จากหนังสือพิมพ์ “คม ชัด ลึก” ฉบับวันจันทร์ที่ 17 มีนาคม 2546



        สามเณรีธัมมนันทา หรือ รศ.ดร.ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ อดีตนักวิชาการชื่อดังแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เดินทางไปบวชเป็นภิกษุณีแล้ว โดยมีภิกษุณีเขมะจารี ประธานภิกษุณีสงฆ์เนากาลา ประเทศศรีลังกา เป็นอุปัชฌาย์
        ภิกษุณีธัมมนันทา เปิดเผยว่าขณะนี้ได้บวชเป็นภิกษุณีหรือพระผู้หญิงแล้ว ณ วัดตะโปทานรามะยะ ประเทศศรีลังกา ซึ่งเป็นวัดเดียวกับที่เคยบวชเป็นสามเณรีเมื่อ 2 ปีที่แล้ว โดยในครั้งนี้มีสตรีจากประเทศต่างๆ มาขอบวชเป็นภิกษุณีสงฆ์ 4 รูป นอกจากนี้แล้วยังมีสามเณรีอีก 5 รูป อุโบสถที่ใช้ประกอบพิธีกรรมนั้น เป็นอุโบสถที่ใช้บวชภิกษุสงฆ์เช่นกัน แต่ในวันนั้นมีเฉพาะการบวชภิกษุณีเท่านั้น
       การเดินทางไปบวชเป็นภิกษุณีสงฆ์ ทุกขั้นตอนการบวชภิกษุณีสงฆ์มีความซับซ้อนและเข้มงวดกว่าการบวชภิกษุสงฆ์มาก โดยจะต้องได้รับการยอมรับจากภิกษุณีและพระภิกษุ ที่สำคัญก่อนบวชเป็นภิกษุณีจะต้องผ่านการทดสอบโดยใช้ชีวิตเป็นสามเณรีเป็นเวลา 2 ปี ขณะที่ฝ่ายชายซึ่งต้องการบวชเป็นภิกษุสงฆ์ไม่ต้องผ่านกระบวนการนี้
       เหตุผลที่ต้องบวชเป็นสามเณรีถึง 2 ปี เนื่องจากสภาพร่างกายของผู้หญิงสามารที่จะตั้งท้องได้ ทั้งนี้ เพื่อให้มีความแน่ใจว่าผู้ที่จะบวชไม่มีลูกในท้องติดมา เรื่องลูกติดในท้องเคยเป็นปัญหาที่ปรากฏในพุทธประวัติ ดังนั้นจึงให้ผู้หญิงฝึกปฏิบัติก่อน ช่วงที่ฝึกปฏิบัติเรียกว่าเป็น สิกขมานา ซึ่งจะได้รับอนุธรรมหกประการ แต่สมัยใหม่จะให้บวชเป็นสามเณรีเลย คือ ถือศีลสิบ แต่ในช่วงรับศีลสิบต้องระวังไม่ให้ละเมิดศีล หากละเมิดข้อหนึ่งข้อใด ต้องเริ่มนับวันใหม่
        ภิกษุณีธัมมนันทา บอกอีกว่า การเดินทางไปบวชเป็นภิกษุณีครั้งนี้ได้ศึกษาวัตรปฏิบัติต่างๆ ตั้งแต่เมื่อครั้งตัดสินใจบวชเป็นสามเณรี เมื่อ 2 ปีที่แล้ว สำหรับพิธีกรรมการบวชเป็นภิกษุณีนั้น เริ่มจากการเป็นนาคโดยใส่ชุดสีขาวเช่นเดียวกับการบวชพระในประเทศไทย จากนั้นจะต้องบรรพชาเป็นสามเณรก่อน สถานที่บรรพชาเป็นสามเณรนั้นจะบรรพชาในวิหาร โดยมีพระภิกษุสงฆ์ 12 รูป และพระภิกษุณีสงฆ์ 10 รูป ระหว่างนี้ญาติโยมสามารถนั่งอยู่ในพิธีได้ หลังจากนั้นก็ย้ายไปอุปสมบทเป็นภิกษุณีสงฆ์ในอุโบสถ ทั้งนี้ จะไม่มีการแห่รอบอุโบสถ 3 รอบ หรือ 7 รอบ เหมือนกับในประเทศไทย
        ลักษณะของอุโบสถศรีลังกาจะมีลักษณะเดียวกับอุโบสถของประเทศไทยทางตอนเหนือ ซึ่งมีขนาดเล็กมาก มีพันธสีมาเช่นเดียวกัน ส่วนวิหารนั้นจะมีขนาดใหญ่ ที่สำคัญคืออุโบสถจะตัดขาดจากภายนอก ไม่มีส่วนใดของอุโบสถเชื่อมต่อกับสถานที่ภายนอกแม้กระทั่งสายไฟฟ้าก็ยังไม่มี
        พิธีกรรมการอุปสมบท เริ่มจากการบวชกับภิกษุณีสงฆ์ก่อน โดยมีภิกษุณีสงฆ์เขมะจารีเป็นอุปัชฌาย์ ซึ่งเป็นประธานสมาคมภิกษุณีสงฆ์ของเนากาลา ส่วนพระคู่สวดนั้นจะเรียกว่าพระกัมวาจาริณี 2 รูปซึ่งทำหน้าที่เช่นเดียวกับ การกล่าวคำขานนาคของการบวชพระภิกษุสงฆ์สำหรับคำขอบวชหรือขานนั้น ใช้ภาษาบาลีเช่นเดียวกับการบวชพระในประเทศไทย แตกต่างกันตรงการออกเสียงหรือสำเนียงเท่านั้น
        พระกัมวาจาริณี 2 รูป จะเป็นผู้ดำเนินพิธีกรรมการขานนาคทั้งหมด ซึ่งจะมีการถามอันตราญิกธรรม คือสิ่งที่เป็นอันตรายต่อชีวิตนักบวชผู้หญิงมี 24 ข้อ (ภิกษุสงฆ์มี 11 ข้อ) เช่น ร่างกายมีความผิดปกติหรือเปล่า ประจำเดือนมาสม่ำเสมอหรือไม่ ฯลฯ จากนั้นก็มาถามต่อหน้าคณะภิกษุณีสงฆ์อีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้มีความมั่นใจว่ามีความบริสุทธิ์พร้อมที่จะบวชได้
        เมื่อคณะภิกษุณีสงฆ์ยอมรับ ก็จะมีการสวดรับ สุดท้ายก็ถึงขั้นของการบวชโดยพระภิกษุสงฆ์ ทั้งนี้ จะไม่มีการถามอันตรายิกธรรมอีก เพียงแต่ฝ่ายภิกษุณีรายงานให้ทราบเท่านั้น จากนั้นคณะภิกษุสงฆ์ก็จะมีการสวดรับ เมื่อเสร็จสิ้นพิธีจะมีการแต่งตั้งพระภิกษุสงฆ์ เพื่อให้นิสัย 3 และปาราชิก 8 สำหรับฉายาที่ได้นั้นเป็นฉายาเดิมเมื่อครั้งบวชเป็นสามเณรี คือ ธัมมนันทา ส่วนจีวรที่ใช้นุ่งห่มนั้นยังเป็นชุดเดียวกับเมื่อครั้งเป็นสามเณรี แต่จะมีผ้าสังฆาฏิมาผาดบ่าเมื่อทำพิธีสงฆ์
        สิ่งหนึ่งที่แตกต่างกันอย่างมาก คือ การกราบพระของศรีลังกา เรียกว่า
ไนบ่าว ซึ่งเป็นการกราบ 9 ครั้ง โดยเริ่มจากท่ายืน 3 ครั้ง กราบจากท่ากระโย่ง (กึ่งนั่งกึ่งยืน) 3 ครั้ง กราบจากท่าคุกเข่าอีก 3 ครั้ง ทุกครั้งที่กราบพระแต่ละรูปต้องกราบถึง 9 ครั้ง กว่าจะกราบหมดปวดเมื่อยพอสมควร
       
สำหรับบทบาทหลังจากการบวชเป็นภิกษุณีแล้วนั้น ภิกษุณีธัมมนันทา บอกว่า คงไม่มีอะไรแตกต่างจากในช่วงบวชเป็นสามเณรีมากนัก ยังคงจะเผยแพร่หลักคำสอนของพระพุทธเจ้าเพื่อให้พุทธศาสนิกชนหลุดพ้นจากความทุกข์ โดยเฉพาะสุภาพสตรี ส่วนการบวชสามเณรีในช่วงก่อนเข้าพรรษาที่วัตรนั้น ขณะนี้ยังบอกอะไรไม่ได้มากนัก
        อย่างไรก็ตาม ในการเดินทางไปบวชเป็นภิกษุณีในครั้งนี้ ยังมีสุภาพสตรีอีกท่านหนึ่งได้เดินทางไปบวชเป็นสามเณรีด้วย เธอคือ นางสาวนัทพร ปัทมนิรันกุล โดยได้รับฉายาว่า
“ธัมมทารี”
        สามเณรีธัมมทารี เล่าให้ฟังว่า ขณะนี้อายุ 44 ปี จบปริญญาตรีสาขาวิทยาการจัดการ จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ตั้งแต่เล็กจนโตเข้าวัดทำบุญปฏิบัติธรรมเรื่อยมา ครั้งหนึ่งเคยคิดอยากจะบวชชี แต่หลังจากได้เข้ามาช่วยงานของวัตรทรงธรรมฯ อย่างต่อเนื่อง จึงคิดอยากจะบวชเป็นสามเณรีมากกว่า เมื่อมีความพร้อมขณะเดียวกันก็ได้รับแรงสนับสนุนจากญาติพี่น้องจึงตัดสินใจบวช ส่วนการบวชเป็นภิกษุณีนั้น เธอบอกว่าเป็นเป้าหมายสูงสุดของชีวิต แต่จะต้องฝึกวัตรปฏิบัติอีก 2 ปี
กลับหน้า   บทสัมภาษณ์

 วัตรทรงธรรมกัลยาณี เลขที่ 195 ถนนเพชรเกษม ต. พระประโทน อ. เมืองฯ จ. นครปฐม 73000
โทร. (034) 258-270 โทรสาร (034) 284-315   E- mail : [email protected]
Copyright (c) 2002-2003 Thaibhikkhunis.org  All rights reserved.