บทสรุป  

         การศึกษาเรื่องการบวชภิกษุณีในประเทศไทยของคณะอนุกรรมาธิการด้านสตรี พิสูจน์ได้ว่าการบวชภิกษุณีไม่ขัดต่อพระวินัย และเป็นไปตามพุทธานุญาตขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ยังไม่เคยยกเลิกพุทธานุญาตที่ให้ภิกษุสงฆ์บวชภิกษุณี การฟื้นฟูการบวชภิกษุณีจะเป็นการส่งเสริม เสรีภาพและโอกาสในการปฏิบัติธรรมและการบรรลุธรรมของสตรีอย่างเท่าเทียมเสมอภาคกับบุรุษ อีกทั้งยังสอดคล้องกับอุดมการณ์ของรัฐธรรมนูญตลอดจนข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยความเสมอภาคของมนุษย์ การบวชภิกษุณีพึงได้รับการพิจารณาว่าเป็นสิทธิเสรีภาพของมนุษย์ในการพัฒนาตนเองและสังคมไปสู่ความดีงามที่สตรีไทยพึงกระทำได้ และรัฐไทยซึ่งมีรากฐานทางวัฒนธรรมของพุทธศาสนาอันลึกซึ้งยาวไกลควรให้การคุ้มครองและการสนับสนุน เพื่อให้สตรีไทยสืบทอดพระพุทธศาสนาในฐานะภิกษุณีตามพระธรรมวินัย ของพระพุทธองค์โดยชอบธรรม ทั้งนี้โดยต้องมีกฎหมายรับรองอย่างถูกต้องและชัดเจน เป็นไปตามสิทธิแห่งความเป็นมนุษย์ และสอดคล้องกับเจตนารมณ์ขององค์พระศาสดา

         ประเด็นทางด้านกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการบวชภิกษุณีในประเทศไทยนั้น

          จากการศึกษาพระไตรปิฎก พบว่า ไม่มีข้อขัดต่อพระวินัยแต่อย่างใด แต่ในประเด็นด้านกฎหมายนั้นต้องดำเนินการ ดังนี้

          1. ยกเลิกประกาศ พ.. 2471 ของพระสังฆราช กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์  พระพุทธศาสนาเป็นสมบัติของพุทธศาสนิกชนทั่วโลก ผู้ใดก็ตาม ไม่ว่าเพศใด ที่มีความศรัทธาเลื่อมใส และเชื่อตามพระพุทธองค์ว่าการบวชเป็นเส้นทางลัดอันนำไปสู่ความสงบสุข ความร่มเย็น และเป็นมงคลต่อชีวิตก็ย่อมเข้ามาเป็นนักบวชในพระพุทธศาสนาได้ ในความเห็นของผู้รู้ที่มาให้ข้อมูลต่อคณะอนุกรรมาธิการว่า   ประกาศของสมเด็จพระสังฆราช ที่ห้ามภิกษุสงฆ์บวชสตรีไทยเป็นบรรพชิตนั้น เป็นประกาศที่ใช้เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น ไม่ได้มีการรองรับการประกาศนี้ในระดับสากล อีกทั้งประกาศนี้ก็ไม่ได้มีบทลงโทษแต่อย่างไร หากมหาเถรสมาคมยังคงยืนยันว่าการอุปสมบทสตรีเป็นภิกษุณีโดยภิกษุสงฆ์ไทยนั้นทำไม่ได้โดยเด็ดขาด เพราะขัดต่อประกาศ พ.. 2471 นี้  ข้อยืนยันคัดค้านของมหาเถรสมาคมย่อมขัดกับพุทธานุญาต และทวนกระแสของชาวพุทธในประเทศอื่น ๆ ตามข้อสรุปในหนังสือ มิลินทปญหาฎฐกถา  ซึ่งเขียนโดยพระภิกษุชาวพม่า ที่กล่าวไว้ชัดเจนว่าการอุปสมบทสตรีเป็นภิกษุณีจะทำให้พุทธจักรของพระพุทธองค์ครบสมบูรณ์  ตามพุทธดำรัส คือ พุทธบริษัททั้ง 4

           2. การออกกฎหมายรับรองสถานภาพ การเป็นนักบวชของภิกษุณี นับเป็นสิ่งจำเป็นมากต่อการพัฒนาศักยภาพ และเป็นการสนับสนุนบทบาทของสตรีไทยในพระพุทธศาสนา การที่ได้รับความคุ้มครองและการรับรองสถานภาพทางกฎหมายจะเป็นสิ่งยืนยันสิทธิเสรีภาพและการสร้างการยอมรับจากสังคม นอกจากนี้การได้รับการรับรองสถานภาพทางกฎหมายจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งในการพัฒนาบทบาทของสตรีไทยในพระพุทธศาสนาให้มีความเข้มแข็งและเป็นที่ยอมรับของสังคม สามารถก้าวจากการปฏิบัติธรรมในระดับปัจเจกบุคคลไปสู่การรวมกลุ่มเป็น “สังฆะ” ของฝ่ายสตรี  และมีความเป็นสถาบันที่มั่นคงและเป็นปึกแผ่นต่อไป

           ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของพุทธศาสนิกชนที่จะต้องช่วยผลักดันให้มีการออกกฎหมายขึ้นมารองรับต่อสถานภาพของนักบวชสตรี สิ่งที่ต้องพิจารณาโดยเร่งด่วนนั้นคือต้องเพิ่มคำว่า “ภิกษุณี” ในร่างพระราชบัญญัติสงฆ์ฉบับใหม่

            การฟื้นฟูการบวชสตรีเป็นภิกษุณีนั้นมีรูปแบบที่ไม่ขัดกับพุทธบัญญัติ 2 รูปแบบ ดังนี้

            รูปแบบที่ การบวชภิกษุณีโดยภิกษุสงฆ์ตามพุทธานุญาตที่มีอยู่เดิม

การอุปสมบทด้วยวิธีนี้ พระภิกษุสงฆ์สามารถทำหน้าที่แทนปวัตตินีในการถามอันตรายิกกรรม และบวชได้โดยภิกษุสงฆ์เพียงฝ่ายเดียว วิธีการบวชโดยสงฆ์ฝ่ายเดียวนี้ยังมีการปฏิบัติอยู่ในประเทศจีนในปัจุบันนี้

รูปแบบที่ การบวชโดยสืบเชื้อสายภิกษุณีสงฆ์จากต่างประเทศ

ในปัจจุบันถือว่ายังมีภิกษุณีสงฆ์อยู่ในต่างประเทศหลายประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่
ประเทศศรีลังกา   ซึ่งปัจจุบันมีรูปแบบของการบวชภิกษุณีที่ชัดเจนและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล  โดยสายการบวชแล้ว

รูปแบบในข้อที่ 2 นี้ มีทางเลือกของการบวชภิกษุณีอยู่  ทาง   คือ

                1. ส่งผู้หญิงไทยที่ได้ศึกษาอบรมดีแล้วหรือถ้าเคยบวชเป็นแม่ชีมาก่อนไปบวชในประเทศศรีลังกา โดยมีสงฆ์ทั้งสองฝ่ายบวชให้ แล้วกลับมาอยู่ในประเทศไทย เมื่อครบองค์สงฆ์แล้วต่อไปก็สามารถดำเนินการร่วมกับภิกษุสงฆ์เพื่อบวชภิกษุณีรุ่นต่อ ๆ ไปได้

                2. นิมนต์สงฆ์ทั้งสองฝ่ายพร้อมกับปวัตตินี และอุปัชฌาย์จากประเทศศรีลังกามาร่วมจัดการบวชภิกษุณีในประเทศไทย เพื่อสืบเชื้อสายต่อไป เมื่อมีภิกษุณีสงฆ์แล้วต่อไปก็สามารถจัดการบวชภิกษุณีร่วมกับภิกษุสงฆ์ไทยได้

                3. นิมนต์ภิกษุณีสงฆ์พร้อมปวัตตินี จากต่างประเทศ มาทำพิธีอุปสมบทร่วมกันกับภิกษุสงฆ์ไทยเพื่อบวชภิกษุณีในประเทศไทยเพื่อสืบเชื้อสายต่อไปและในอนาคตก็สามารถทำการบวชร่วมกับคณะภิกษุสงฆ์ไทยได้ ( สำหรับทางเลือกที่ 3 นี้ สามารถทำได้ต่อเมื่อ  ยกเลิกประกาศสมเด็จพระสังฆราช กรมหลวงชินวรศิริวัฒน์ พ.. 2471 )

         . สังคมได้อะไรจากการบวชภิกษุณี

            1. สตรีได้รับการพัฒนาศักยภาพที่เท่าเทียมกับผู้ชาย

            การบวชภิกษุณีถือได้ว่าเป็นการสร้างศักยภาพของสตรีให้ได้รับการพัฒนา เป็นประชากรที่มีคุณภาพทัดเทียมกับเพศชาย  เพราะสังคมไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน  โครงสร้างของทั้งบ้านเมืองและสถาบันสงฆ์รองรับแต่เพียงเพศชายเท่านั้น  ทั้งที่เป็นฆราวาสและสมณะ  ผู้ชายอาศัยสถาบันสงฆ์เป็นที่ศึกษาเรียนรู้ปฎิบัติธรรมเพื่อให้เอื้อต่อการดำรงชีพและพัฒนาไปสู่ความดีงาม  ทำให้ผู้ชายมีเวลาและโอกาสในการทบทวนและวางแผนชีวิต  แต่เมื่อมองย้อนกลับมาดูสถานภาพของเพศหญิงแล้วจะพบว่า  เพศหญิงจะขาดโอกาสในการเรียนรู้และปฎิบัติธรรม  ส่งผลให้เพศหญิงโดยเฉพาะอย่างยิ่ง  เพศหญิงที่  มาจากครอบครัวยากจนและอยู่ในชนบทห่างไกลที่ขาดโอกาสในการศึกษาเล่าเรียนจะต้องเข้าสู่ตลาด  แรงงานตั้งแต่อายุยังน้อย ขาดทักษะในการดำรงชีวิต ทั้งทางธรรมและทางโลก  จึงต้องตกเป็นเหยื่อของสังคมอย่างง่ายดาย 

สภาพดังกล่าวนี้  นำไปสู่ปัญหาสังคมต่าง ๆ มากมาย อาทิ   ปัญหาการขายบริการทางเพศ     ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคเอดส์  ปัญหายาเสพติด  เป็นต้น  ซึ่งรัฐจำเป็นต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการแก้ปัญหาเหล่านี้  แทนที่จะมีมาตรการป้องกันซึ่งเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่า   โดยการส่งเสริมให้มีการบวชภิกษุณี เพราะจะทำให้ผู้หญิงมีโอกาสในการเข้าถึงพระธรรม มีหลักในการดำรงชีวิต  รวมทั้งมีเวลาในการทบทวนและวางแผนชีวิตเช่นเดียวกันกับผู้ชาย   ซึ่งท้ายที่สุดจะนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพที่เท่าเทียมกันกับเพศชาย 

2. ปัญหาสังคมจะได้รับการแก้ไขที่ดีขึ้น    

ในสังคมปัจจุบันสังคมไทย ได้ชื่อว่าเป็นสังคมยุค “โลกาภิวัฒน์” เป็นสังคมที่มีการพัฒนาในทุก ๆ ด้านอย่างรวดเร็ว   การพัฒนาไปอย่างรวดเร็วเช่นนี้  ส่งผลให้สถาบันต่าง ๆ ของสังคม  โดยเฉพาะสถาบันครอบครัวที่เป็นสถาบันหลักระดับรากหญ้าที่ให้การอบรมดูแลและขัดเกลาสมาชิกในครอบครัวให้เป็นคนดีมีคุณภาพ  และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศอ่อนแอลง  ครอบครัวเกิดความแตกแยกเกิดเป็นปัญหาของสังคมต่าง ๆ  ไม่ว่าจะเป็นปัญหายาเสพติด ปัญหาขายบริการทางเพศ ปัญหาเหล่านี้จะบรรเทาและคลี่คลายลงได้  ถ้ามีภิกษุณีในสังคมไทย  เพราะภิกษุจะเป็นที่ปรึกษาทางจิตใจให้กับสตรี เด็กและให้กับสังคมครอบคลุมกว่าพระภิกษุ  เนื่องจากบางเรื่องเป็นเรื่องที่ไม่กล้าเปิดเผยกับภิกษุ  เช่น เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ซึ่งต้องการความเป็นผู้หญิงด้วยกันในการรับฟังและแก้ไข   จึงจะทำให้ครอบครัวไทยมีความอบอุ่นและเป็นสุขมากขึ้น  ส่งผลให้สังคมโดยรวมมีความสุขสงบปราศจากปัญหาทางสังคม

            3. สังคมไทยจะได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ 

 ที่ผ่านมาสังคมไทยปิดกั้นโอกาสของสตรีในการเข้ามาปฎิบัติธรรมในฐานะภิกษุณี   สตรีไทยไม่มีโอกาสที่จะใช้ชีวิตในทางธรรมได้อย่างอิสระเป็นตัวของตัวเองแต่ต้องพึ่งพิงขึ้นอยู่กับผู้ชายเท่านั้น สิ่งเหล่านี้เป็นการปิดกั้นสิทธิความเสมอภาคแห่งชายหญิง  เป็นการเลือกปฎิบัติอย่างแท้จริง    สังคมโลกในปัจจุบันต่างก็ยอมรับสิทธิความเสมอภาคระหว่างชายหญิง และจะร่วมกันประณามประเทศที่ยังมีการเลือกปฎิบัติที่ไม่เท่าเทียมกัน          ดังนั้น หากสังคมไทยมีการบวชภิกษุณีแล้ว ย่อมได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ   ตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฎิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบที่ประเทศไทยได้ร่วมลงนามเป็นภาคี เมื่อปี พ.. 2528 ที่ไม่มีการแบ่งแยก การกีดกัน หรือการจำกัดใด ๆ เพราะเหตุแห่งเพศ 

             4. สถาบันพระพุทธศาสนา มีความเข้มแข็งมากขึ้น

 ในปัจจุบันพระพุทธศาสนาในประเทศไทยกำลังเผชิญวิกฤตศรัทธานานัปการ  ยิ่งถ้าหากไม่ รีบเร่งแก้ไขแล้วพระพุทธศาสนาอาจถึงกาลเสื่อมสูญจากประเทศไทยได้    การบวชภิกษุณีจึงเป็นหนทางที่จะกู้วิกฤตนี้  เพราะการบวชภิกษุณีเป็นการทำให้พระพุทธศาสนามีความเข้มแข็งมากขึ้นและพุทธบริษัทครบองค์ 4   อันเป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระพุทธเจ้า  ซึ่งในปัจจุบันเรายังขาดภิกษุณีอันเป็นพุทธบริษัทหนึ่งของพระพุทธศาสนา  ดังนั้นการแก้ไขปัญหาหรือการส่งเสริมพระพุทธศาสนาจึงยังไม่บริบูรณ์ครบทุกด้าน

        . ข้อเสนอแนะในการฟื้นฟูสถาบันภิกษุณีสงฆ์

           1. เผยแพร่ประชาสัมพันธ์รายงานการศึกษาเรื่อง “ การบวชภิกษุณีในประเทศไทย ” สู่ชุมชนทั้งในชุมชนเมืองและชุมชนชนบท

           2. สนับสนุนให้คณะสงฆ์ ตลอดทั้งนักวิชาการ ทำการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมเกี่ยวกับภิกษุณีตามแนวทางที่คณะอนุกรรมาธิการด้านสตรีได้จัดทำไว้ เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่เป็นเอกภาพ และคณะสงฆ์จะได้เป็นพลังสนับสนุนให้มีการบวชภิกษุณีต่อไป ประเด็นการศึกษาที่สำคัญประเด็นหนึ่ง คือ     มาตรการในการกลั่นกรองผู้ขอบวชและการกำกับดูแลให้นักบวชหญิงปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ

           3. ติดตามผลการศึกษาของมหาเถรสมาคมและมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง 2 แห่ง เกี่ยวกับการบวชภิกษุณีตามที่นายวิษณุ  เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีได้ตอบกระทู้ไว้

           4. ในระหว่างที่ยังไม่มีการบวชภิกษุณีรัฐบาลควรจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนกิจกรรมด้านการศึกษาเรียนรู้ของแม่ชีและอุบาสิกา เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมเสมอภาคที่ใกล้เคียงกับแนวปฏิบัติที่รัฐดำเนินการกับภิกษุสามเณร  ซึ่งแต่ละรูปจะได้รับเงินอุดหนุนจากกระทรวงศึกษาธิการจำนวน   6,000  บาทต่อปี ( ข้อมูลจากจดหมายข่าวปาจารยสาร ธรรมานุรักษ์  ปีที่ ฉบับที่ 11 มิถุนายน 2544 )

            5. สนับสนุนให้เพิ่มเติมเนื้อหาเกี่ยวกับภิกษุณีสงฆ์ในหลักสูตรการเรียนรู้เรื่องพระพุทธศาสนาในทุกระดับ

            6. ส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนได้ศึกษาพระธรรมคำสอนของพุทธศาสนาให้ลึกซึ้ง เพื่อจะได้เข้าใจในเจตนารมณ์ของพระพุทธองค์ในเรื่องพุทธบริษัท 4

7. ยกเลิกกฎ ระเบียบ ที่ไม่เป็นธรรมต่อการฟื้นฟูการบวชภิกษุณี เพื่อให้พระพุทธศาสนาในประเทศมีความเป็นสากลเท่าเทียมอารยประเทศในการส่งเสริมบทบาทและการมีส่วนร่วมของสตรีในการปฏิบัติธรรมและการบวช

8. กำชับให้เจ้าหน้าที่ของรัฐให้การปฏิบัติต่อนักบวชสตรี  ซึ่งได้ทำการบวชอย่างถูกต้องในนิกายอื่น

            9. ปรับเปลี่ยนทัศนะของสังคมให้เห็นว่าการศึกษาปฏิบัติธรรมของสตรีเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกเพศทุกวัย  ซึ่งถ้ากระทำในกรอบของรัฐธรรมนูญแล้วย่อมต้องได้รับการยอมรับ

         ความส่งท้าย

         คุณค่าของพุทธศาสนามิได้มีต่อเฉพาะสังคมไทยเท่านั้น  แต่ยังมีคุณค่าอเนกอนันต์ต่อมนุษยชาติ ดังจะเห็นได้จากการที่ชาวต่างประเทศทั้งหญิงและชายได้เกิดความศรัทธาเลื่อมใสเข้ามาศึกษาปฏิบัติและทำการบวชมากขึ้นเรื่อยๆ องค์การสหประชาชาติได้ให้การยอมรับบทบาทของพุทธศาสนาในการสร้างสันติสุขและสันติภาพของโลก ดังจะเห็นได้จากการประกาศให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของโลก ประเทศไทยมีจำนวนประชากรที่เป็นพุทธศาสนิกชนที่มากที่สุดในโลก อีกทั้งพระมหากษัตริย์ต้องทรงเป็นพุทธมามกะ จึงกล่าวได้ว่าประเทศไทยได้สืบทอดมรดกทางพระพุทธศาสนามาจากดินแดนเก่าแก่ดั้งเดิม ดังนั้นจึงควรรักษาสถานะและบทบาทความเป็นผู้นำทางด้านนี้ จากการศึกษาค้นคว้าถึงกำเนิดความเป็นมาของภิกษุณีโดยคณะอนุกรรมาธิการด้านสตรีเป็นการศึกษาอย่างรอบด้านจากเอกสารและจากการรับฟังความคิดเห็นของผู้รู้ซึ่งการศึกษาดังกล่าวทำให้ได้ข้อสรุปว่าสังคมไทยยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการบวชภิกษุณีมาเป็นเวลาช้านาน โดยเข้าใจว่าการบวชภิกษุณีขัดต่อพระธรรมวินัยการเชื่อโดยยึดถือและฟังกันต่อ ๆ มาเช่นนี้ขัดแย้งต่อหลักกาลามสูตรอันเป็นคำสอนที่สำคัญของพระพุทธองค์ ดังนั้นถ้าคณะสงฆ์และฝ่ายบ้านเมืองเห็นพ้องต้องกันว่าการบวชภิกษุณีนอกจากจะไม่ขัดต่อพระวินัยแล้วยังสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่เคารพต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิงอีกด้วย ดังนั้นสถาบันสงฆ์และรัฐควรจะสนับสนุนซึ่งกันและกันให้มีการฟื้นฟูการบวชภิกษุณี สถาบันภิกษุณีเป็น “สังฆะ” ที่จะส่งเสริมสิทธิและโอกาสของสตรีในการฝึกฝนพัฒนาตนด้วย “ระบบบวชเรียน” และทำให้สตรีสามารถใช้ศักยภาพในทางธรรมของตนเพื่อความอยู่รอดของสังคมไทยและมนุษยชาติ

        การบวชสตรีเป็นภิกษุณีเป็นเจตนารมณ์ ที่แท้จริงของพระพุทธองค์ ที่ทรงดำริไว้แล้วตั้งแต่ได้ตรัสรู้ใหม่ ๆ ขณะที่ประทับใต้ต้นอชปานิโครม ไม่มีใครที่จะบีบบังคับให้พระพุทธองค์ทรงหันเหจิตใจได้ ดังนั้น การที่พระพุทธองค์ ทรงให้สตรีบวชในพระพุทธศาสนาได้ คงต้องเป็นสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงมีความเชื่อมั่นในศักยภาพของสตรีแล้วว่า การเปิดโอกาสให้สตรีเข้าสู่ศาสนจักรในฐานะ “ ภิกษุณี ” นั้นเป็นเส้นทางลัด เพื่อประโยชน์ต่อตัวสตรีเอง และต่อสังคมโดยรวม

 

         บทที่ 1 เหตุผลและความจำเป็นของการศึกษา 
          
บทที่
2 กำเนิดและวิธีการบวชภิกษุณี 
          
บทที่ 3 การเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปยังดินแดนอื่นและมายังประเทศไทย  
          
บทที่ 4 ปัญหาและอุปสรรคเกี่ยวกับการบวชภิกษุณีในประเทศไทย  
          
บทที่ 5 บทสรุปและข้อเสนอแนะ  
กลับหน้า   ข่าวล่า

 วัตรทรงธรรมกัลยาณี เลขที่ 195 ถนนเพชรเกษม ต. พระประโทน อ. เมืองฯ จ. นครปฐม 73000
โทร. (034) 258-270 โทรสาร (034) 284-315   E- mail : [email protected]
Copyright (c) 2002-2003 Thaibhikkhunis.org  All rights reserved.