านก็จัดการบวชให้ทั้งสามเณรีและภิกษุณี หลวงพ่อสุมังคโล พระภิกษุเหล่านี้ล้วนเป็นมหาเถระทั้งสิ้น มหาเถระหมายถึงมีอายุการบวชมากกว่า 20 ปี แล้วก็เป็นสังฆนายก อนุสังฆนายก เล่าตกไป ภิกษุณีที่ไปบวชที่ลอสแองเจิลลีสมีการพิจารณาตนเองว่า บวชแล้วกลับมาไม่ได้อยู่กันเป็นคณะสงฆ์ แล้วก็ไม่เข้าใจในพระปาฎิโมกข็ ไม่มีการรักษาพิธีกรรมของพระภิกษุณี ก็กลับเข้ามาบวชใหม่ในปี 1998 อันนี้ก็เป็นเหตุการณ์ที่แสดงว่าลดวางทิฎฐิ ไม่ได้ยึดว่าตัวเองบวชแล้วก็พอแล้ว แต่ได้มีการพิจารณาตัวเอง ในเมื่อบวชมาแล้ว ไม่มีปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย ก็กลับมาบวชอีก แม้กระทั่งพระภิกษุณีที่บวชในปี 1996 คือบวชจากสายของเกาหลี ก็มีอยู่รูปหนึ่งก็กลับมาบวชอีกในปี 1998 เพื่อให้แน่ใจได้บวชอย่างถูกต้องโดยสงฆ์ 2 ฝ่าย อันนี้ก็เป็นเรื่องการสืบสายภิกษุณีสงฆ์ในศรีลังกา ที่นี้จะพูดถึงเรื่องข้อติดขัดที่ว่าศรีลังกาไปบวชมาจากจีน ก็จีนเป็นมหายาน ต้องไม่ลืมว่าเรากำลังพูดถึงธรรมวินัย ในสายการบวชนั้นเป็นการสืบสายทางพระวินัย ส่วนความแตกต่างของมหายานและเถรวาทนั้นเป็นความแตกต่างในเรื่องของการตีความ การอธิบายพระธรรม สายการบวชสืบโดยพระวินัย พระวินัยของฝ่ายเถรวาท เป็นคนที่ไปบวชให้กับสายจีน แต่เมื่อสายเถรวาทหมดภิกษุณีสงฆ์ลง ฝ่ายจีนก็นำกลับมามอบให้กับศรีลังกา ก็ถือว่าเป็นการสืบสายที่ถูกต้องตามพระวินัย ที่สายเดิมของตนเองนั้นย้อนกลับมาบวชให้ วินัยที่ฝ่ายจีนถือคือธรรมคุปต์ ซึ่งธรรมคุปต์นั้นเป็นกิ่งนิกายของเถรวาท ที่แยกไปสมัยพระเจ้าอโศก ในสมัยพระเจ้าอโศกเราพูดถึง 18 นิกาย 12 นิกายแยกไปจากเถรวาท 6 นิกายแยกไปจากมหายาน วินัยที่ยังเหลืออยู่ในโลกปัจจุบัน คือนิกายเถรวาท นิกายธรรมคุปต์ และนิกายมูลศาวสติวาท ซึ่งทางฝ่ายธิเบตถืออยู่ ทั้ง 2 นิกายคือธรรมคุปต์ และมูบศาวสติวาท นั้นเป็นกิ่งนิกายของเถรวาททั้งสิ้น เพราะฉะนั้นจำนวนสิกขาบท 311 ข้อที่เถรวาทถือนั้นก็อยู่ใน 348 ข้อที่ฝ่ายธรรมคุปต์ถือ เพียงแต่ว่า ธรรมคุปต์มีการเพิ่มข้อบังคับบางประการที่เกี่ยวข้องกับภูมิประเทศ เกี่ยวเนื่องด้วยวัฒนธรรมที่ตัวเองถือ เพราะฉะนั้นสายธรรมคุปต์จึงเป็นสายเถรวาท การถือสิกขาบท 348 ข้อ ก็คือการถือสิกขาบทของเถรวาท 311 ข้อบวกเพิ่มเข้ามา การบวกเพิ่ม จึงไม่ทำให้สายการบวชของเถรวาทสูญหายไป เพียงแต่ทำให้มั่นคงขึ้น ถ้าเราพิจารณาอย่างนี้ก็จะเข้าใจประเด็นการบวชชัดเจนขึ้น แท้ที่จริงแล้วประเทศไทยที่ไม่มีการบวชภิกษุณีสงฆ์นั้น ถ้าจะบวชโดยภิกษุสงฆ์ฝ่ายเดียวก็น่าจะทำได้ ถ้าสงฆ์เห็นว่าเป็นสิ่งที่สมควรทำ เป็นสิ่งที่น่าจะทำ ถ้าหากว่าเราจับจิตวิญญาณของพระพุทธศาสนาได้ สารัตถะของพระพุทธศาสนาได้ เมื่อเราไม่มีคณะภิกษุณีสงฆ์ พุทธบริษัทก็ขาดหายไป วิธีการที่เราจะทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาก็คือทำให้สมบูรณ์ ทำให้เต็ม ตามพระประสงค์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มอบหมายไว้ในมือของพุทธบริษัท 4 ย้อนกลับไปดูที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่อนุญาตให้พระภิกษุบวชภิกษุณีสงฆ์ได้ แต่ต่อมาเมื่อมีการกำหนดให้ภิกษุณีสงฆ์ เป็นผู้สอบถามอันตรายิกธรรม แล้วให้พระภิกษุสงฆ์บวชนั้น เรียกว่า อุภโตปาฎิโมกข์ คือปาฎิโมกข์ของสงฆ์ทั้ง 2 ฝ่าย จะเห็นว่าเมื่อให้ภิกษุสงฆ์และพระภิกษุณีสงฆ์บวชผู้หญิงได้ จะสังเกตเห็นได้ว่าพระพุทธองค์ไม่ได้เพิกถอนเงื่อนไขเดิมการอนุญาตให้ภิกษุสงฆ์บวชภิกษุณี ในเมื่อประเทศที่ไม่มีภิกษุณีสงฆ์ พระภิกษุสงฆ์ก็น่าจะพิจารณาบวชภิกษุณีได้เช่นเดียวกับวิธีคิดของท่านคุณะวรมันที่บวชจิงเจียนในประเทศจีนเป็นต้น อันนี้ขึ้นอยู่กับทีท่าของเราที่เข้าใจในสารัตถะของพระพุทธศาสนามากน้อยแค่ไหน เรามีความตั้งใจที่จะสืบพระศาสนามากน้อยแค่ไหน ไม่ใช่ว่าไม่มีแล้วก็จบ ไม่มีการขนขวายหาวิธีการให้สอดคล้องกับพุทธประสงค์ ที่พากเพียรประดิษฐานพุทธบริษัท 4 ไว้สืบพระศาสนา นี่คือท่าทีที่เราควรทำควรเข้าใจ |
กลับหน้า การสืบสายภิกษุณี |
|
วัตรทรงธรรมกัลยาณี
เลขที่ 195 ถนนเพชรเกษม
ต. พระประโทน
อ. เมืองฯ จ. นครปฐม
73000 |