![]() จากหนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ : จุดประกาย ฉบับวันศุกร์ที่ 14 มีนาคม 2546 |
|
![]() ![]() |
"ตอนที่บวชก็บอกว่าจะเพียรพยายามทำทุกข์ให้สิ้น ทำนิพพานให้แจ้งสอนให้คนพ้นทุกข์ไม่เน้นพิธีกรรม ไม่สร้างวัตถุ เพราะสังคมขาดความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับธรรมะ นั่นคืองานของพระ นี่คือปณิธานของ หลวงแม่ หรือ ภิกษุณีสงฆ์ธัมมนันทา (รศ.ดร.ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์) อดีตนักวิชาการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขณะเพิ่งเดินทางกลับจากการบวชเป็นภิกษุณีสงฆ์ที่ประเทศศรีลังกาได้ไม่นานจึงนับเป็นภิกษุณีสงฆ์รูปแรกของเมืองไทย ภิกษุณีสงฆ์ธัมมนันทา เผยความมุ่งหมายในชีวิตใต้ร่มกาสาวพัสตร์ โดยเห็นว่าศาสนา ถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างสังคมที่สำคัญและรอการเยียวยาอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะความเข้าใจในเนื้อหาสาระแท้จริงที่ไม่อิงความเชื่อ การปรับวิธีคิดในเส้นทางศาสนา หลวงแม่เห็นว่าทุกวันนี้ประชาชนต่างให้ความสนใจกับการสร้างวัตถุให้กับพระสงฆ์เพียงเพื่อหวังจะพ้นทุกข์และคติความเชื่อนี้นับวันจะฝังรากลึกจนนำไปสู่ความวุ่นวายในชีวิตของผู้คนมากขึ้น บางรายถึงกับเป็นหนี้เป็นสินสิ่งต่างๆ เหล่านี้ เกิดจากความไม่รู้ หรือรู้ก็รู้แบบรู้ไม่จริง ซึ่งการรื้อระบบทางความคิดเหล่านี้หลวงแม่จะใช้กุศโลบายในด้านการเทศน์และการบอกเล่าผ่านตัวหนังสือเพื่อดึงดูดความเข้าใจไปสู่หนทางใหม่ |
"สังคมไทย
เข้าใจศาสนาในระดับความเชื่อพื้นบ้าน
เช่นจะให้ความสำคัญกับการบวชลูกผู้ชาย
แม่จะได้เกาะจีวรลูกไปสวรรค์
ความเชื่ออย่างนี้ไม่มีในศาสนาพุทธเป็นความเชื่อของพราหมณ์
ศาสนาพุทธสอนว่า
ใครทำคนนั้นได้
ถ้าแม่อยากไปสวรรค์
แม่ต้องทำเอง
จะไปหวังเกาะชายผ้าเหลืองไม่ได้
หลวงแม่กล่าวและเพิ่มเติมว่า
ถ้าถามใครว่าศาสนาพุทธสอนว่าอะไรก็ได้แต่ยิ้มไม่ตอบว่าสอนอะไร ต่อกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยนั้น ภิกษุณีสงฆ์ธัมมนันทาบอกว่า ไม่อยากให้คนพุ่งเป้าความสนใจว่าจะมีผู้หญิงมาบวชหรือไม่เพราะไม่ว่าใครจะบวชถือเป็นเรื่องน่ายินดีด้วยกันทั้งนั้นแหละ ควรให้ความสนใจว่าในฐานะของคนที่ได้ชื่อว่าเป็นชาวพุทธนั้น เข้าใจศาสนามากสักแค่ไหน ซึ่งการยอมรับคงต้องอาศัยเวลาอีกสักระยะ ประกอบกับในเวลานี้คนไทยมีความรู้มากขึ้น เรื่องที่ใครจะมาหลอกกันนั้น ไม่สามารถทำได้แล้ว หลวงแม่รู้เพียงว่าตัวของหลวงแม่จะพยายามทำดีที่สุด ในส่วนที่ควบคุมไม่ได้ หลวงแม่ก็ไม่รู้จะทำยังไง อย่างน้อยที่สุดส่วนของเราก็ทำแล้ว ส่วนอื่นถ้าเขาไม่ทำ อันนั้นก็ทำอะไรไม่ได้ และไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ก็ขอทำตามหน้าที่ที่รับผิดชอบตามที่มีคนศรัทธาและตั้งความหวังไว้ นอกจากเปิดเผยถึงสิ่งที่จะทำให้กับพระศาสนาแล้ว กิจของสงฆ์ในเรื่อง นิสสัยสาม ได้แก่ การออกบิณฑบาต ใช้ผ้าจีวรจากผ้าห่อศพ การใช้ปัสสาวะเป็นยาได้ อีกทั้งปาราชิก 8 ข้อห้ามอย่างหนึ่งของภิกษุรีที่ห้ามผู้ชายมาแตะต้องสัมผัส และศีลอีก 311 ข้อต่างเป็นสิ่งที่หลวงแม่จะต้องปฏิบัติเช่นกัน ในการเดินทางไปบวช ณ ประเทศศรีลังกาที่ผ่านมาหมาดๆ หลวงแม่ยังเล่าถึงบรรยากาศครั้งนั้น ซึ่งมีความแตกต่างจากการบวชพระสงฆ์ค่อนข้างมาก ตอนที่บวชจะมีสงฆ์ทั้งสองฝ่ายภิกษุสงฆ์ 12 รูป และภิกษุณีสงฆ์ 10 รูป คนที่เป็นอุปัชฌาย์ฝ่ายภิกษุณีชื่อ เขมะจารี ภิกษุณีที่บวชพร้อมกันในวันนั้นมีทั้งหมดสี่คนที่เป็นชาวอเมริกันหนึ่งคนชาวพม่าสองคนและหลวงแม่เป็นคนไทยเพียงคนเดียว แต่การบวชจะมีความแตกต่างกันที่ อันตรายญิกธรรม คือสิ่งที่เป็นอันตรายต่อชีวิตนักบวชผู้หญิงมี 24 ข้อ ก็จะถามเรื่องส่วนตัว เช่น มีประจำเดือนหรือเปล่า เลือดออกกะปริดกะปรอยหรือเปล่า ถามเรื่องส่วนตัวของผู้หญิง ถ้าหากบวชไปแล้วไม่เป็นอันตรายต่อชีวิตนักบวช เมื่อถามแล้วไม่มีอุปสรรค และภิกษุณีเห็นพ้องเห็นสมควรบวชได้ก็นิมนต์พระเข้ามา แล้วแจ้งต่อคณะสงฆ์ว่า เวลานี้ คนๆ นี้ ขอบวชและ ภิกษุณีสงฆ์รับรองแล้ว ถ้าพระภิกษุสงฆ์เห็นว่าไม่มีข้อขัดข้องก็ขอให้พระภิกษุสงฆ์รับด้วย การเดินทางไปบวชในครั้งนั้นหลวงแม่ยังพบเห็นถึงความใกล้ชิดของคนศรีลังกากับศาสนา เพราะต่างพึ่งพาซึ่งกันและกัน ซึ่งคนที่ทำหน้าที่เป็นทายิกาจะรับหน้าที่ทำกันทั้งครอบครัว เพื่อถวายอาหารและดูแลภิกษุณี หากวันใดที่ตรงกับวันพระชาวบ้านจะพาลูกหลานมาอยู่ที่วัดตั้งแต่เช้าตรู่ภิกษุณีจะผลัดเปลี่ยนกันทำหน้าที่เทศนาธรรมและมีนิทานธรรมะให้กับเด็กๆ เพื่อให้ศาสนาเข้าถึงคนทุกเพศทุกวัย สังคมรูแบบนี้จะเกิดขึ้นในเมืองไทยได้หรือไม่นั้น หลวงแม่วิเคราะห์ว่า คงเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก แต่สามารถสร้างสังคมในแบบฉบับของเราเองได้ สังคมไทยเวลานี้ผู้หญิงต้องออกไปทำงาน ไม่ได้อยู่บ้าน อย่าว่าแต่ทำอาหารถวายพระเลย ทำอาหารกินเองยังเป็นไปได้ยาก จะให้ไปดูแลพระคงทำไม่ได้ แต่ในสังคมไทย เรามีคนมาช่วยงานในลักษณะนี่ต่างกันไป บางคนมาช่วยงานวันเสาร์-อาทิตย์ บางคนทำธุรกิจส่วนตัว ก็อาจจะเข้ามาดูกิจกรรม นัดกันไปซื้ออาหารมาตุนไว้ที่วัด สร้างสังคมเอื้อกัน แบบนั้นคงเป็นไปได้ วันนี้เรามีภิกษุณีสงฆ์รูปแรกของเมืองไทยแล้ว แม้หนทางการเป็นภิกษุณีสงฆ์ เพิ่งเริ่มต้น แต่ความเข้าใจในแก่นพระธรรมก็ไม่ไกลเกินเอื้อมนัก |
|
กลับหน้า บทสัมภาษณ์ | |
|
|
วัตรทรงธรรมกัลยาณี
เลขที่ 195 ถนนเพชรเกษม
ต. พระประโทน
อ. เมืองฯ จ. นครปฐม
73000 |