โดย อเดอไลน์ ซารีรา แวน เวนนิ่ง



เมตตา กรุณา ปั้นดิน และทำความสะอาดสระบัว
ห้าวันแห่งการร่วมใช้ชีวิตแบบชาววัดที่วัตรทรงธรรมกัลยาณี

      แด่พี่น้องหญิงทางธรรมชาวดัตช์ทั้งหลาย
      ห้าวันแห่งความสุขจากการที่ได้ร่วมใช้ชีวิตแบบชาววัดไทยได้ผ่านพ้นฉันไปแล้ว ให้ฉันเล่าให้คุณฟังถึงผู้ปฏิบัติสมาธิแบบเซนและวิปัสสนาซึ่งเป็นประสบการณ์ของฉัน ฉันรู้สึกได้ถึงแรงปลุกเร้าและแรงบันดาลใจ การเขียนจดหมายฉบับนี้ยังเป็นหนึ่งในขั้นตอนแห่งความยินดีสำหรับตัวฉันเองที่ได้ “ผ่านมาแล้วมาด้วยดี”! ต่อไปนี้คือ ความประทับใจบางส่วนของฉัน
      หากคุณขับรถตามทางหลวงขนาด 6 ช่องจราจรที่อึกทึก ไปทางตะวันตกของกรุงเทพฯ ราว 50 กิโลเมตร คุณจะพบกับอาคารสีขาว แต้มด้วยสีเขียวและชมพูที่ดูแปลกตา ตรงทางเข้ามีป้ายว่า
“ศูนย์ฝึกอบรมสำหรับสตรีชาวพุทธ” มีข้อความและป้ายโฆษณาอื่น ๆ อยู่รอบ ๆ บริเวณนั้นรวมไปถึงป้าย “บริดจ์สโตน การยึดมั่นแห่งอนาคต” ซึ่งทำให้ฉันรู้สึกเย้ยขันในขณะที่ฉันกำลังเข้าไปสู่สถานที่ที่ฉันจะมาปฏิบัติการอยู่กับปัจจุบัน การปล่อยวาง และการเห็นสัจธรรมซึ่งไม่มีการยึดมั่นถือมั่นใด ๆ
       ผู้นำทางจิตวิญญาณและผู้จัดการของวัตรทรงธรรมกัลยาณี (มีความหมายว่า หญิงผู้ปฏิบัติธรรม) คือ ท่านสามเณรีธัมมนันทา ชุมชนของวัตรประกอบไปด้วยท่านธัมมนันทาและผู้หญิงอีกแปดคน มีตั้งแต่วัยเรียนคือ 14 ปีไปจนถึงวัยประมาณเจ็ดสิบปี รวมทั้งสุนัขอีกสี่ชีวิต ให้ฉันพาคุณชมรอบ ๆ ดีไหม?

       การอยู่กับสิ่งที่เป็นอยู่
       พอผ่านต้นเฟื่องฟ้าที่มีดอกแดงสดตรงทางเข้ามาแล้ว เราจะพบร้านหนังสืออยู่ทางซ้ายมือ ทางขวามือเป็นวิหารซึ่งประกอบไปด้วยโถงต้อนรับ และที่รับประทานอาหาร ชั้นบนเป็นห้องทำสมาธิ ถัดจากวิหารเป็นสวนซึ่งมีรูปเคารพเล็ก ๆ ดูคล้ายเจ้าแม่กวนอิมซึ่งเป็นพระโพธิสัตต์ผู้หญิง และพระภูมิเจ้าที่
       เดินต่อมาจากนั้น เราจะพบห้องสมุดอยู่ทางขวามือ ถัดขึ้นไปเป็นที่พักของท่านธัมมนันทา ส่วนทางซ้ายมือเป็นบ้านพักสำหรับผู้มาเยือนซึ่งฉันเองก็ได้รับเกียรติให้พักที่นี่ บ้านหลังนี้มีชื่อว่า
“บ้านร่มรื่น” แปลว่า “ลมอ่อน ๆ ที่น่ารื่นรมย์” สร้างด้วยเงินสะสมของบรรพชนของท่านธัมมนันทา ที่นี่เองเป็นที่ที่ท่านผลิตผลงานที่ได้รับการตีพิมพ์หลายต่อหลายเล่มในสมัยที่ท่านยังเป็นฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ มีข้อความติดไว้ว่า “เพื่อเป็นการอุทิศแก่บรรพชน บัดนี้ ข้าพเจ้าขอถวายบ้านหลังนี้เป็นบ้านพักของผู้มาเยือนทางธรรม ขอให้ท่านเป็นผู้ปฏิบัติดี และขอให้การปฏิบัติของท่านมีแต่ความ “ร่มรื่น” ” ซึ่งฉันจะต้องพยายามทำให้ได้
        องค์ประกอบทุกส่วนของวัตรล้วนเกิดจากหยาดเหงื่อแรงงานไม่น้อย สวนได้รับการดูแลอย่างดีด้วยความช่วยเหลือของคนสวนผู้เสียสละสองคน เอาล่ะ คุณลองนึกภาพตามนะ เดินต่อไปพอพ้นประตูทางเข้า ทันใดนั้น คุณก็พบโอเอซิสหรือสวรรค์ (ตามแบบที่ฉันได้เรียนรู้ในสมัยที่ยังเป็นชาวคริสต์) มันคือสวนที่มีลักษณะเชื้อเชิญ สงบ เงียบ หอมระรวย และอุดมสมบูรณ์! ฉันค่อนข้างประหลาดใจ มีบ่อน้ำขนาดใหญ่ที่เต็มไปด้วยบัวหลากชนิดทั้งสีชมพู สีม่วง สีน้ำเงิน สีขาว และสีเหลือง มี “กุฏิ” เล็ก ๆ หลังคายอดแหลมอยู่สามหลังซึ่งผู้ปฏิบัติสมาธิสามารถใช้อยู่อย่างเงียบ ๆ ได้พักหนึ่ง ขนาดของกุฏิสร้างตามแบบประเพณี คือ เจ็ดคูณ สิบสองคืบพอที่จะนั่งและนอนได้

       บริบทของวัตรฯ
       เอาล่ะ ก่อนที่ฉันจะบอกคุณให้รู้ว่า แต่ละวันเป็นอย่างไรและฉันได้ประสบกับอะไรบ้างตอนอยู่ที่วัตรฯ นั้น ให้ฉันแนะนำบริบทของวัตรฯ บางส่วนเพื่อที่ว่าคุณจะเข้าใจถึงสภาพการณ์ได้บ้าง อย่างที่คุณคงประหลาดใจที่ได้ทราบว่า ในประเทศไทย ไม่มีภิกษุณี นักบวชหญิง และคณะสงฆ์ที่เป็นผู้หญิง ท่านธัมมนันทาเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการจุดประกายขบวนการฟื้นฟูภิกษุณีระดับนานาชาติ ส่งเสริมอุดมคติแห่งการเข้าถึงโอกาสในการการฝึกฝนและปฏิบัติธรรมอย่างเสมอภาคของผู้หญิง แน่นอนว่าเรื่องนี้จะต้องพูดคุยกันอีกมาก แต่ฉันจะเล่าให้ฟังคร่าว ๆ เท่านั้น...ในช่วงระหว่างศตวรรษที่ 11 และ 13 ภิกษุณีสงฆ์ได้สูญสิ้นไปจากประเทศที่นับถือพุทธศาสนาแบบเถรวาท สายตรงการบวชภิกษุณีปรากฏอยู่แต่ในประเทศที่นับถือพุทธศาสนาแบบมหายานเท่านั้น เช่น ไต้หวันและเกาหลี ในประเทศไทย มีผู้หญิงที่ใช้ชีวิตแบบสละเรือนเรียกว่า แม่ชี ซึ่งมีสถานภาพทางสังคมที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ ท่านธัมมนันทาเป็นผู้ที่มีความตื่นตัวในการฟื้นฟูการบวชภิกษุณีในธรรมเนียมปฏิบัติของเถรวาทที่สำคัญคือ ศรีลังกาและไทย หลังจากที่ท่านได้ทำงานเป็นอาจารย์สอนศาสนาและปรัชญามาหลายสิบปี บัดนี้ ท่านได้บวชเป็นสามเณรีโดยคณะภิกษุณีเถรวาท ณ กรุงโคลอมโบ (ประเทศศรีลังกา) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2001ในขณะที่ท่านมีอายุกว่าห้าสิบปี และท่านจะได้รับการบวชในขั้นสูงเป็นภิกษุณีในช่วงต้นปี 2003 จากการที่ฉันได้ยินได้อ่านมา พูดได้ว่า ดูเหมือนปฏิกิริยาของส่วนต่าง ๆ ในสังคมไทยทั้งฆราวาสและพระไม่สนับสนุนนัก และบางคราวก็ถึงขนาดต่อต้านเสียด้วยซ้ำ การพัฒนาจึงเป็นไปอย่างเชื่องช้า แต่ก็ไม่สามารถหยุดยั้งได้อย่างแน่นอน
        ความกล้าหาญของท่านธัมมนันทาที่
“ผูกพัน” ต่อพุทธศาสนาแสดงออกมาในรูปของโครงการหลักสามโครงการ คือ โครงการที่หนึ่งคือ บ้านศานติ์รักษ์ เป็นที่พึ่งของหญิงที่ด้อยโอกาสและเด็กหญิงที่ด้อยโอกาสทางการศึกษา โครงการที่สองคือ การฝึกอบรมสตรีชาวพุทธ โดยจัดการอบรมเชิงปฏิบัติที่เหมาะกับกลุ่มที่แตกต่างกันพร้อมกับโครงการก่อตั้งการศึกษาของภิกษุณีอย่างเต็มรูปแบบ โครงการที่สามคือ การจัดทำยโสธรา เป็นจดหมายข่าวที่ออกทุกสามเดือนซึ่งคุณกำลังถืออยู่ในมือโดยมีการรายงานกิจกรรมของสตรีชาวพุทธระดับนานาชาติ มีกลุ่มสตรีที่หลากหลายมาเรียนรู้จากท่านนับตั้งแต่ ซิสเตอร์คาธอลิก แม่ชี นักเรียน นักศึกษา และหญิงบริการ สำหรับกลุ่มสุดท้ายนั้น ท่านได้เล่าเรื่องราวที่สร้างเสริมกำลังใจว่า ในสมัยพุทธกาล ภิกษุสงฆ์ต้องการขับไล่ภิกษุณีรูปหนึ่งเพราะนางถูกข่มขืน พระพุทธเจ้าได้เข้ามาปกป้องนางโดยกล่าวว่า มิให้ขับไล่นาง ให้นางอยู่ต่อได้เพราะภายใน(จิตใจ) ของนางบริสุทธิ์ (ดังนั้น) ไม่ว่าจะเป็นการข่มขืนและการค้าประเวณี (ซึ่งเป็นปัญหาที่ซับซ้อนของประเทศไทย) ก็ไม่สามารถทำร้ายความบริสุทธิ์ที่อยู่ภายใ น(จิตใจของผู้หญิง)ได้ ไม่กี่วันหลังจากที่ฉันออกจากวัตรฯ ท่านธัมมนันทาจะจัดการอบรมเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งนอกจากการทำสมาธิและสวดมนต์แล้ว ยังมีกิจกรรมอื่น ๆ อีก ได้แก่ ชี่กง โยคะ ปั้นดิน และแกะสลักผลไม้ น่าเสียดายที่ตั๋วเครื่องบินขากลับประเทศเนเธอร์แลนด์ของฉันเปลี่ยนแปลงวันที่ไม่ได้เสียแล้ว



     การสวดมนต์และการทำสมาธิ
     ช่วงเวลาที่ฉันอยู่ที่นี่ไม่มีรายการอะไรเป็นพิเศษ ฉันเข้าร่วมกิจกรรมรายวันกับสมาชิกในชุมชน นับตั้งแต่สวดมนต์ทำวัตรเช้าตอนตีห้าครึ่งและทำวัตรเย็นตอนทุ่มตรง ซึ่งท่านธัมมนันทาจะแนะนำการทำสมาธิ ขาแข็ง ๆ ของฉันพันกันอยู่บนที่นั่งเล็ก ๆ และแม้ว่าฉันจะอ่านเขียนภาษาไทยไม่ได้ ฉันก็ยังรู้สึกว่า การได้เข้าร่วมกิจกรรมเหล่านี้มีประโยชน์ และบางทีฉันก็ส่งเสียงฮัมไปพร้อมกับเสียงสวดมนต์ ซึ่งทำให้ฉันรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มด้วย บทสวดบางบททำให้ฉันรู้สึกเหมือนกำลังอยู่บ้าน เช่น บท นโม ตัสสะ ภควโต อรหโต สัมมา สัมพุทธัสสะ เพราะเป็นบทที่พวกเราสวดกันที่วัดเซนของเราในเนเธอร์แลนด์ นอกจากนี้ ฉันยังสามารถร่วมสวดบทมรรคมีองค์แปดได้ด้วย ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ ในช่วงวันหลัง ๆ ฉันก็เริ่มจำคำบางคำในหนังสือสวดมนต์ในรูปของภาพได้ ได้แก่ ธรรมะ ปัญญา อนิจจัง ในตอนเช้าพวกเราจะสวดมนต์อุทิศแด่พระอรหันต์เถระหรือบุรุษผู้หลุดพ้นแล้วแปดรูป ส่วนตอนเย็นก็จะสวดมนต์อุทิศแด่พระอรหันต์เถรีหรือสตรีผู้หลุดพ้นแล้ว สิบสามรูป
      ในวันที่สอง ฉันรู้สึกซาบซึ้งที่ท่านธัมมนันทากล่าวแนะนำการปฏิบัติกับฉันเป็นภาษาอังกฤษ ท่านพูดถึงการฟังอย่างมีสติ และการอยู่กับคนที่ฉันกำลังอยู่ด้วยอย่างแท้จริง โดยใส่ใจอยู่กับคน ๆ นี้อย่างเต็มที่ แม้ว่าเราจะมีเวลาพูดคุยกันเพียง 10 นาที แต่เป็น 10 นาทีที่มีค่ายิ่งสำหรับฉัน อยู่กับปัจจุบัน ไม่หมกมุ่นอยู่กับอดีตหรืออนาคต ที่สำคัญเราจะต้องมีทัศนคติและการเปิดกว้างอย่างเคารพ ในฐานะที่ฉันเป็นจิตแพทย์ซึ่งจะต้องพบปะกับผู้ลี้ภัยและผู้อพยพที่มีบาดแผลทางจิตใจ พวกเขาได้สูญเสียบ้านและความไว้เนื้อเชื่อใจ ซึ่งพวกเราจะต้องตระหนักถึงความจริงในข้อนี้ให้มาก ในสภาพการณ์เช่นนั้น บางครั้งเราก็ไม่ได้ใช้ภาษาเดียวกัน เราพูดคุยกันโดยมิได้อาศัยความช่วยเหลือของล่ามเท่านั้น แต่ยังรวมถึงคำบางคำที่เราสามารถใช้ร่วมกันรวมไปถึงภาษากายด้วย ท่านธัมมนันทาได้เน้นย้ำถึงทัศนคติที่ไม่เห็นผู้อื่นว่า
“เป็นอื่น” แล้วสร้างระยะห่าง การไม่ต้องการยุ่งเกี่ยวซึ่งเป็นทัศนคติที่อยู่กับคน ๆ นั้นอย่างแท้จริง การตระหนักว่า เราเองก็สามารถเป็นบุคคลอื่นได้เช่นกัน จากนั้น ท่านได้กล่าวว่า บทสนทนาทุกบทคือ โอกาสแห่งการเติบโตและการขัดเกลาสำหรับคู่สนทนาทั้งสองโดยไม่จำเป็นต้องอาศัยคำพูด
       ท่านธัมมนันทาได้กล่าวถึงจุดมุ่งหมายสามประการ คือ ละความชั่วทั้งหมด กระทำแต่ความดี และทำจิตใจให้บริสุทธิ์ มีจุดที่น่าสนใจคือ ในขณะที่ข้อที่สามของเถรวาทเป็นการขัดเกลา แต่สำหรับมหายานจะเป็นการ
“ช่วยเหลือสรรพสัตว์” อย่างไรก็ตาม ทั้งสองนิกายมีจุดหมายอย่างเดียวกันจึงมิได้ขัดแย้งกัน
       เสียงจากทางหลวงเพชรเกษมช่วงระหว่างกรุงเทพฯ และราชบุรีที่ดังแทรกอยู่ในห้องทำสมาธิ ทำให้เกิดเสียงดังตลอด 24 ชั่วโมง และเสียงเดียวกันนี้เองที่ได้สร้างโอกาสในการปฏิบัติธรรมโดยการรับรู้ว่า
“ได้ยินสักแต่ว่าได้ยิน” โดยไม่ต้องตามหรือประเมินเสียงนั้น ฉันยังได้ยินเสียงของท่านธัมมนันทาดังอยู่ในความทรงจำว่า “ใส่ใจอยู่กับการทำสมาธิ อย่าคิดว่า อ้อ เสียงนี้คงเป็นเสียงของรถสิบล้อแน่ ท่าทางคงบรรทุกหนักมาก หรือไม่ว่าก็ว่า เสียงนี้คงเป็นเสียงของรถเมล์” อย่าทำอย่างนั้น ปล่อยให้มันเป็นไป วางเสียงเหล่านี้ลง แล้วพูดว่า ตอนนี้ฉันไม่สนใจเสียงพวกนี้
       เราปฏิบัติสมาธิทั้งสมถะและวิปัสสนา ตอนแรกเราปฏิบัติสมถะโดยการจดจ่ออยู่กับลมหายใจที่ฐานทั้งสามตามลำดับ ฐานแรก อยู่ตรงปลายจมูกเป็นจุดที่เรารู้สึกได้ถึงลมที่ผ่านเข้าออก จากนั้นเป็นฐานสอง อยู่ตรงกลางศีรษะ แล้วก็เป็นฐานสาม อยู่ตรงจุดศูนย์กลางของร่างกายใกล้กับสะดือ เราอาจพูดในใจในขณะที่หายใจเข้าออกว่า พุทธะ-เมตตา พุทธะ-เมตตา... เมื่อเราจดจ่ออย่างเต็มที่จนรู้สึกผ่อนคลายและสงบ ท่านธัมมนันทาแนะนำให้เราขยายฐานที่เรากำลังจดจ่อ เหมือนโยนก้อนหินลงในน้ำแล้วเกิดระลอกคลื่น ขยายออกเป็นวงกลม ในการทำสมาธิครั้งต่อมา ท่านได้อธิบายเพิ่มเติมอีกโดยให้เราตรึกนึกภาพพระพุทธรูปซึ่งเราคุ้นเคยอย่างดี จากนั้น นำภาพนั้นเข้ามาอยู่ในกายของเรา โดยให้ฐานสามของพระพุทธรูปซ้อนทับอยู่บนฐานสามของเรา ให้มีพระพุทธรูปอยู่กายเรา สำหรับการทำสมาธิวิปัสสนานั้น ท่านแนะนำให้เราสังเกตกระบวนการทำงานของร่างกายและจิตใจจากขณะหนึ่งไปสู่ขณะหนึ่ง สังเกตการเคลื่อนไหวของจิตใจของเรา รับรู้ถึงความรู้สึกวิตกกังวล อิจฉา โกรธ เครียด แล้วย้อนกลับมาดูการหายใจ
        วันสุดท้าย ท่านธัมมนันทาได้นำเราให้ฝึกการสังเกตร่างกายที่เน่าเปื่อย ดังที่ได้บรรยายไว้ใน
สติปัฏฐานสูตร เรา (ตรึกนึกภาพ) ลอกผิวหนังออก เลาะกล้ามเนื้อและอวัยวะภายในจนเหลือแต่กระดูก ท่านเก่งมากในการนำให้เกิดจินตนาการที่เต็มไปด้วยกลิ่นและสีสัน สิ่งที่ฉันฝึกฝนมาในฐานะหมอนั้น ไม่ได้ทำให้ฉันเตรียมพร้อมสำหรับการอยู่กับสิ่งเหล่านี้เท่าไรนัก ช่างเป็นประสบการณ์ที่เต็มไปด้วยพลังที่ทำให้ฉันได้เห็นถึงความไม่เที่ยงแท้ของร่างกายของฉันและสิ่งที่ฉันเป็น!

    
เมตตา กรุณา
     หลังจากสวดมนต์ทำวัตรเย็นแล้ว พวกเราขยับหมอนรองนั่งมานั่งล้อมรอบท่านธัมมนันทา ซึ่งเรียกกันว่า หลวงแม่ เพื่อแลกเปลี่ยนสารทุกข์สุขดิบในชุมชน เย็นวันแรก ฉันได้รับเชิญให้แนะนำตัวและเล่าถึงการปฏิบัติเซนและวิปัสสนาในประเทศเนเธอร์แลนด์ว่าเป็นอย่างไร? แน่นอนทีเดียวว่า มีการปฏิบัติที่คล้ายคลึงกัน เช่น การตามลมหายใจ ฉันเล่าถึงวัดเซนของชาวดัตช์ของเราซึ่งฉันมักจะเข้าเงียบเป็นอาทิตย์ ๆ น่าสังเกตว่า ที่เมืองไทยไม่มีการนับสายอาจารย์ จึงดูเหมือนว่า การปฏิบัติธรรมส่วนใหญ่จะทำเป็นกลุ่มใหญ่ ทำให้โอกาสในการให้คำปรึกษาส่วนตัวมีน้อย แต่การขอพบกับท่านธัมมนันทาเป็นการส่วนตัวเป็นสิ่งที่เป็นไปได้เสมอ
       เช้าวันหนึ่ง เราได้
“การบ้าน” โดยการให้ความสนใจกับเมตตากรุณาเป็นพิเศษ ในแต่ละวันนั้น เราได้แสดงออกถึงความรู้สึกที่เป็นมิตรและความกตัญญูต่อบุคคลที่อยู่ใกล้ตัวของเราอย่างไรบ้าง? ดูเหมือนว่า เรามักจะรับสิ่งที่คนใกล้ตัวให้อย่างไม่ค่อยใส่ใจหรือสนใจนัก สิ่งนี้ย่อมเกิดขึ้นในการอยู่ร่วมกันเป็นชุมชน! เย็นวันนั้น เราร่วมกันแบ่งปันประสบการณ์ที่เราได้รับในวันนั้น และเป็นที่น่าทึ่งว่า การแสดงออกถึงความซาบซึ้งต่อคนอื่นส่งผลในทันทีต่อบรรยากาศดังจะเห็นได้จากกิริยาภายนอก
      หลังจากทำวัตรเย็น พวกเราทั้งหมดได้เข้าไปทำความเคารพท่านมหาโพธิธรรมาจารย์มหาเถรี (หลวงย่า) ซึ่งเป็นมารดาของท่านธัมมนันทาและเป็นผู้ก่อตั้งวัตรฯ นี้ ขณะนี้ท่านอายุ 94 ปีแล้ว และต้องนอนอยู่บนเตียงในห้องที่ติดกับห้องทำสมาธิซึ่งพลังของเสียงสวดจะไปถึงท่านด้วย ฉันรู้สึกสะดุดตาเมื่อเห็นรูปปั้นของเจ้าแม่กวนอิมขนาดเล็กวางติดอยู่กับรูปพระแม่มารีตรงทางเข้าห้อง ที่วิหารชั้นล่าง เราเห็นภาพของหลวงย่านุ่งห่มจีวรสีเหลืองในสมัยที่ท่านยังสาว และยังมีภาพของท่านธัมมนันทาซึ่งโกนศีรษะแล้ว นุ่งห่มจีวรสีน้ำตาลแกมส้มเข้ม อีกภาพหนึ่งเป็นภาพในสมัยที่ท่านยังเป็นฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ ซึ่งยังประดับประดาไปด้วยเครื่องสำอางค์ ต่างหู และเสื้อผ้าสีฉูดฉาด ฉันรู้สึกถึงแรงปลุกเร้าและนึกใคร่ครวญว่า ความคิดภายในอย่างไรที่มีอยู่นานจนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายนอก



      การนวดและงานปั้นดิน
      ท่านธัมมนันทามีวิธีในการเชื้อเชิญให้ฉันได้ทำความรู้จักกับสิ่งต่าง ๆ ของที่นี่อย่างมีศิลป์ วันหนึ่ง ท่านได้ส่งดอกลั่นทมสีขาวกลิ่นหอมมาให้ฉัน อีกวันหนึ่งท่านได้ยื่นดอก “สาละ” สีชมพู-เหลือง (จากบันทึก พระพุทธเจ้าทรงเลือกที่จะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานระหว่างต้นสาละคู่ และในขณะที่พระองค์กำลังเสด็จดับขันธ์ฯ นั้น กลีบของดอกสาละได้ร่วงโปรยลงมาต้องพระวรกายของพระพุทธองค์) แล้ววันหนึ่ง ท่านธัมมนันทาก็เดินขึ้นมาพร้อมกับมักกะโรนีในชาม อาหารบางอย่างทำมาจาก “บ้าน” วางอยู่ท่ามกลางมหาสมุทรแห่งอาหารมังสวิรัติรสเลิศแบบไทย ๆ!
       หลังจากที่หมอนวดหญิงคนนั้นได้นวดให้ท่านธัมมนันทาแล้ว เธอก็ยังได้นวดให้ฉันด้วย ฉันพบว่า ชั่วโมงนั้นเป็นช่วงเวลาแห่งการพักผ่อนอย่างวิเศษ ฉันได้ฝึกฝนการรับสัมผัสอย่างมีสติ การยินยอมและการปล่อยวาง และยังได้ฝึกการรู้ตื่นในขณะที่กล้ามเนื้อเกิดหดตัวโดยฉับพลันอันเป็นปฏิกิริยาสะท้อนที่ซับซ้อน ซึ่งเป็นกลไกอัตโนมัติที่แฝงอยู่เพื่อหลีกเลี่ยงความเจ็บปวด
       ห้องสมุดก็เป็นห้องศิลปะด้วยเช่นกัน เกือบทุกบ่าย พวกเราบางส่วนจะมารวมตัวกันที่นี่เพื่อใช้มือของเราและดูว่า มือจะสร้างสรรค์อะไรออกมาอย่างเป็นธรรมชาติ อันได้แก่ รูปปั้นครึ่งตัวของพระพุทธรูป(พระอรหันต์) ทั้งชายและหญิงหลายชิ้น รูปปั้นในท่ากำลังนั่งสมาธิ บางทีก็มีรูปปั้นทำท่าถือสบู่หรือทำท่าตลก ๆ ออกมาด้วย... ที่ร้านหนังสือมีรูปปั้นของพระอรหันต์ที่มีความเป็นเลิศในด้านต่าง ๆ จำหน่าย แขกผู้มาเยือนวัตรฯ ในวันสุดสัปดาห์ก็ได้รับเชิญให้เข้าร่วมกิจกรรมนี้ด้วย มีก้อนดินสำหรับทุกคน อันที่จริง ตอนที่ฉันอยู่วัตรฯ เมื่อวันอาทิตย์นั้น ฉันได้ปั้นดินร่วมกับเด็กหญิงคนหนึ่งอายุ 5 ขวบและชายคนหนึ่งอายุ 73 ปี! โอกาสที่สมาธิอย่างลึกและเสียงหัวเราะอย่างมีความสุขจะเกิดขึ้นมีอยู่เสมอ ท่านธัมมนันทาแสดงเทคนิคพิเศษในการสร้างสีหน้าให้รูปปั้นให้ฉันดูโดยการเสริมเปลือกตาและริมฝีปากล่าง การปั้นแต่งดินให้มีรอยยิ้มได้กลายเป็นหนึ่งในงานโปรดของฉันไปเสียแล้ว ฉันได้เรียนรู้ถึงความไม่อดทนของฉันโดยอาศัยการมีสติ

       สวนธรรมะกับสระบัว
       บ่อยครั้งที่ท่านธัมมนันทาพาฉันไปที่สวนธรรมะ มีทางเดินล้อมรอบพื้นที่รูปสี่เหลี่ยมที่ใช้ทำสมาธิ ซึ่งประกอบไปด้วยสระน้ำ ผืนดิน และทางสำหรับเดินจงกรม ท่านธัมมนันทาบอกฉันในขณะที่เรากำลังเดินไปรอบ ๆ ตามเข็มนาฬิกาเกี่ยวกับทิศทางทั้งแปด (เหนือ ตะวันออก ใต้ ตะวันตก และทิศที่อยู่ระหว่างนี้อีกสี่ทิศ) เราเห็นป้ายที่มีชื่อของพระอรหันต์ทั้งชายและหญิงปรากฏอยู่ ผู้รู้ชาวพุทธท่านหนึ่งซึ่งเป็นชาวเชียงใหม่ได้บรรยายถึงความเชื่อมโยงของพระอรหันต์เหล่านี้เมื่อสองศตวรรษที่ผ่านมานี้เอง!(?)
        เราเดินวนรอบโดยเริ่มจากทิศตะวันออก และได้รับการบอกเล่าถึงคุณลักษณะพิเศษของพระอรหันต์หลายรูป ตัวอย่างเช่น พระสารีบุตรและพระเขมาเถรี ซึ่งได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าในด้านปัญญาและความสามารถในการอธิบายแจกแจงธรรมะ แล้วก็ยังมีเรื่องที่คุณรู้อยู่แล้ว คือ พระมหากัสสปะ ซึ่งเป็นผู้ที่ยิ้มตอนที่พระพุทธองค์ยกดอกบัวขึ้น (อยู่ในพระสูตรมหายาน) พร้อมทั้งพระกีสาโคตมี ผู้ได้รับคำแนะนำจากพระพุทธเจ้าว่า ให้ไปเสาะหาเมล็ดพันธุ์ผักกาดจากครอบครัวที่ไม่เคยมีคนตายเลย ทำให้นางยอมรับว่า ไม่มีครอบครัวใดที่อยู่เหนือความตายไปได้
        มีศาลาเล็ก ๆ ซึ่งมีที่นั่งอยู่ใต้หลังคา เรียกว่า
“ศาลาเมืองฟ้า” หรือวิมานของเทวดา ต้นไม้ที่อยู่บริเวณนั้นไม่ค่อยโตนัก ท่านธัมมนันทาสวดมนต์ให้แก่บรรดาต้นไม้และบอกให้หยั่งรากลงดินให้มั่นคง ต้นไม้พวกนี้จะได้สร้างร่มเงาให้แก่ผู้ที่เข้ามาทำสมาธิในสวน “ครั้งต่อไปที่คุณมา คุณจะได้นั่งภายใต้ร่มเงาของต้นไม้เหล่านี้” ฉันกำลังรอคอยอย่างใจจดใจจ่อ!
        ท่านธัมมนันทาเคยนึกเห็นภาพของกุฏิซึ่งบัดนี้ก็มีแล้วอย่างที่ท่านคิดไว้ไม่มีผิด ตอนนี้ท่านนึกเห็นภาพรูปปั้นพระพุทธเจ้าผู้เชี่ยวชาญด้านยาขนาดใหญ่ตั้งอยู่ตรงด้านหลังของสวน ฐานกว้างประมาณ 18 เมตรคุณสามารถเข้าไปทางหัวเข่าของพระองค์ซึ่งจะทำให้พระพุทธเจ้าอยู่ภายในตัวคุณ...(?)
        หนึ่งในประสบการณ์ที่พิเศษสุดที่ฉันบอกคุณได้คือ ตอนห้าโมงเย็นซึ่งเป็นเวลาของการทำสวน เมื่อพวกเราทั้งหมดมาถึงสระบัวแล้ว พวกเราจะทำความสะอาดสระบัวโดยการตักดอกและใบของบัวที่เฉาแล้วขึ้นจากน้ำโดยใช้เรือเล็ก ๆ สี่ลำ ใบบัวเก่า ๆ ที่มีอยู่มากเกินไปพวกนี้ได้แย่งเอาออกซิเจนที่บัวใหม่ ๆ ต้องใช้ การทรงตัวอยู่ในเรือลำเล็ก ๆ ในขณะที่กำลังเก็บใบบัวเก่าขึ้นมานั้นเป็นศิลปะที่ท้าทายอย่างหนึ่ง ฉันคิดว่า ท่านธัมมนันทาคงมีความสุขกับการทำงานบางชนิดที่ต้องใช้แรงกายอย่างมากเช่นกัน ฉันเรียนรู้ที่เด็ดดอกบัวเก่า ๆ มาลอกเปลือกตรงก้านออก แล้วหักเป็นท่อนสั้น ๆ ซึ่งจะเป็นอาหารจานโปรดของพวกเราในวันต่อมา! พวกเรานั่งลงพร้อมด้วยพระอาทิตย์ที่คล้อยต่ำลงกำลังสาดแสงสีทองอมชมพู เท้าแกว่งอยู่ในสระบัว ดอกบัวงดงามอย่างที่มันเป็น เกิดขึ้นจากโคลนตม... ท่านธัมมนันทาชี้ให้ฉันเห็นถึงดอกบัวที่ยังไม่บานซึ่งมีหนามอยู่นิดหน่อยและมีกากอาหารมาก ธรรมชาติแสดงให้เราเห็นว่า ไม่ควรกินมัน ดังนี้แล้ว ดอกบัวก็ได้ปกป้องตัวเอง! ทุกสิ่งที่เราทำ ทุกคนที่เราพบอาจเป็นครูของเราถ้าเพียงแต่เราจะมองให้เห็น! อย่างที่ท่านอธิบายว่า แทนที่จะไปแสวงหาแรงกระตุ้นจากภายนอก เราจะต้องพัฒนาให้เกิดขึ้นจากภายใน ตัวอย่างเช่น จากการที่เราซึมซับอินเตอร์เน็ต เราจำต้องรู้ถึงวิธีจัดการกับความคิดของเราเอง อันเป็นการทะลุทะลวง
“เครือข่ายภายใน” ของตัวเรา!

        ออกบิณฑบาต
        โอกาสพิเศษมาถึงตอนสุดสัปดาห์ ในวันเสาร์ เราถอนวัชพืชที่อยู่บริเวณสวนด้านหน้าออก เช้ามืดของวันอาทิตย์ตอน 6 โมง ท่านธัมมนันทาได้ออกบิณฑบาตโดยมีพวกเรา ได้แก่ แม่ชีสองรูปพร้อมบาตรในมือ และฆราวาสอีกสี่คน เดินเป็นแถวตามหลังอย่างเงียบ ๆ โดยมีเสียงร้องของจั่กจั่นและเสียงสุนัขเห่าแว่วมาแต่ไกล ก่อนที่จะออกบิณฑบาตนั้น ท่านได้บอกฉันถึงท่าทีในการรับบาตรว่า ไม่ว่าเราจะได้รับอาหารชนิดใด เราจะรับด้วยความอ่อนน้อม ตามพระวินัย ภิกขุ (ผู้ขอ) ต้องรู้กิจอย่างน้อยสี่อย่างสำหรับการใช้ชีวิตแบบนักบวช ได้แก่ 1. ออกบิณฑบาตเพื่อให้ได้อาหาร 2. เย็บจีวรจากผ้าที่ถูกทิ้งซึ่งพอจะหาได้จากเสื้อผ้าของคนที่ตายแล้ว 3. เมื่อเจ็บป่วย ในกรณีที่จำเป็น ให้ดื่มน้ำปัสสาวะเป็นยา และ 4. เมื่อไม่มีที่อยู่อาศัย ให้ทำความพอใจในร่มเงาของต้นไม้
        จุดประสงค์ที่ท่านธัมมนันทาออกบิณฑบาตนั้น ก็เพื่อให้ประชาชนที่อยู่ใกล้วัตรฯ มีโอกาสทำบุญด้วยการถวายอาหาร และเพื่อที่ท่านจะได้ทำความคุ้นเคยกับพวกเขาด้วย นอกจากท่านจะสวดมนต์ให้พรแก่ผู้ถวายอาหารอย่างที่พระภิกษุชายกระทำกันอยู่แล้ว บ่อยครั้งท่านยังให้เวลากับการฟังปัญหาของพวกเขาและให้คำแนะนำเป็นการส่วนตัว ตรงหน้าบ้านของคนทำบุญ บางทีก็เป็นผู้หญิง บางทีก็เป็นครอบครัวที่ประกอบไปด้วยคนสามรุ่น มีสามีภรรยาคู่หนึ่งนั่งลงพร้อมกับลูกชายร่างเล็กยืนอยู่บนเก้าอี้ตัวย่อม หญิงคนหนึ่งแตะแขนของสามีไปที่บาตรซึ่งบ่งถึงการดูแลและติดตามการให้ของสามี สามีภรรยาคู่หนึ่งเล่าถึงความวิตกกังวลที่โรงงานผลิตแอลกอฮอล์แห่งหนึ่งจะมาสร้างตรงข้างบ้านของพวกเขา ซึ่งจะทำให้มีกลิ่นเหม็น และทำความเดือดร้อนแก่เพื่อนบ้านใกล้เคียง อันที่จริง พวกเราเห็นฐานของโรงงานที่สร้างเสร็จแล้ว พร้อมทั้งต้นไม้ใหญ่อยู่ตรงขอบพื้นที่ก่อสร้าง ท่านธัมมนันทาย้ำกับพวกเขาว่า ต้นโพธิ์จะปกป้องพวกเขาจากผลกระทบในด้านร้าย ๆ พวกเรากลับวัตรฯ โดยมีอาหารเต็มบาตร พร้อมกับถุงที่ใส่อาหาร ผลไม้ และเครื่องดื่มอีกจำนวนหนึ่ง
        ตอนสายของวันอาทิตย์ มีผู้มาเยือนวัตรฯ ประมาณยี่สิบถึงสามสิบคนทั้งหญิงและชาย ส่วนหนึ่งได้เข้าร่วมการทำสมาธิในช่วงเช้า พวกเขามักจะนำตะกร้าอาหารมาด้วย หลายคนหอบหิ้วพืชและพรรณไม้และนำมาปลูกทันทีที่มาถึง สิ่งที่น่าทึ่งสำหรับฉันก็คือ มีแม่หลายคนมาพร้อมกับลูกสาวและต้องการพูดคุยถึงสิ่งที่พวกเขาวิตกกังวลหรือไม่ก็เรื่องที่พวกเธอทะเลาะกัน ซึ่งท่านธัมมนันทาก็จัดสรรเวลาให้กับทุกคน

        ความกตัญญู
        ฉันได้รับความเมตตาจากสมาชิกในสังฆะเป็นอย่างมาก โดยพวกเขาแต่ละคนก็มีวิธีแสดงออกของตัวเองทั้ง ๆ ที่เรามีศัพท์และภาษากายเพียงน้อยนิดที่ใช้ร่วมกันได้ ฉันได้รับผ้าพันแผล หมุดติดผ้าพันคอ น้ำส้มสดแก้วหนึ่ง...! เวลาและสถานที่เหล่านี้ เพียงพอที่ฉันจะบ่มเพาะสติอย่างรู้ทัน ตัวอย่างคือ การตระหนักถึงอิทธิพลที่ฉันได้รับจากการนุ่งห่มผ้าขาวของแม่ชี การตระหนักว่าที่ไหนบ้างที่ฉันไม่ก้มกราบหรือไม่โค้งอย่างที่คนอื่นเขาทำกัน ที่ไหนบ้างที่ฉันไม่ได้อยู่กับสิ่งที่มีอยู่ ดูเหมือนว่าฉันจะให้คำแนะนำได้เพียงนิดหน่อยเท่านั้น! ฉันรู้สึกอ่อนน้อมและซาบซึ้งเหมือนแก้วน้ำที่ได้รับการเติมเต็ม ฉันมีความสุขกับการนึกภาพสมาชิกแต่ละคนในชุมชน และยังได้ช่วยสอนการบ้านภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสแก่สมาชิกที่ยังอยู่ในวัยเรียน
         สิ่งที่ยังคงอยู่กับฉัน คือ บรรยากาศของการอยู่ร่วมกันซึ่งคุณได้สอนและเทศน์ การผูกพันอย่างจริงใจและการเชื่อมั่นในการสร้างเหตุที่ดี เหตุที่นำมาซึ่งแรงจูงใจในการทำประโยชน์ให้แก่ชุมชนชาวพุทธโดยรวม ซึ่งสำหรับความคิดฉันแล้ว ยังเป็นคุณค่าแห่งการอยู่รอดของจักรวาลอีกด้วยนอกเหนือจากแนวคิดเรื่องมนุษย์-จิตนิยมแล้ว

                               สำหรับพวกคุณทุกคน ขอบคุณมากสำหรับแรงบันดาลใจ!

กลับหน้า   บ้านพักใจ

 วัตรทรงธรรมกัลยาณี เลขที่ 195 ถนนเพชรเกษม ต. พระประโทน อ. เมืองฯ จ. นครปฐม 73000
โทร. (034) 258-270 โทรสาร (034) 284-315   E- mail : [email protected]
Copyright (c) 2002-2003 Thaibhikkhunis.org  All rights reserved.