ภิกษุณีโพธิสัตต์ วรมัย กบิลสิงห์ มหาเถรี
พระภิกษุณี วรมัย กบิลสิงห์ มหาเถรีฯ หรือที่เรียกติดปากลูกศิษย์ว่า “หลวงย่า” เกิดที่ตำบลหนองปลาดุก อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี มารดาชื่อ ส้มจีน เป็นคนไทยเชื้อสายเวียงจันท์ ท่านเป็นลูกคนสุดท้อง (คนที่ ๖) เกิดเวลาพระบิณฑบาตกลับของวันจันทร์ที่ ๖ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๕๑ ปีวอก
เดิมมารดาตั้งชื่อให้ว่า “วงจันทร์” เพราะเกิดวันจันทร์แต่เมื่อโตขึ้นท่านไม่ชอบ เพราะใบหน้าของท่านยาว แต่วงจันทร์นั้นชื่อบอกลักษณะกลม จึงเปลี่ยนเป็น “รมัย” พอมาสมัยจอมพลแปลก พิบูลสงคราม มีการเปลี่ยนชื่อให้สมสมัย ท่านต้องการรักษาอักษรแรกจากชื่อเดิมของสามี (เวื่อง) เป็นชื่อซึ่งคุณทวดหลวงเรืองฤทธิ์เดชะราชรองเมือง ตั้งให้ จึงเอา “ว” มาใส่ข้างหน้าชื่อของตนเป็น “วรมัย” นับแต่นั้นมา
มารดาของท่านหรือคุณแม่ส้มจีน เป็นม่ายสามีตายแต่ยังสาววัย ๓๖ ปี ได้พาลูกๆ ซึ่งเป็นลูกสาวทั้ง ๕ คน หลวงย่าเป็นคนสุดท้องขณะนั้นอายุ ๘ ขวบ ไปเช่าบ้านอยู่แถวคลองหลอด ต่อมาไปอยู่บ้านพี่สาวที่บางรัก เรียนหนังสือที่ โรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ ใกล้บ้าน ท่านมีความขยันหมั่นเพียรดีเด่น
เรื่องการศึกษาท่านต้องช่วยเหลือตัวเองมาก ต้องปากกัดตีนถีบ และได้มีโอกาสเดินทางไปปีนังโดยความอนุเคราะห์ของครอบครัวของเพื่อน และศึกษาอยู่ระยะหนึ่ง เมื่อกลับมาประเทศไทยได้เข้าเรียนพลศึกษาในเวลาเย็นหลังเวลาทำงาน เรียนมวยไทย มวยฝรั่ง ยูโด ดาบฝรั่ง ท่านทำคะแนนได้ดีเยี่ยมในวิชาดาบฝรั่ง เนื่องจากท่านรูปร่างสูงโปร่ง เวลาวางท่าการ์ดดาบฝรั่งจึงงามสง่า วิชายูโด ท่านเอามาสอนลูกๆเป็นท่าไม้ตายสำหรับเวลาในภาวะคับขันจวนตัว ลูกๆ จะเป็นยูโดท่าไม้ตายทุกคน สำหรับมวย ก็ถึงกับมีค่ายมวยขนาดย่อมที่บ้านพักซอยร่วมจิต ถนนนครชัยศรี ท่านสอบได้ประโยคครูผู้สอนพละศึกษาโท คะแนนดีมากติด ๑ใน ๓ คนแรก นับว่าเป็นครูพละศึกษาผู้หญิงคนแรกของประเทศไทย มีหนังสือพิมพ์ ๒-๓ ฉบับขอสัมภาษณ์และขอถ่ายรูปด้วย
บุคลิก – ลักษณะ
หลวงย่าเป็นคนรูปร่างสูงโปร่ง ผิวขาวใบหน้ายาว จมูกแข็งแรง โหนกแก้มสูง ตาโต ใบหูใหญ่รับกับใบหน้า เมื่ออายุท่านมากขึ้น ติ่งหูดูยิ่งยาวพลิ้วนิ่มนวลขณะหันซ้ายขวา ยิ่งเห็นชัดเวลาท่านออกไปทำบุญโปรดวิญญาณตามต่างจังหวัดและเมื่ออยู่ในที่สว่างโล่ง ดูเป็นบุคคลพิเศษที่น่าทึ่งและน่าอัศจรรย์ แต่ริมฝีปากนั้นยิ้มยาก เวลายิ้มมุมปากจะยกสันโหนกแก้มขึ้นสูง แต่ไม่เห็นฟันบน
อุปนิสัย
ท่านมีความเข้มแข็งหาคนเทียมได้ยาก คิดจะทำอะไรแล้วไม่ว่าเหนื่อยยากเพียงใด ก็จะทำจนเสร็จเสมอ ทำอะไรว่องไว คิดแล้วทำเลย กับลูกๆท่านจะดุมาก ใครทำอะไรไม่ถูกต้องจะถูกดุเสมอ เป็นคนเจ้าระเบียบ เวลารับประทานอาหารด้วยมือจะสอนลูกๆไม่ให้อาหารเปื้อนนิ้วเกินหนึ่งองคุลี ผลไม้ต้องปอก คว้านเมล็ด แกะสลักอย่างฝีมือดีและเรียบร้อยลูกผู้หญิงต้องจัดดอกไม้เป็น ถ้านุ่งผ้าถุงจะย้วยหน้าย้วยหลังไม่ได้ เวลานั่งสวดมนต์ให้ดูแถว ตั้งแถวให้เป็นระเบียบ เวลาพาไปกราบพระผู้ใหญ่ ถ้าหัวแถวนั่งพับขาไปทางขวา ลูกแถวต้องพับขาไปทางเดียวกัน
การฝีมือที่ท่านสอนนั้น ลายปักทึบด้านหน้าด้านหลังต้องเหมือนกันจะไม่มีเศษด้ายรุงรัง ปลายด้ายจะเก็บซ่อนหมด ท่านเป็นคนมัธยัสถ์ ขยันไม่เคยอยู่นิ่ง ตั้งแต่สมัยเป็นฆราวาส เริ่มสร้างโรงเรียนแม่ชีไทย ท่านสอนว่าอาหารมีกับข้าวมื้อละ ๒ อย่างก็พอ สมัยก่อตั้งวัด ลูกในวัดจะทำงานทุกอย่างเอง ตั้งแต่ปลูกผัก ขนดินสร้างอาคาร
ท่านจะใช้เวลาทำสมาธิตอนกลางคืน บางทีตื่นขึ้นมาตี ๒-๓ เพื่อทำสมาธิรักษาไข้ช่วยเหลือคนเจ็บ พอสว่างท่านก็จะทำงานบริหารภายในวัด โดยแบ่งเวลาเช้าจรดเพลเป็นเวลาเขียนหนังสือ แต่ท่านจะมีแขกมาหาตลอดเวลา นานๆ จึงจะเห็นท่านได้เอนหลัง และตอนเย็นท่านจะตรวจงานภายในวัตร
จะเห็นว่าความรู้ที่ท่านได้รับและให้ ต่างกันอย่างมาก คือ จากการเป็นนักพละ เป็นแม่บ้านแม่เรือนสอนวิชาเย็บปักถักร้อย ร้อยมาลัย แกะสลัก คว้านเมล็ดผลไม้ สานกระเป๋าหวาย ถักนิตติ้งที่ต้องงดงาม มือเบาและเป็นผู้ดี ดูเหมือนว่าขัดแย้ง แต่ก็ลงตัวสมบูรณ์ในตัวท่าน และความที่มีจิตวิญญาณของครู ท่านจึงได้ถ่ายทอดให้ลูกๆที่เคยอยู่กับท่าน ลูกๆก็รับได้บ้าง ไม่ได้บ้างมากบ้างน้อยบ้างตามภูมิของแต่ละบุคคล เหมือนฝนที่ตกมาเท่าๆกัน แต่ต้นหญ้าก็เติบโตเป็นได้เพียงต้นหญ้า ในขณะที่ต้นสักก็เติบโตเป็นต้นสัก
ชีวิตการทำงาน
เมื่อกลับจากปีนังท่านสอบเทียบครู พ.ป.(พิเศษประโยคประถม) และ พ.ม.(พิเศษประโยคมัธยม) โรงเรียนแรกที่ท่านเข้าสอน ในตำแหน่งครูใหญ่ คือโรงเรียนมหัสดัม โรงเรียนของชาวมุสลิมแถวบางรัก และเป็นครูพิเศษให้กับ โรงเรียนเบญจมราชาลัย กรุงเทพฯ สอนวิชาพละศึกษา
เมื่อแต่งงานกับนาย ก่อเกียรติ (เวื่อง) ษัฎเสน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตรัง ท่านได้สอบและขอย้ายไปประจำโรงเรียนสตรีประจำจังหวัดตรัง สอนวิชาพละศึกษา และภาษาไทย ระดับม.๕-๖
ไปสิงคโปร์โดยจักรยาน
พ.ศ.๒๔๗๕ ท่านเดินทางไกลโดยจักรยาน ไปกับคณะลูกเสือสวนกุหลาบ โดยมีอาจารย์นำไป ใช้เวลาเดินทางทั้งหมด ๒๙ วัน โดยแต่ละวันมีที่หมายปลายทางสำหรับพักแรม ต่างคน ค้างไปจะพบกันก็เป็นตอนค่ำตามจุดที่นัดหมาย ระหว่างทางที่ท่านเดินทางเพียงลำพัง ต้องเผชิญกับเสือในป่า อาบน้ำในหนองน้ำที่มีจระเข้ หรือไปขอนอนกับชาวบ้านในป่า ท่านภาคภูมิในประสบความสำเร็จ ที่เข้าไปในเขตมาลายูได้ก่อนคนอื่นๆ นายอำเภอสะเดา ขุนอารียราชการันย์มอบปากกาอย่างดีให้เป็นรางวัลแก่ น.ส. รมัย กบิลสิงห์ เมื่อวันที่ ๑๖ เม.ย.๒๔๗๕
ท่านต้องการสอนแบบอย่างให้นักเรียนเห็นว่า ในการทำงานนั้นหากมีความตั้งใจมั่น หญิงและชายสามารถทัดเทียมเหมือนกัน
ชีวิตการแต่งงาน
น.ส. รมัย กับนาย ก่อเกียรติ ษัฎเสน อายุเท่ากัน พบกันสมัยที่เรียนพลศึกษา แต่ น.ส. รมัย เป็นนักเรียนรุ่นพี่ ท่านก่อเกียรติเทิดทูนและผูกสมัครรักท่านอยู่ถึง ๘ปี แต่ท่านไม่เล่นด้วยเพราะท่านก่อเกียรติเป็นคนมีฐานะ แต่ น.ส. รมัย ส่งเสียตัวเองตั้งแต่เล็ก รู้คุณค่าของเงินทุกบาททุกสตางค์และต้องดูแลเรื่องการเงินอย่างรอบคอบ
เนื่องจากท่านเป็นนักพละหญิงคนแรก จึงได้รับเชิญไปแสดงยูโดในจังหวัดต่างๆ ครั้งนั้นเบาะที่ปูพื้นไม่เรียบร้อย ท่านสะดุดเบาะล้ม เส้นโลหิตที่เข้าสู่ปอดขาด ท่านเจ็บแทบขาดใจแต่แข็งใจลุกขึ้นมาคำนับตามท่าของพละ และฉากปิดลงด้วยดี แต่ท่านต้องเข้าโรงพยาบาล เลือดออกเป็นกระโถน ใครๆนึกว่าท่าน เป็นวัณโรค ไม่กล้ามาเยี่ยม บุคคลที่ไปมาหาสู่คือท่านก่อเกียรติ ษัฎเสน รุ่นน้องพละ ขณะนั้นญี่ปุ่นกำลังชนะสงครามรัฐบาลญี่ปุ่นมีนโยบายที่จะผลิตประชากรสายพันธุ์ใหม่ ที่มีคุณภาพยิ่งขึ้นกว่าเดิม โดยการขอสาวไทยที่มีการศึกษาดีจำนวน ๒,๐๐๐ คน ให้แต่งงานกับทหารญี่ปุ่นที่เข้มแข็ง อดทน ช่วงนี้เองท่านอยู่ในข่ายสาวไทยที่ว่านี้ อาจารย์ใหญ่เรียกท่านไปพบเพื่อแจ้งข่าว ถามท่านว่ามีใครที่สมัครรักใคร่อยู่แล้วหรือไม่ท่านจึงรีบตอบรับว่ามีความมั่นหมายอยู่กับท่าน ก่อเกียรติแล้ว ท่านทั้งสองจึงแต่งงานกันในเดือน เม.ย.พ.ศ.๒๔๘๕ ที่วังเจ้านายโดยมีคุณหลวงศุภชลาศัยเป็นประธาน
ปลาย พ.ศ.๒๔๘๗ เป็นภาวะสงครามโลกครั้งที่ ๒ ท่านตั้งท้องและคลอดบุตรี ชื่อ ฉัตรสุมาลย์
ท่านจึงลาออกจากราชการ กลับไปจังหวัดตรัง (บ้านเกิดของท่านก่อเกียรติ)เปิดร้านขายหนังสือ ชื่อ “ทศพร” และ ค้าขายเครื่องประดับ เพชรนิลจินดา
พ.ศ.๒๔๙๐ ท่านอยากให้ลูกๆมีการศึกษาดี จึงอพยพเข้ากรุงเทพ ท่านสนใจงานประชาสัมพันธ์มาตั้งแต่วัยเด็ก เรื่องที่เขียนและส่งไปโรงพิมพ์ ได้คัดเลือกตีพิมพ์ครั้งแรก เมื่อท่านมีอายุ ๑๗ ปี ท่านจึงเขียนหนังสือมาตลอดชีวิต มาเลิกเขียนใน พ.ศ.๒๕๓๔ เมื่ออายุได้ ๘๔ ปี
ขณะที่ท่านก่อเกียรติเป็นนักการเมืองอยู่ในรัฐสภา นางวรมัย ทำหน้ามี่เป็นนักข่าวเขียนข่าวการเมือง ในตำแหน่งรองบรรณาธิการหนังสือ “ไทยใหม่วันจันทร์”รายสัปดาห์ นวนิยายเรื่องเจ้าหญิงพลาเลิศ หนังสือแนวเฟมินิสต์ หนังสือ เพชรนิลจินดา ตำรานวรัตน์ ที่แนะนำให้ผู้อ่านได้รู้จักวิธีดูเพชร ทับทิม มรกต บุษราคัม ฯลฯ นับว่าเป็นตำราอัญมณีเล่มแรกของประเทศไทย ที่ได้รับความนิยมสูงในสมัยนั้น หนังสือท่องเที่ยวผจญภัยก็ได้เกิดขึ้นในบรรณภพในช่วงนี้เอง
การหักเหของชีวิต
พ.ศ. ๒๔๙๗ เมื่ออายุท่านได้ ๔๒ ปี ท่านเจ็บหนักในช่องท้อง นายแพทย์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ตรวจพบว่าท่านมีเนื้องอกในมดลูก ต้องเตรียมตัวเพื่อผ่าตัด แม่ชีทองสุก จากวัดปากน้ำภาษีเจริญมาเยี่ยม ท่านได้ฝากเงินทำบุญไป วันรุ่งขึ้น แม่ชีกลับมาบอกว่าหลวงพ่อสด วัดปากน้ำภาษีเจริญ รักษาให้แล้วไม่ต้องผ่า แต่หลวงย่าท่านเป็นคนสมัยใหม่ เวลาคุณหมอตรวจท่านสัมผัสกับเนื้องอกนั้นได้เอง ครั้นวันรุ่งขึ้นท่านตัดสินใจรับการผ่าตัดจริงๆ ก็ยังความประหลาดใจให้แก่คณะแพทย์และพยาบาลเพราะไม่พบก้อนเนื้องอก เท่ากับผ่าฟรี เมื่อท่านฟื้นขึ้นมาและทราบผลการผ่าตัด ท่านจึงตั้งใจมั่นว่า จะต้องค้นหาด้วยตัวเองว่าการทำสมาธิรักษาไข้นั้นได้ผลจริงอย่างไร
เดือน ก.พ. พ.ศ. ๒๔๙๗ พอท่านแข็งแรงดีแล้ว จึงเดินทางไปเรียนกับหลวงพ่อสดโดยตรง เรียนอยู่ ๒๔ วัน ได้พระธรรมกายอรหันต์ เมื่อเวลา ๑๒.๓๐ น. วันจันทร์ ที่ ๒๒ มีนาคม ๒๔๙๗ แล้วตามทบทวน ๒ ครั้ง พระธรรมกายที่ท่านได้นั้น ไม่ใช่เกศดอกบัวตูมอย่างหลวงพ่อสดสอน แต่เป็นแบบจีน พระพักตร์สี่เหลี่ยม พระเกศมีเส้นพระเจ้า จอมกระหม่อมสูงแบบจีน พระเนตรอ่อนโยนมีแววเมตตา พระโอษฐ์แย้มยิ้มอำนวยพร อ่อนโยนเหมือนมีชีวิตจิตใจ ไม่เหมือนพระพุทธรูปหล่อทั่วไปทั้งหมด ขนาดเท่าองค์พระประธานในโบสถ์ หน้าตักกว้าง ๓ วาเศษ ทรงสมบูรณ์และแข็งแรง แต่เป็นแบบจีน สว่างไปทั่วห้อง เรียนให้หลวงพ่อสดทราบท่านก็รับรอง
ท่านต่อวิชชาครูธรรมกาย การรักษาไข้ ตลอดจนการแก้อุบัติเหตุต่างๆ อีก ๕ เดือน อาจารย์จึงได้ทำพิธีเชิญพรหม และมอบสัตตรัตนะ ๗ ประการ พร้อมกับตั้งให้เป็นอาจารย์สอนตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ ๕ ก.ย. พ.ศ.๒๔๙๗
วันที่ ๑ ต.ค. พ.ศ.๒๔๙๘ เริ่มออกนิตยสารรายเดือนเพื่อเผยแพร่พระศาสนาและการปฏิบัติธรรม ชื่อ “วิปัสสนาและบันเทิงสาร” ต่อมาได้เปลี่ยนเพิ่มชื่อเป็น “พระโพธิสัตต์ วิปัสสนา และ บันเทิงสาร”
พ.ศ. ๒๔๙๘ ท่านไปเรียนรูปนาม จากวัดมหาธาตุ จ.พระนคร ภายใน ๒๘ วัน พระครูปลัดถ้วนเป็นผู้สอบอารมณ์ ได้เข้าฟังเทศน์ลำดับญาณ อันเป็นการรับว่าเรียนจบ
พ.ศ.๒๕๐๐ ท่านเรียนอานาปานสติ กับท่านเจ้าคุณวิสุทธิธรรมรังสีคัมภีร์เมธาจารย์ (ท่านพ่อลี) แห่งวัดอโศการาม
ในช่วงนี้ ท่านรู้จักหลวงพ่อหลวงปู่หลายๆ องค์ การศึกษาพระพุทธศาสนาของท่านก็เริ่มเข้มข้นขึ้น เมื่อได้อ่านพระไตรปิฎก ศึกษาเรื่องของภิกษุณีในสมัยพุทธกาล และพุทธานุญาตให้ผู้หญิงออกบวช ท่านจึงอุทิศตนรับใช้พระศาสนาด้วยกรออกบวช เมื่อวันที่ ๒ พ.ค. พ.ศ.๒๔๙๙ โดยมีท่านเจ้าคุณพระพรหมมุนี (ผิน สุวโจ) รองเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหารเป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อท่านขอถือศีลพรรพชา ท่านใส่ชุดขาวแต่ได้นำชุดเหลืองอ่อน ที่เรียกว่าสีดอกบวบ ให้อุปัชฌาย์ดู และได้เรียนท่านว่าจะใส่สีนี้ พระอุปปัชฌาย์ก็ไม่ได้ว่าอะไร
ความเป็นมาของวัตรทรงธรรมกัลยาณี
สร้างวัตรผู้หญิง สร้างโรงเรียน และการอุปสมบทเป็นภิกษุณีรูปแรก
พ.ศ.๒๕๐๑ หลวงย่าวรมัย เริ่มสร้าง วัตรทรงธรรมกัลยาณี ที่ จ.นครปฐม โดยซื้อที่ดิน ๖ ไร่ จากพระนางเจ้าอินทรศักดิ์ดิศจี พระราชินีในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) และให้นามว่า วัตรทรงธรรมกัลยาณี
วัตร แปลว่า การปฏิบัติ
วัตรทรงธรรมกัลยาณี แปลว่า การปฏิบัติของสตรีผู้ทรงธรรม
หลวงย่าลงมือสร้างพระอุโบสถโดยใช้ชื่อว่า “พระมหาปชาบดีโคตมีเถรี ศรีอุโบสถาคาร”
ล่วงมาปี พ.ศ.๒๕๑๔ อ.ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ (บุตรี) กลับจากแคนาดา จึงได้ติดต่อให้ท่านไปรับการอุปสมบทอย่างถูกต้องที่วัดซุงซาน ในเมืองไทเป โดยมีพระอาจารย์ เต้าอัน เป็นพระอุปัชฌาย์และได้ฉายาทางธรรมว่า “สือต้าเต้าฝ่าซือ”
สือ มาจากตัวย่อของ “ศากยะ” ผู้ที่บวชจะนับว่าเป็นศากยะวงศ์ทั้งสิ้น
ต้าเต้า แปลว่า มหาโพธิ
ฝ่าซือ คือ ธรรมาจารย์
คุณธีรทาสเป็นผู้เทียบฉายาเป็นภาษาไทยให้ ท่านจึงได้ฉายาว่า “พระมหาโพธิธรรมาจารย์ วงศ์ศากยะภิกษุณีโพธิสัตต์” นับเป็นภิกษุณีรูปแรกที่อุปสมบทอย่างถูกต้อง
เมื่อสร้างวัตรทรงธรรมกัลยาณีแล้ว ท่านมุ่งมั่นงานสังคมสงเคราะห์ เปิดโรงเรียนสอนลูกกำพร้าและให้การศึกษาอย่าง
เป็นระบบ จนก่อตั้งโรงเรียนราษฎร์ขึ้น ใช้ชื่อว่า “โรงเรียนธรรมาภิสมัย” สอนอนุบาลจนถึง ป.๖ นานติดต่อกันนานถึง ๔๐ ปี
นอกจากนี้ นิตยสาร “พระโพธิสัตต์ วิปัสสนา และบันเทิงสาร” ที่เผยแพร่สาระธรรมรายเดือน ที่เด่นดัง ท่านก็ยังคงดำเนินกิจการต่อมาอีก ๓๒ ปี ถึง พ.ศ.๒๕๓๐
กล่าวได้ว่า หลวงย่าท่านจะเป็นศูนย์รวมการทำงานด้านสังคมสงเคราะห์ ทั้งการแจกเสื้อผ้า ยารักษาโรค หนังสือเครื่องเรียน ท่านเดินทางไปแจกแทบทุกจังหวัดนอกจากที่ได้กล่าวมา หลวงย่าท่านยังได้ก่อตั้งอนุสงฆนี อบรมเด็กผู้หญิงให้ได้หลักใจหลายรุ่นนับได้จำนวนนับร้อย
ธรรมแห่งการบำเพ็ญเพียร
หลวงย่ามีความผูกพันในประวัติศาสตร์ชาติไทยอย่างที่สุด หากสถานที่ใดที่เคยเป็นเขตสู้รบในอดีต มีวิญญาณที่ตกค้างและติดอยู่ ไม่ได้ไปไหน ท่านจะเดินทางไปทำบุญอุทิศให้เสมอ และสอนธรรมะให้วิญญาณ ละวางความโกรธแค้น อันเป็นเหตุให้หลุดพ้นและเป็นปัจจัยให้ได้ไปอุบัติในสุคติภูมิต่อไป
สร้างวัดอุทิศแด่พระศาสนา
หลวงย่าได้มอบที่ดินให้สร้างวัดอีก ๒ วัด คือ วัดกัลยาณีทรงธรรม ริมแม่น้ำท่าจีน อ.สามพราน จ.นครปฐม เนื้อที่ ๗ ไร่
อีกแห่งหนึ่ง เพื่อเถิดพระเกียรติปฐมกษัตรีย์อาณาจักรหริภุญชัย ท่านได้ซื้อที่ดิน ๗๒ ไร่ และสร้าง “ วัตรพระนางจามเทวี “ ใน
ต.บ้านก้อ.อ. ลี้ จ.ลำพูน เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๒ ขณะนั้นอายุท่านได้ ๘๒ ปีแล้ว
วาระสุดท้าย
ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๙ ที่ท่านปลงผมบวชมา ท่านไม่เคยเจ็บหนักถึงส่งโรงพยาบาลเลย กายสังขารของท่านไม่มีโรคภัยไข้เจ็บอื่นใด แต่ความชราเข้ามาครอบงำ ร่างกายค่อยๆ เสื่อมลง จนกระทั่งวันที่ ๒ ก.ค. พ.ศ.๒๕๓๔ ตั้งแต่นั้น ท่านไม่ได้ลุกเดินอีกเลย แต่ยังลุกนั่งและฉันอาหารเองได้ ในช่วง ๒ปีสุดท้าย เมื่ออายุได้ ๙๔ ปีเป็นต้นมา ท่านจะมีเวลาตื่นน้อยมาก ส่วนมากจะหลับนานจะตื่นขึ้นมาเดี๋ยวเดียว พอฉันอาหารแล้วจะหลับต่อ ต้องคอยหาโอกาสจึงได้เข้ามาคุยกับท่าน
เย็นวันที่ ๒๓ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๔๖ ก่อนวันที่ท่านจะมรณภาพ ท่านบอกเพียงว่า “ ท่านเหนื่อย “ และเช้าวันที่
๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๔๖ ท่านก็ยังคงรู้ตัวและมีสติดีตลอดมา ครั้นผู้ดูแล บอกท่านว่า “ หลวงย่าไม่มีอะไรห่วงแล้ว อาจารย์
ฉัตรสุมาลย์ก็ได้บวชเป็นภิกษุณีแล้ว วัตรที่ลำพูนก็เสร็จแล้ว” ท่านพยักหน้ารับรู้ ปิดตาลง หัวใจเต้นช้าลง อ่อนลง ท่านจากไปอย่างสงบ เมื่อเวลา ๐๗.๔๐น. ตรงกับเวลาตกฟากเกิด หรือ พระบิณฑบาตกลับ รวมสิริอายุได้ ๙๕ ปี กับอีก ๒ เดือน ๑๓ วัน นับเป็นปูชนียบุคคลมีอายุยืนยาวถึง ๕ รัชกาล
|