จากหนังสือพิมพ์ร่วมด้วยช่วยกัน ฉบับวันที่ 3-6 กรกฎาคม 2546


          รำลึกถึงเส้นทางต้องสู้เพื่อ
"สิทธิธรรมสตรี" ของพระมหาโพธิธรรมาจารย์ (ภิกษุณีวรมัย กบิลสิงห์) หรือที่เรียกกันว่า "หลวงย่า" แห่งวัตรทรงธรรมกัลยาณีด้วยวัย 96 ปี ซึ่งถือเป็นหนึ่งในตำนานประวัติศาสตร์ "ภิกษุณีไทย"
          ยามเช้า 07.30 น. ของวันที่ 24 มิถุนายน ที่วัตรทรงธรรมกัลยาณี
"พระมหาโพธิธรรมาจารย์หรือภิกษุณีวรมัย กบิลสิงห์" หรือที่บรรดาลูกศิษย์เรียกว่า "หลวงย่า" ได้ละสังขารอย่างสงบด้วยวัย 96 ปี หลังจากครองผ้ากาสาวพัสตร์มานานถึง 32 พรรษา
          หลังจากข่าวการละสังขารของ
"ภิกษุณีวรมัย กบิลสิงห์" แพร่สะพัดออกไป บรรดาลูกศิษย์จากทั่วประเทศทั้งพระภิกษุและฆราวาส ไม่ว่าจะเป็นที่กรุงเทพฯ ชลบุรีหรือที่เชียงใหม่ ที่ได้ทราบข่าวได้เดินทางมายังวัตรทรงธรรมกัลยาณีเพื่อร่วมกันแสดงความไว้อาลัยแก่การจากไปของภิกษุณีวรมัย กบิลสิงห์ ทุกๆ วัน
        
"พระมหาโพธิธรรมาจารย์" เดิมมีชื่อว่า "วรมัย กบิลสิงห์" เกิดเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2451 ที่ ต.หนองปลาดุก อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี เรียนจบวุฒิทางการศึกษา (วุฒิ พ.ม.) เป็นครูสอนพลศึกษาที่โรงเรียนเบญจมราชาลัย ต่อมาได้สมรสกันนายก่อเกรียติ ษัฏเสน ส.ส.จังหวัดตรัง พรรคประชาธิปัตย์ มีลูกสาวหนึ่งคนนั้นก็คือ "รศ.ดร.ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์" ซึ่งต่อมาลูกสาวก็ได้เดินตามรอยทางของผู้เป็นแม่ได้ออกบวชในพระพุทธศาสนาได้ฉายาว่า "ภิกษุณีธัมมนันทา"
         
"ภิกษุณีวรมัย กบิลสิงห์" เป็นสตรีไทยที่มีความเลื่อมใสศรัทธาอย่างแรงกล้าในพระพุทธศาสนา ประพฤติปฏิบัติเป็นพุทธมามกะที่ดีเสมอมา ได้ออกหนังสือวิปัสสนา "บันเทิงสาร" เป็นเวลานานถึง 32 ปี แต่เนื่องจากพระพุทธศาสนาสายเถรวาทในประเทศไทยห้ามบวชสตรีไทย ภิกษุณีวรมัยจึงต้องออกบวชเป็น "พระภิกษุณี" ในสายมหายานที่ไต้หวันในปี 2514 ได้ฉายาทางธรรมว่า "พระมหาโพธิธรรมาจารย์" หรือเรียกกันว่า "ภิกษุณีวรมัย"
         
"ภิกษุณีวรมัย" ถือเป็นพระภิกษุณีรายแรกที่ได้เริ่มก่อตั้งวัตรทรงธรรมกัลยาณี ที่ จ.นครปฐม โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2499 เพื่อเผยแผ่อบรมพุทธศาสนาให้กับประชาชนทั่วๆ ไป นอกจากนี้ยังได้ทำงานด้านสังคมสงเคราะห์โดยเข้ามาช่วยเหลือเด็กและสตรีที่ได้รับความเดือดร้อนจากสังคมให้สามารถยืนหยัดและใช้ธรรมะในการแก้ปัญหาชีวิต
          เมื่อสัก 30 ปีที่แล้วหลังจากที่
"ภิกษุณีวรมัย" บินกลับมาจากไต้หวัน ก็ตกเป็นข่าวฮือฮาและตกเป็นโจทย์ของสังคมกรณีวิพากษ์วิจารณ์จนเกิดการต่อต้านจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการที่ "สตรีออกบวช" ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับที่เกิดในกรณี "นายนรินทร์ กลึง" ที่บวชลูกสาวสองคนคือ "สาระและจงรัก" เป็นสามเณร หรือเช่นเดียวกับที่เคยเกิดกับ "ภิกษุณีธัมมนันทา"
          เส้นทาง
" สิทธิธรรมสตรีไทย" ที่ถูกปลุกให้ตื่นขึ้นหลังจากคณะสงฆ์ไทยออกกฎห้ามพระภิกษุไทยออกบวชหรือบรรพาชาให้กับ "สตรีไทย" อย่างเด็ดขาด กลายเป็นระลอกคลื่นใต้น้ำนับตั้งแต่ปี 2471 เป็นต้นมาที่มี "สตรีไทย" หลายคนที่มีศรัทธาอย่างแรงกล้าในพระพุทธศาสนาต้องบินไปออกบวชเป็น "ภิกษุณี" ในต่างประเทศ ส่วนใหญ่มักจะไปจำวัดในต่างประเทศหรือไม่ก็ไปๆ มาๆ ระหว่างเมืองไทยกับต่างประเทศมีเพียง "ภิกษุณีวรมัย กบิลสิงห์" เท่านั้นที่กล้าสวนกระแสหลักของสังคมไทยในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้กับสตรีไทยและลูกหลานไทย
          ต่อมา
"ภิกษุณีวรมัย" เจริญพรรษามากขึ้น สุขภาพก็อ่อนแอลงไม่สามารถลุกขึ้นเดินเหินได้ตามปกติ ในที่สุด รศ.ดร. ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ ผู้เป็นลูกสาวได้เป็นธรรมาทายาทโดยได้ออกบวชเป็นพระภิกษุณีไทยในสายสยามวงศ์ที่ศรีลังกา โดยมีฉายาว่า "ภิกษุณีธัมมนันทา"
          สังขารของ
"ภิกษุณีวรมัย กบิลสิงห์" จะถูกเก็บไว้ที่วัตรทรงธรรมกัลยาณี เพื่อให้บรรดาลูกศิษย์และประชาชนทั่วไปมากราบคารวะ นอกจากนี้จะมีการทำบุญพิธีทางพุทธศาสนาเป็นประจำทุกสัปดาห์ จนถึงร้อยวันจึงจะมีการฌาปนกิจพิธีทางศาสนาต่อไป
          แม้
"สาระ ภาษิต (สามเณรีสาระ)" และ "ภิกษุณีวรมัย กบิลสิงห์" ได้ละสังขารจากโลกนี้ไปแล้ว แต่เส้นทางการต่อสู้เพื่อ "สิทธิธรรมสตรี" กลับลงรากอย่างมั่นคงในหัวใจสตรีไทยหลายคนที่มีใจศรัทธาในพุทธศาสนาที่ปรารถนาจะเจริญในธรรมของศาสนาและนำธรรมะกลับคืนสู่หัวใจของสังคมสืบไปในฐานะ "ภิกษุณีไทย" หนึ่งในพุทธทายาทของพระพุทธเจ้า
กลับหน้า   ข่าวล่า

 วัตรทรงธรรมกัลยาณี เลขที่ 195 ถนนเพชรเกษม ต. พระประโทน อ. เมืองฯ จ. นครปฐม 73000
โทร. (034) 258-270 โทรสาร (034) 284-315   E- mail : [email protected]
Copyright (c) 2002-2003 Thaibhikkhunis.org  All rights reserved.