การทำสมาธินั้น
แปลว่าการทำจิตรวมเป็นหนึ่ง
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ให้วิธีการไว้ถึง
46 วิธี
เพราะฉะนั้นในการทำสมาธิในสมัยโบราณ
เราต้องไปอยู่กับอาจารย์
ปรนนิบัติวัตรฐาก
กวาดบ้าน ถูบ้าน
ซักผ้าตักน้ำ
หาผลไม้ในป่าเป็นเวลา 2-3
ปีก่อนที่อาจารย์จะได้เลือกวิธีที่คิดว่าเหมาะสมกับเราที่สุดแล้วก็สอนวิธีทำสมาธิให้แก่เรา
ในโลกปัจจุบันเราไม่มีเวลาที่เราจะไปอยู่กับอาจารย์ท่านใด ได้นานถึงขนาดนั้น ทั้งเรายังไม่แน่ใจว่าจะมีอาจารย์ท่านใดที่จะรอบรู้ถึง 46 วิธี เราจึงเลือกการทำสมาธิด้วยแบบที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารับสั่งว่าเป็นการทำสมาธิที่ง่ายที่ให้ผล ที่ไม่มีผลข้างเคียง นั่นก็คือการดูลมหายใจที่เรียกว่า อาณาปานสติ การกำหนดลมหายใจ การกำหนดลมใจนี้เราจะทึกทักว่าเราหายใจปกติอย่างนี้ มานานนมเนแล้ว แต่การฝึกสมาธิจะเป็นวิธีการที่เรา ฝึกจิตของเราให้มีสติรู้อยู่กับลมหายใจ จริงๆแล้วฝึกสติรู้อยู่กับอะไรก็ได้ อยู่กับแก้วอยู่กับน้ำอยู่กับไฟได้ทั้งนั้น แต่ว่าที่ให้อยู่กับลมหายใจนี้เพราะคิดว่ามันเป็นเทคนิควิธีที่ ลมหายใจมันอยู่กับตัวเราเอง ฝึกเมื่อไรก็ได้ พิจารณาลมหายใจเข้า รู้ว่าลมหายใจเข้า ลมหายใจออก เราก็มีสติรู้ว่าลมหายใจออก ถ้าหากว่าเราเปรียบจิตเหมือนกับลิง จิตที่ไม่ได้ฝึกฝนก็เหมือนกับลิงป่าที่จับมาใหม่ๆ กระโดดโลดเต้น จำเป็นต้องใช้โซ่ผูกเอาไว้ ล่ามไว้กับต้นไม้ การที่เรากำหนดให้จิตของเราอยู่กับลมหายใจก็คือการที่เราผูกลิงเอาไว้กับหลัก แบบเดียวกัน ลิงซึ่งดูเหมือนว่าจะยุกยิกอยู่ตลอดเวลา ธรรมชาติของลิงเป็นอย่างนั้น ยุกยิกตลอดเวลาก็เหมือนกับธรรมชาติของใจเหมือนกันที่มีอาการเคลื่อนไหวเร็วมาก ช่วงลัดนิ้วเดียวไปถึงเชียงใหม่แล้ว ช่วงลัดนิ้วมือเดียวไปถึงออสเตรเลียก็ได้ เพราะฉะนั้นการเคลื่อนไหวของจิตจึงเป็นการเคลื่อนไหวที่เร็วมาก แต่ถ้าหากว่าเราฝึกลิง เราฝึกลิงจนกระทั่งลิงมันเชื่อฟัง เจ้านายออกคำสั่งอย่างไรลิงทำได้หมด ในท้ายที่สุดคุณประกิตก็เลี้ยงเจ้านาย คุณประกิตลิงนะคะก็สามารถเลี้ยงเจ้านายได้ ทำตามที่เจ้านายสั่งได้ จิตของเราเมื่อได้รับการฝึกฝนแล้ว เราก็จะเกิดวสี ความชำนาญในการที่จะใช้จิตควบคุมกาย จิตเป็นนายกายเป็นบ่าว ผู้ที่มีจิตที่ฝึกดีแล้วย่อมเป็นผู้ที่มีความทุกข์น้อย ฉันใดก็ฉันนั้น เราพูดถึงการพัฒนากาย พัฒนาจิต พัฒนาทุกรูปแบบไม่ว่าจะเป็นพัฒนาของรัฐบาลหรือพัฒนาของเรา จะต้องมี 2 ส่วนก็คือส่วนกายกับส่วนจิต แต่เท่าที่ผ่านมาเราละเลย เพิกเฉยไม่ให้ความสำคัญกับจิต เราจะเน้นการพัฒนากายมาตลอด คุณโยมพิจารณาตนเอง ใน 24 ชั่วโมงในแต่ละวันนอนไปแล้ว 8 ชั่วโมงนั่นก็ให้กายได้พักผ่อน ตื่นขึ้นมากินอาหาร 3 มื้อ ใช้เวลา 2 ชั่วโมง สิบชั่วโมง อาบน้ำดูแลร่างกายอีก 1 ชั่วโมง สิบเอ็ดชั่วโมงแล้ว ไปทำงาน 8 ชั่วโมง 19ชั่วโมงแล้ว ติดอยู่ในรถอีก 4 ชั่วโมง 23 ชั่วโมง 24 ชั่วโมง มีสัก 5 นาทีไหมที่เราจะดูแลจิตของเรา วันหนึ่งๆ เราก็ใช้ไปหมดกับการดูแลกาย ไป ช้อปปิ้ง คุณโยมช้อปปิ้งนี้ซื้ออะไรบ้างคะ ซื้อให้กายทั้งหมดนะคะ ไม่ได้มีอะไรซื้อให้จิตเลย คุณโยมซื้อขนมปัง ซื้อเนยเหลว ซื้อเนยแข็ง ซื้อแยมสำหรับอาหารเช้า อาหารเช้าสำหรับเลี้ยงกาย ไปซื้อผักซื้อเนื้อหมูเนื้อไก่ ปลาเป็ดอะไรก็แล้วแต่เป็นอาหารมื้อกลางวันและมื้อเที่ยง มื้อเที่ยงและมื้อเย็น ก็สำหรับกายเหมือนกัน เราเคยไปช้อปปิ้งที่จะพัฒนาจิตไหม เพราะฉะนั้นเราจะเห็นว่า น่าตกใจนะคะเมื่อคิดแล้วจะน่าตกใจ ในแต่ละวันเราจะใช้เวลาไปหมดไปกับการพัฒนากาย ดูแลกาย พนอกายให้กายฟุ้งเฟ้อแต่เราทอดทิ้งโดยสิ้นเชิงในเรื่องของจิต เสร็จแล้วเราก็บอกว่าเราไม่มีความสุขเลย ทำไมชีวิตถึงไม่มีความสุขเลย ก็ไม่ได้ดูแลใจนี่โยม ความสุขมันอยู่ที่ใจ เราจึงจำเป็นอย่างยิ่ง เวลานี้เราฉลาดขึ้นแล้ว อุตส่าห์มาวัดแล้ว วันนี้เป็นวันสำคัญด้วย เป็นวันพระขึ้น 15 ค่ำ เดือน9 เป็นวันสำคัญเราก็เกิดความฉลาดขึ้นมาวัดเพื่อที่จะมาอบรมจิตใจ มาอบรมจิตใจก็คือมาฝึกจิต มาฝึกจิตเหมือนกับที่เราฝึกกายนั้นแหละ เรามาฝึกจิตเพื่อให้จิตของเราสามารถที่จะจัดการกับเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นมาในชีวิต รู้ว่าอันไหนเป็นสุข รู้ว่าอันไหนเป็นทุกข์ ทีนี้ในพุทธศาสนา ขั้นตอนแรกของพุทธศาสนาก็คือการรับไตรสรณคมน์ การรับไตรสรณคมน์ ที่เราพูด พุทธังสะระณังคัจฉามิ นี่เป็นพิธีกรรมแรกของชาวพุทธ เวลาที่เราจะเป็นชาวพุทธเราต้องรับไตรสรณคมน์ รับว่า พระพุทธพระธรรมพระสงฆ์เป็นสรณะที่พึ่งที่ระลึกของเรา แต่มีชาวพุทธซักกี่คนในประเทศเราที่เข้าใจว่าพุทธะหมายความว่าอย่างไร ที่เราสวดว่า พุทธังสะระณังคัจฉามิ พุทธะนี่หมายความว่าอย่างไร พุทธะ หมายถึงความรู้ตัว ความแจ้ง ความรู้แจ้ง ความตื่น หลายคนนึกว่าพุทธะหมายถึงพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าซึ่งเป็นมนุษย์เดินดินเหมือนกับเรา เคยเดินดินอยู่ที่ปัจจุบันเป็นประเทศอินเดีย เกิดที่ดินแดนที่เรียกว่าลุมพินี พระพุทธเจ้าที่เป็นมนุษย์คนนั้นหรือที่จะช่วยเป็นสรณะให้เราพ้นทุกข์ได้ ไม่น่าจะใช้ เพราะว่าพระองค์เองเพราะว่าทรงมีสังขารเป็นมนุษย์ สังขารก็เสื่อโทรมไปตามหลักไตรลักษณ์นั่นก็คือเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนันตา แม้ท้ายที่สุดสังขารของตนเองก็ไม่ที่จะยืนหยัดอยู่ได้ เมื่อครบ 80 พรรษา ก็เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ถ้าอย่างนั้นพุทธะจะหมายถึงพระพุทธรูปกระมัง พระพุทธรูปที่เรากราบไหว้บูชานั้นไม่ว่าจะเป็นโลหะ ไม่ว่าจะเป็นไม้แกะสลัก ไม่ว่าจะเป็นหินแกะสลัก ไม่ว่าจะเป็นหยกแกะสลักเช่น พระแก้วมรกตของเรานี่เป็นหยกแกะสลัก พระพุทธรูปทั้งหลายที่เป็นวัตถุแท้ที่จริงแล้วเป็นเครื่องบ่งชี้ เตือนสติเราให้เราระลึกถึงอะไรบางอย่างที่ไปพ้นจากวัตถุธรรมพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นมนุษย์ ก็เป็นสัญลักษณ์บ่งชี้ให้เรานึกถึง ระลึกถึงธรรมะวิเศษอันทำให้พระองค์ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นพุทธะที่แท้จริง ที่จะช่วยให้เราเป็นสรณะให้เราพ้นทุกข์ได้นั้นไม่ใช้พระพุทธเจ้าที่เป็นมนุษย์เดินดิน ไม่ใช่พระพุทธรูปที่เป็นวัตถุสิ่งของ แต่เป็นคุณวิเศษ เป็นคุณสมบัติพิเศษในจิตใจที่จะทำให้เรารู้แจ้งเราเชื่อว่าเจ้าชายสิทธัตถะ เมื่อพระชนม์มายุได้ 35 พรรษา เมื่อพระชนม์ได้ 35 พรรษานั้นได้ตรัสรู้ธรรม เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราเชื่อต่อไปด้วยว่าธรรมะที่พระพุทธองค์ตรัสรู้นั้นเป็นจริงทำให้พระพุทธองค์รู้แจ้ง แทงตลอด ละวางความทุกข์ได้โดยสิ้นเชิง เราเชื่อต่อไปด้วยว่า พุทธะความรู้แจ้งนั้น ความตื่นของพระพุทธะองค์นั้นแม้แต่เราซึ่ง ปฎิบัติตามพระองค์ก็สามารถจะเข้าถึงได้และข้อสำคัญองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้วางวิธีการเข้าถึงเอาไว้ ปรากฎอยู่ในมรรคมีองค์ 8 ว่าถ้าหากว่าดำเนินรอยตามนี้ เราทุกๆคนก็สามารถจะบรรลุธรรม หลุดพ้นจากการร้อยรัดเกี่ยวเกาะจากความทุกข์ได้เช่นกัน
ลำพังเราเชื่อในพระพุทธองค์อย่างเดียว
ยังไม่สามารถที่จะเป็นสรณะที่พึ่งที่ระลึกถึง
ที่จะทำให้เราหลุดพ้นได้
แต่เราจะต้องน้อมนำมาสู่ภาคปฏิบัติ
เมื่อเราเชื่อแล้ว
เราเชื่อต่อไปว่า
เราจะต้องดำเนินชีวิตของเราให้สอดคล้องกับวิถีทางที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้วางไว้เป็นแนวทาง
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเปรียบเสมือนนายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญตรัสบอกกับมนุษย์ว่ามนุษย์กำลังมีโรคร้าย
โรคร้ายของมนุษย์นั้นมีเหตุที่มา
โรคร้ายที่ว่านี้ก็คือความทุกข์
โรคร้ายที่ว่านี้
มียารักษา
ท่านก็เขียนใบสั่งยาให้
มรรคมีองค์ 8
ก็คือใบสั่งยาที่เราแต่ละคนต้องเพียรพยายามแสวงหากินยา
แล้วก็จะสามารถหายจากโรคภัยไข้เจ็บได้
พ้นจากความทุกข์ได้เช่นเดียวกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
นี่คือความเข้าใจในเรื่องพุทธะที่แท้จริงที่บอกว่า
พุทธังสะระณังคัจฉามิ
หากเรามีความเข้าใจตามนี้
เราน้อมนำพุทธะให้เกิดในจิตใจของเรา
น้อมนำพุทธะไปสู่ในภาคปฏิบัติ
เมื่อเราพูดถึง ธัมมัง
สะระณัง คัจฉามิ
ขอระลึกถึงพระธรรมเป็นที่พึ่งที่ระลึกก็เหมือนกัน
เราหมายถึงคุณสมบัติพิเศษอันทำให้บรรลุรู้แจ้งเป็นพุทธะ
ธรรมะอันประเสริฐนี้มีอยู่ทั่วไป
เป็นคำศัพท์เดียวกับคำว่าธรรมชาติซึ่งมีอยู่ทั่วไป
การเข้าถึงซึ่งความรู้แจ้งในธรรมชาตินี้
พูดเป็นนามธรรมหมายความว่าอย่างไร
ในเทปอีกม้วนหนึ่งอาตมาได้พูดไว้ว่าร่างกายของเรานี้เป็นอาจารย์ใหญ่ของเรา
หมายความว่าอย่างไร
คุณโยมที่เคยสวยสดงดงาม
บัดนี้สังขารร่างกายมันก็เสื่อมโทรมลงพิจารณาแต่ละส่วน
นัยน์ตาที่เคยสดใส
บัดนี้มันก็มัวฝ้าลง
คนบางคนไม่เคยต้องใส่แว่นตา
ตาสวยมาก
พออายุมากขึ้นก็ต้องใส่แว่นตา
คุณโยมเห็นมั๊ยว่าธรรมชาติของร่างกายของเรานั้น
มันเป็นอย่างนี้ไม่มีใครฝืนได้
มือของคุณโยมนี้เคยสวยมาก
ใส่แหวนนี่ โอ้โห!
สวยเหลือเกินผิวหนังเต่งตึง
บัดนี้มันก็เหี่ยวลง
บัดนี้มันก็กร้านขึ้น
บัดนี้มันก็คล้ำลง
นี่ก็คือครูใหญ่
นี่ก็คือธรรมชาติที่เป็นธรรมดา
มันจะเกิดอย่างนี้กับคุณโยมและมันก็จะเกิดอย่างนี้กับทุกๆคนที่มีสังขาร
เห็นไหมคะว่าครูใหญ่ของเราอยู่ที่ตัวเราเอง อริยสงฆ์ แน่นอนที่สุดเป็นที่พึ่งที่ระลึกถึงให้กับเราได้ สมมุติสงฆ์ คุณโยมก็ต้องมีปัญญาเลือกสมมุติสงฆ์ที่ไปในแนวทางที่จะมุ่งเข้าสู่ความหลุดพ้นในท้ายที่สุดเหมือนกันลักษณะนี้เมื่อเรากล่าวคำว่า พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ เมื่อนั้นแหละ เราจึงจะเป็นชาวพุทธ ในความหมายที่แท้จริง ของศัพท์ที่เราเรียกตัวเองว่า เราเป็นชาวพุทธ ความเข้าใจในเรื่อง ไตรสรณคมน์ ก็คือการยึดมั่น ถือมั่น ในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ถือว่าเป็นพื้นฐานความเข้าใจของชาวพุทธ ถ้าหากเรามีความเข้าใจเช่นนี้ หลักความคิด หลักความเชื่อ หลักการปฏิบัติของเรา ก็จะไม่เหหัน ไม่พาให้เราหลงไปไกล อาตมาดีใจที่วันนี้พวกเราลูกหลาน สมาชิกตั้งใจมาที่วัด บางคนมาไกลมาก ถ้าไม่มีความอุตสาหะ ถ้าไม่มีศรัทธา ถ้าไม่มีวิริยะ มาไม่ถึง บางคนต้องขับรถมาเป็น 200 300 กิโล เพื่อที่จะมาร่วมกันปฏิบัติธรรม สิ่งนี้ก็เป็นสิ่งที่อาตมาโมทนาด้วยอย่างยิ่ง และขอให้คุณโยมทุกคนตั้งมั่นอยู่ในความเข้าใจที่ถูกต้อง ในเรื่องไตรสรณคมน์ เพียรพยายามที่จะทำให้ตัวเองเข้ามาใกล้พระพุทธเจ้าให้มากขึ้น อาราธนาพระพุทธเจ้าให้ตรึก อยู่ในใจของเราตลอดเวลา ให้กาย วาจา ใจของเราตั้งมั่นอยู่ในพุทธะอย่างแท้จริง ไม่ใช่พุทธะเพียงแต่ริมฝีปากว่า พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ เท่านั้น แต่อาราธนาพุทธะให้เกิดขึ้นในดวงใจของเรา อาราธนาพุทธะให้ประจำอยู่ที่กาย ให้ประจำอยู่ที่วาจาตลอดเวลา เราทั้งหลายก็จะเป็นผู้ที่มีแนวทางชัดเจนในการปฏิบัติ และสามารถที่จะก้าวล่วงความทุกข์ได้ทุกคน |
กลับหน้า คำสอน |
|
วัตรทรงธรรมกัลยาณี
เลขที่ 195 ถนนเพชรเกษม
ต. พระประโทน
อ. เมืองฯ จ. นครปฐม
73000 |