“วงการสงฆ์ไทยลุกฮือ ต่อต้าน การบวชภิกษุณี”
            มันเป็นเพียงหัวข่าวเล็ก ๆ หน้าหลัง ๆ ของหนังสือพิมพ์อินเดีย ที่พอจะหยุดสายตาฉันให้อ่านรายละเอียดของข่าวได้อย่างตั้งอกตั้งใจ ในเนื้อข่าวเขียนไว้ว่าดร.ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ ได้บวชสามเณรีเพื่อจะเตรียมเป็นภิกษุณีต่อไป ท่ามกลางกระแสการต่อต้านอย่างหนักหน่วงของพระสงฆ์ไทย แต่ดร.ฉัตรสุมาลย์ก็ได้ให้สัมภาษณ์ยืนยันเจตนาอันแน่วแน่ว่าเป็นการแสดงความศรัทธาในพระพุทธศาสนาของผู้หญิงที่พึงกระทำได้ตามสิทธิ์ที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาติไว้แต่ครั้งพุทธกาล
           อืมม....นี่สิ ผู้หญิง !!!!!
           ฉันตบเข่าฉาด คิดคำพูดอธิบายความรู้สึกได้แค่นั้นจริง ๆ แต่มันมากกว่านั้น ข่าวนี้ยังติดอยู่ในความทรงจำของฉันมาตลอด จนเมื่อมีโอกาสได้พบตัวจริงของ อาจารย์ดร.ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ หรือ ปัจจุบันคือ ธัมมนันทา สามเณรี (ที่ใครต่อใครเรียกท่านว่า”หลวงแม่”) ที่ซีพี ทาวเวอร์ ได้บรรยายถึงพุทธศาสนากับผู้หญิง ท่านพูดถึงพระอรหันต์เถรี สิทธิของผู้หญิงในการบวชในพระพุทธศาสนา เหล่านี้ล้วนกระตุ้นต่อมอยากรู้ของฉัน จนทำให้ฉันตัดสินใจว่า จะต้องเข้าร่วมกิจกรรมอบรมพุทธสาวิการะยะสั้น4 วันกับท่านให้ได้
           และนี่เป็นเรื่องที่ฉันประทับใจกับการอบรมพุทธสาวิกา รุ่นที่ 33

          
          
ศุกร์ที่ 9 สิงหาคม 2545
           บ่ายคล้อยแล้วที่พวกเราเริ่มออกเดินทาง ดูทุกคนตื่นเต้นเหมือนกับไปออกค่าย เพราะเป็นความรู้สึกแปลกใหม่ เรากำลังจะไปวัดพระผู้หญิง !!! เฟมินิสต์ น่าดูเลย เห็นมั้ยว่าล่ะผู้หญิงน่ะทำอะไรได้ตั้งหลายอย่าง วันนี้เป็นวันแรกที่มาถึง พวกเราเอาข้าวของเก็บเข้าห้องพักเปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นชุดขาว แล้วก็มาลงทะเบียน แล้วก็เริ่มกิจกรรมแรกที่เราได้ช่วยกันทำในการเข้าอบรมพุทธสาวิกา
           แบกปูนปิดฝาท่อ !!
           ไม่ผิดหรอก หลวงแม่ก็ทำ แล้วพวกเราจะอยู่เฉยได้ยังไง
           ทำไปหลวงแม่ก็สอนไปว่านี่ล่ะแรงงานผู้หญิง หลวงแม่หล่อฝาท่อเอง เอาเศษกระเบื้องที่เหลือจากทำอะไรต่ออะไรแล้วมาหล่อทำเป็นโต๊ะให้พวกเรานั่งที่สนามนั่นไง โอ้โฮ ! แรงงานผู้หญิงนี่ไม่ใช่ย่อยนะ ได้โต๊ะสนามที่มีดีไซน์ไม่เหมือนใครด้วย น่าภูมิใจอีกต่างหาก ตกค่ำก็สวดมนต์เย็น นั่งสมาธิ ไม่เหมือนสวดมนต์เลยเพราะว่าไพเราะมาก ทั้งทำนองและการออกเสียง ฉันยังสวดไม่คล่องหรอกแต่ยังมีเวลาอีก 3 วัน ฉันยังนึกถึงบทสวดมนต์เพราะ ๆ อยู่ในความคิด พรุ่งนี้ต้องตื่นขึ้นมาสวดมนต์เช้าตอน 5.30 น. ต้องนอนแต่หัวค่ำ ไม่งั้นคงตื่นไม่ทันแน่

       เสาร์ที่ 10 สิงหาคม 2545
           ฉันตื่นตั้งแต่ตี 3 ก็ว่าได้ เพราะจิตคอยกังวลว่าจะตื่นไม่ทันสวดมนต์เช้า นอนพลิกไปพลิกมาอยู่ครู่ใหญ่ ๆ จนเริ่มมีชาวคณะตื่นบ้างแล้ว ฉันก็เริ่มลุกบ้างและก็เตรียมตัวกับกิจวัตรประจำวัน เพื่อพร้อมสวดมนต์เช้าและนั่งสมาธิ วันนี้พวกเราทุกคนบวชและรับศีล 8 พุทธสาวิการุ่นที่ 33 เรามีกว่า 20 กว่าคน ทุกคนมีจุดประสงค์ในการเข้าอบรมต่างกันไป แต่จุดมุ่งหมายที่ร่วมกันคือ ความศรัทธาในพุทธศาสนาและตระหนักในความเป็นผู้หญิงที่มีมากกว่าสังคมกำหนด พวกเรารับศีลกันแล้ว หลังอาหารเช้าหลวงแม่ก็นัดพวกเราทั้งหมดไปที่สวนสมใจนึก ซึ่งอยู่ด้านหลังของวัด มีสระขนาดเล็กอยู่ 2 สระรอบ ๆ ปลูกต้นไม้พุ่มเล็ก ๆ และต้นไม้ยืนต้นที่กำลังรอที่จะเติบโตเป็นไม้ใหญ่ให้ร่มเงาอีกหลายต้น มีเกาะกลางคลองที่มีสะพานทอดข้ามไปนั่งพักผ่อนที่ศาลาเล็ก ๆ ได้|
           “สวนสมใจนึก” “เป็นชื่อที่หลวงย่าตั้งขึ้น” หลวงแม่เริ่มบริบทของการบรรยายให้กับพุทธสาวิกาที่ตามมาอย่างสงสัย แล้วก็เริ่มเดินไปทางซ้ายมือ ฉันเพิ่งสังเกตว่ามีป้ายที่เขียนเป็นชื่อพระอรหันต์ของพระพุทธเจ้าปักอยู่เรียงรายรอบสระ พระโมคคัลลานะ พระสารีบุตร ฯลฯ อีกหลายชื่อที่คุ้นเคยเมื่อสมัยยังเรียนวิชาพุทธศาสนาตั้งแต่ชั้นประถม แล้วชื่อข้างล่างที่รองลงมาจากชื่อพระอรหันต์ แต่ละชื่อล่ะ ใครกัน
          หลวงแม่คงจะเห็นได้ว่าแต่ละคนมีเครื่องหมายคำถามอยู่เต็มหน้า ปชาบดีโคตมี ธัมมทินนา ปฎาจารา อุบลวัณณา กีสาโคตมี ฯลฯ ชื่อเพราะเหลือเกิน แต่มากไปกว่าความไพเราะของชื่อเหล่านี้ ก็คือ เป็นนามของอรหันต์เถรี ฉันได้ยินคำนี้ครั้งแรกก็จากหลวงแม่ จำได้ว่าตอนเด็ก ๆ ตั้งแต่ประถมแล้วครูบอกเลยว่า “จำไว้เลยว่าพระภิกษุณีในปัจจุบันไม่มีแล้ว” แล้วมาได้ยินคำว่าอรหันต์เถรี ฉันยิ่งงงมากขึ้น หลวงแม่เล่าถึงความเป็นมาของอรหันต์เถรีให้พวกเราฟัง ทุกองค์ล้วนแต่พบกับความทุกข์ในชีวิต ในแง่มุมที่แตกต่างกัน บ้างก็เกิดจากความผิดหวังในคนรัก บ้างก็เกิดจากความตาย บ้างก็เกิดจากการพลัดพราก ล้วนแล้วแต่เป็นทุกข์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
          ธรรมะจึงเป็นที่พึ่งเดียวที่ทำให้หลุดพ้นจากความทุกข์นั้น จนถึงขั้นบรรลุได้เป็นพระอรหันต์เถรี
          ตรงนี้ชี้เห็นว่าพระพุทธเจ้าและธรรมะแห่งพระพุทธองค์นั้นเปิดกว้างเสมอ ทรงเห็นว่าผู้หญิงมีสิทธิที่จะบวชเป็นภิกษุณี เฉกเช่นกับผู้ชายที่จะบวชเป็นภิกษุอีกทั้งยังทรงเห็นว่าผู้หญิงก็มีสติปัญญาเท่าเทียมกับผู้ชายสามารถจะเข้าถึงพระธรรมคำสั่งสอนได้และบรรลุธรรมได้
          พวกเราเดินฟังธรรมบรรยายของหลวงแม่จนครบรอบสระ เราได้ยินชื่อใหม่ ๆในพุทธประวัติ เราได้รู้ถึงความเป็นมาของเหล่าภิกษุณี และพระอรหันต์เถรี เราได้รู้ถึงวิธีที่จะหลุดพ้นจากทุกข์ได้ด้วยธรรมะ ฉันได้รู้ถึงสิทธิและเสรีภาพของผู้หญิงในพระพุทธศาสนา
          หลังอาหารเพลแล้ว...

          พวกเรามีตารางว่าจะต้องเข้ากิจกรรมกลุ่ม นั่งสมาธิให้รู้ถึงการกำหนดลมหายใจ แล้วก็มีกิจกรรมที่ผ่อนคลายเช่นแนะนำตัว กิจกรรมกลุ่มย่อยที่มาพูดคุยกัน กลุ่มฉันค่อย ๆ พูดทีละคนเป็นการแบ่งปันความรู้สึกร่วมกัน ความคับข้องใจ ความไม่สบายใจ บางคนก็อ้ำอึ้งอยู่เป็นพักที่ต้องมาแสดงความรู้สึกลึก ๆ ให้กับคนไม่คุ้นเคยรับฟัง บางคนก็ยินดีที่จะเล่าให้เพื่อนในกลุ่มฟัง เล่าไปน้ำตาเจ้ากรรมไหลออกมา ฉันแอบเห็นบางคนก็พลอยร้องไห้ตามไปด้วยกับเรื่องเศร้าใจ ทุกข์ใจของเพื่อนในกลุ่ม ขณะที่กลุ่มข้าง ๆ มีเสียงหัวเราะไม่ขาดสาย หลายคนที่มาเป็นครั้งที่ 2,3,4,5,.......32 ครั้งก็มี เป็นพวกพี่ ๆ ที่เข้ามาทำงานด้วยความศรัทธาในพุทธศาสนาและตัวหลวงแม่ เราจะเห็นได้ว่าทุกคนนั้นมีทุกข์เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงจึงต้องใฝ่หาธรรมะเป็นเครื่องบำรุงใจ วันนี้เราปิดกิจกรรมภาคบ่ายด้วยการฝึกชี่กง เหงื่อโชกไปตาม ๆ กันแต่ไม่ได้เหนื่อยเลย
          ตกเย็นพวกเราทุกคนได้ออกกำลังกายกันอย่างสนุกสนานและเป็นประโยชน์ ช่วยกันตักสาหร่ายในสระที่พันกอบัวสวย ๆ ออกทิ้ง บางคนก็พายเรือตักกันกลางสระเป็นที่สนุกสนาน เป็นงานที่สนุกและได้เหงื่อดีนัก แต่กลับผ่อนคลายมาก ๆ พักใหญ่ ๆ ก็เสร็จ พักกินน้ำปานะ และมีเวลาจัดการเรื่องส่วนตัวเล็กน้อย สวดมนต์เย็น ได้สวดมนต์เพราะ ๆ อีกแล้ว ทำสมาธิ ฉันยังไม่นอนแต่ไปดูวิดีทัศน์ที่ถ่ายไว้ตอนหลวงแม่ไปบวชที่ศรีลังกาด้วย ก่อนที่จะแยกย้ายกันเข้านอน   

      อาทิตย์ที่ 11 สิงหาคม 2545
          วันนี้ฉันก็ยังตื่นเร็วกว่าที่กำหนด หลับสบายมากขึ้นเพราะเริ่มจะชินสักหน่อยกับสถานที่ และเมื่อวานก็ได้ออกกำลังกายไปเยอะ พวกเราขึ้นสวดมนต์เช้า ฉันชอบบทสวดมนต์ของวัตรนี้ ในความรู้สึกของฉันช่างไพเราะมาก อาจเป็นเพราะไม่เหมือนกับที่อื่น ๆ ที่เคยไปฝึกวิปัสสนามาก็ได้ แต่ฉันก็ยืนยันว่าเป็นบทสวดมนต์ที่น่าฟังอยู่ดี
          หลังสวดมนต์พี่ ๆ ประกาศว่าวันนี้หลวงแม่จะออกบิณฑบาต ใครจะตามไปกับหลวงแม่ก็ได้ ตั้งแต่เมื่อวานแล้วที่ฉันคิดว่าจะไปดีหรือเปล่า แต่ในที่สุดฉันก็ตัดสินใจตามหลวงแม่ไปเป็นเด็กวัด มันเป็นครั้งหนึ่งในชีวิตของฉันเลย ตั้งแต่เด็กเวลาฉันเห็นเด็กวัดผู้ชายเดินตามพระ ฉันคิดว่าทำไมไม่เห็นมีเด็กวัดผู้หญิงบ้างเลย เวลารับดอกไม้หลังจากญาติโยมถวายพระแล้ว ไม่เห็นเด็กผู้ชายพวกนั้นจะทะนุถนอมเลย ดูเกเรด้วยซ้ำ แล้วฉันอยากรู้ว่าคนแถวนี้เค้ามองหลวงแม่ของฉันอย่างไร

          เอาล่ะ !! วันนี้ฉันจะลองไปเป็นเด็กวัดตามหลวงแม่ไปบิณฑบาต
          พอออกนอกประตูไปซักหน่อย ก็พบว่ามีแถวของพระภิกษุเดินมาบิณฑบาตเช่นกัน หลวงแม่หยุดให้ท่านได้เดินไปก่อนด้วยความนอบน้อม ใจฉันเต้นตึกตัก ๆ นึกถึงกรณีขัดแย้งที่เคยมีในเรื่องการไม่ยอมรับการบวชของหลวงแม่ แต่เราก็เดินตามหลวงแม่กันไปเรื่อย ๆ หลวงแม่หยุดรับบาตรเป็นระยะ ๆ พร้อมกับบอกให้ชาวบ้านเอาลูกหลานมาเรียนภาษาอังกฤษที่วัดตอนเย็น ๆ
          พวกเราชักแถวมายาวเหยียด ขนาดคุณป้าคนหนึ่งเอ่ยปากถามหลวงแม่ว่าจะพอหรือคะลูกศิษย์ขนาดนี้ หลวงแม่ตอบเรียบ ๆ ว่ามาเอาคนค่ะคุณโยม ไม่ได้มาเอาของ จะมาบอกว่าถ้ามีลูกหลานติดขัดเรื่องการบ้าน หรือภาษาอังกฤษก็ให้ไปที่วัตร ตอนสัก 5 โมงเย็น มีหลายบ้านที่ออกมารอใส่บาตรให้หลวงแม่ด้วยความศรัทธา ชาวบ้านเหล่านั้นไม่ได้มีแววขัดแย้งอะไรในดวงตาเลย มีแต่ศรัทธาที่เปี่ยมล้นให้กับพระพุทธศาสนาและตัวของหลวงแม่ เป็นความศรัทธาที่ไม่มีเรื่องของการเมือง ผลประโยชน์เจือปน
           พวกเราเดินตามหลวงแม่กลับวัตร อีกกลุ่มที่ไม่ได้ไปก็กำลังฝึกการกำหนดลมหายใจในเรื่องของการนั่งสมาธิ เราพักกันสักครู่ก็ได้เวลาอาหารเช้า วันนี้เรามีกิจกรรมที่จะต้องทำ
“ดูหนัง” เข้าท่านะ
           อำแดงเหมือนกับนายริด
           เราเถียงกันว่าอำแดงต้องเป็นพี่น้องกับนายริดแน่เลย เพราะเหมือนกับนายริด หรือว่าเป็นฝาแฝด? ตามประสาคนช่างคิดของพวกเรา เหนือกว่านั้นคือเรื่องของสิทธิสตรีที่ถูกยกขึ้นมาเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับตัวเอง หลังหนังจบมีการระดมสมอง วิเคราะห์ เรื่องราวกันอย่างได้รสชาติ เวลาผ่านไปร่วม 3 ชั่วโมงอย่างไม่รู้ตัว
           ช่วงบ่ายหลวงแม่เทศน์ให้ฟังเรื่องของพระคุณแม่ หลายคนน้ำตาซึม ๆ ฉันก็คิดถึงแม่เหมือกัน ก็ที่มาปฎิบัติธรรมครั้งนี้ก็จะเอากุศลผลบุญให้แม่เป็นการทดแทนบุญคุณ แม้ว่าจะทดแทนไม่รู้หมดก็ตาม หลังจากนั้นก็มีกิจกรรมนั่งสมาธิ หลวงแม่สอนให้รู้ถึงการกำหนดลมหายใจ ฝึกชี่กง อันนี้เป็นที่ติดอกติดใจของหลาย ๆ คน ช่วยกันทำความสะอาดบริเวณวัด ช่วยกันเก็บกวาด ฉันยังได้เห็นหลวงแม่ (หญิงเหล็ก) สาธิตให้เห็นการหล่อปูนทำฝาท่อ ทำโต๊สนาม ด้วย
          หลังน้ำปานะ... ครู่ใหญ่ ๆ ก็แยกย้ายกันพักผ่อนตามอัธยาศัย ฉันเลือกที่จะนั่งคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อนสนิท เราไม่มีเวลามานั่งคุยกันอย่างนี้นานแล้ว หลังสวดมนต์เย็นเราจะมีกิจกรรมกลุ่มอีกครั้งก่อนเข้านอน ได้สวดมนต์ที่ไพเราะอีกแล้ว ฉันชอบมาก พรุ่งนี้จะเป็นวันสุดท้ายของการอบรมพุทธสาวิกาแล้ว เร็วจังยังสนุกอยู่เลย

      จันทร์ที่ 12 สิงหาคม  2545
           วันนี้วันสุดท้ายของการอบรม คิดแล้วก็ใจหาย เดี๋ยวจะต้องกลับไปพบกับความสับสนวุ่นวายอีกแล้ว พวกเราขึ้นสวดมนต์เช้าแต่ไม่มีการสึก เพราะหลวงย่า ภิกษุณี วรมัย กบิลสิงห์ อยากให้พวกเรารับศีลไปปฏิบัติให้ติดตัว หลวงแม่ให้ศีลให้พร พร้อมทั้งไม่ลืมที่จะให้สติแก่พุทธสาวิกาทุกคน หลังจากรับอาหารเช้าแล้วต่างก็เตรียมตัวแยกย้ายเก็บของทำความสะอาดห้อง เตรียมตัวกลับบ้านกัน พวกเราร่ำลากันและกัน พี่ ๆ วิทยากร เพื่อน ๆ น้อง ๆ ที่เข้าอบรม
           พวกเราทุกคนต่างแยกย้ายกลับเหมือนกับตอนที่พวกเราต่างคนต่างมาคนละทิศคนละทาง แต่สิ่งที่ได้กลับไปเป็นเชื้อไฟเดียวกัน ที่จะสร้างพลังของผู้หญิงในเรื่องต่าง ๆ ถ้าเราเชื่อว่าเราทำได้ เราก็ทำได้ 
           
                                                                                     
สุกัญญา คงกะพัน

 

กลับหน้า   บ้านพักใจ

 วัตรทรงธรรมกัลยาณี เลขที่ 195 ถนนเพชรเกษม ต. พระประโทน อ. เมืองฯ จ. นครปฐม 73000
โทร. (034) 258-270 โทรสาร (034) 284-315   E- mail : [email protected]
Copyright (c) 2002-2003 Thaibhikkhunis.org  All rights reserved.