คำถามที่พบบ่อย

 

จากหนังสือ “ถาม-ตอบ เรื่องภิกษุณี” และ “เส้นทางภิกษุณีสงฆ์ จากอินเดียสู่ประเทศไทย”

โดย ธัมมนันทาภิกษุณี

(อ้างอิงพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย)

 

ถาม : พระภิกษุณีเกิดขึ้นในสมัยใด เป็นองค์ประกอบขององค์กรพระพุทธศาสนาหรือไม่

ตอบ : พระภิกษุณีสงฆ์เกิดขึ้นในสมัยพุทธกาล โดยพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ผู้หญิงบวชเป็นภิกษุณี ภิกษุณีสงฆ์เป็นองค์ประกอบของพุทธบริษัท ๔ ที่พระพุทธองค์ประดิษฐานไว้ (ภิกขุนี ขันธกะ เล่มที่ ๗ วินัยปิฎก จุลวรรค ภาค ๒ ข้อ ๔๐๒-๔๐๔)

เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ใหม่ ๆ นั้น มารมาทูลขอให้พระองค์เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน พระองค์ทรงปฏิเสธ โดยกล่าวว่า จะยังไม่ทรงพิจารณาที่จะเสด็จดับขันธ์จนกว่าพุทธบริษัททั้ง ๔ อันได้แก่ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ได้ตั้งมั่นแล้ว ที่เรียกว่า ตั้งมั่นแล้วนั้น หมายความว่า พุทธบริษัททั้ง ๔ จะมีความรู้ ความเข้าใจในพระธรรมคำสอน สามารถปกป้องและเผยแผ่ได้ (มหาปรินิพพานสูตร เล่มที่ ๑๐สุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค ข้อ ๑๗๕) ในตอนนั้นยังไม่มีแม้ภิกษุสงฆ์ แสดงว่าพระองค์ทรงคิดถึงโครงสร้างของศาสนิกที่จะทำการสืบสานและถ่ายทอดพระศาสนาไว้แล้ว เพราะฉะนั้น การที่ีมีผู้กล่าวว่า พระพุทธองค์ไม่ทรงปรารถนาให้ผู้หญิงบวชเป็นภิกษุณีจึงไม่เป็นความจริง

สำหรับพุทธบริษัท ๔ นั้น ทรงมุ่งหวังให้ทุกฝ่ายได้ศึกษาพระธรรมคำสอน น้อมนำไปปฏิบัติ สามารถปกป้องพระสัทธรรม ตลอดจนนำพระธรรมคำสอนไปเผยแผ่ได้

 

ถาม : เมื่อพระแม่น้านางมหาปชาบดีทูลขออนุญาตจากพระพุทธองค์ที่จะออกบวชนั้น เหตุใดพระพุทธองค์จึงไม่ทรงอนุญาต และเหตุใดจึงทรงอนุญาตในเวลาต่อมา

ตอบ : พระนางมหาปชาบดีทรงเป็นผู้ถวายขีรธารา (น้ำนม) เลี้ยงดูเจ้าชายสิทธัตถะเมื่อยังทรงพระเยาว์ ทรงเป็นทั้งพระมารดาและพระน้านาง เมื่อพระเจ้าสุทโธทนะสิ้นพระชนม์ลง พระโอรสคือเจ้าชายนันทะก็ได้ออกเป็นพระภิกษุตามสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปแล้ว พระนางจึงทรงตั้งพระทัยที่จะเสด็จออกผนวชเช่นกัน แต่พระพุทธองค์กลับทรงห้ามโดยรับสั่งเพียงว่า “อย่าเลย อย่าขอเช่นนั้นเลย” แต่ด้วยความตั้งพระทัยมั่นของพระนาง แม้จะลำบากเพียงใด พระนางก็ทรงยืนยันที่จะบวช พระพุทธองค์ก็ทรงยืนพระดำรัสเดิม “อย่าเลย โคตมี อย่าขอเช่นนั้นเลย” พระอานนท์จึงทูลถามพระพุทธองค์ว่า ที่พระองค์ไม่ทรงอนุญาตให้ผู้หญิงออกบวชนั้น เป็นเพราะผู้หญิงไม่มีความสามารถในการบรรลุธรรมหรือ พระพุทธองค์ทรงยืนยันว่า ผู้หญิงมีความสามารถที่จะบรรลุธรรมได้เช่นเดียวกับผู้ชาย นับเป็นครั้งแรกที่ผู้เป็นศาสดารับรองอย่างเปิดเผยในความสามารถทางจิตวิญญาณของสตรี ด้วยเหตุนีั พระพุทธองค์จึงทรงอนุญาตให้พระแม่น้านางฯ ออกบวชเป็นภิกษุณี โดยรับครุธรรมเป็นพิเศษ ส่วนนางสากิยานีคือบรรดาเจ้านายฝ่ายหญิงแห่งราชตระกูลศากยะนั้น ได้รับการอุปสมบทจากพระภิกษุสงฆ์ (ภิกขุนี ขันธกะ เล่มที่ ๗ วินัยปิฎก จุลวรรค ภาค ๒ ข้อ ๔๐๒-๔๐๔)

พระแม่น้านางมหาปชาบดีโคตมี จึงนับเป็นพระภิกษุณีองค์แรกในพระพุทธศาสนา ตลอดเวลาที่เป็นพระภิกษุณีนั้น ทรงมีความมั่นคงในการปฏิบัติธรรม ต่อมาไม่นานก็ได้ทรงบรรลุอรหัตผล บรรดานางสากิยานีก็ได้บรรลุอรหัตตผลเช่นกัน

พระแม่น้านางฯ ทรงได้รับการยกย่องจากพระพุทธองค์ว่าเป็นเอตทัคคะคือ มีความเป็นเลิศในฐานะที่เป็นภิกษุณีผู้รู้ราตรีนาน การใดที่เกี่ยวกับภิกษุณีสงฆ์ พระแม่น้านางฯ จะทรงรับเป็นภาระ และหากมีข้อขัดข้อง ในการปฏิบัติ ก็จะนำความขึ้นกราบทูลขอคำแนะนำจากพระพุทธองค์เพื่อวางรากฐานให้แก่ภิกษุณี

 

ถาม : มีคำกล่าวว่า เมื่อรับผู้หญิงเข้ามาบวชแล้ว จะทำให้อายุพระศาสนาจาก ๑,๐๐๐ ปี สั้นลงเหลือเพียง ๕๐๐ ปี จริงหรือไม่

ตอบ : ในพระวินัยมีข้อความเช่นนี้ปรากฏอยู่จริง เป็นการกล่าวทำนองดักคอไว้ แต่ในย่อหน้าสุดท้าย พระพุทธองค์ทรงชี้ว่า การให้ภิกษุณีรับครุธรรม ๘ เท่ากับเป็นการแก้ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น โดยเปรียบได้กับบุรุษที่รู้ว่า น้ำจะท่วมจึงได้สร้างเขื่อนกั้นน้ำไว้ฉันใดก็ฉันนั้น (ภิกขุนี ขันธกะ เล่มที่ ๗ วินัยปิฎก จุลวรรค ภาค ๒ ข้อ ๔๐๓)

ในสมัยพุทธกาล มีภิกษุณีที่ได้บรรลุธรรมจำนวนมาก และได้รับการยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะ คือมีความเป็นเลิศในด้านต่าง ๆ ถึง ๑๓ รูป มีพระภิกษุณีที่เป็นอัครสาวิกาซ้ายขวา คือ พระอุบลวัณณาและพระนางเขมา ทำนองเดียวกับพระโมคคัลลานะและพระสารีบุตร ภิกษุณีสงฆ์เจริญควบคู่มากับภิกษุสงฆ์ในประเทศอินเดียเป็นเวลากว่า ๑,๐๐๐ ปี ดังนั้น คำกล่าวที่ว่า เมื่อรับผู้หญิงเข้ามาบวชแล้วจะทำให้พระศาสนาอายุสั้นลง ก็พิสูจน์โดยกาลเวลาว่าไม่จริง

อนึ่ง พระพุทธองค์ทรงทำนายว่า หากพระพุทธศาสนาจะเสื่อม ก็เป็นเพราะพุทธบริษัท ๔ (ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา) ไม่เคารพยำเกรงในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สิกขา และสมาธิ และเพราะพุทธบริษัท ๔ ไม่เคารพยำเกรงต่อกัน ไม่เอื้ออาทรซึ่งกันและกัน (สัทธัมมัปปฏิรูปกสูตร เล่มที่ ๑๖ สุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค  ข้อ ๑๕๖ และกิมพิลสูตร เล่มที่ ๒๒ สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต ข้อ ๒๐๑)

 

ถาม : การสืบสายภิกษุณีสงฆ์นั้นสูญสิ้นไปแล้ว ใช่หรือไม่

ตอบ : ความข้อนี้ เรามักได้ยินกันบ่อย ๆ และมักเชื่อตาม ๆ กัน โดยไม่ได้มีการตรวจสอบ สมัยพุทธศตวรรษที่ ๓ เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราชได้ส่งคณะพระธรรมทูตออกไปเผยแผ่พระธรรม ๙ สาย หนึ่งในนั้น คือพระมหินท์เถระซึ่งเป็นพระโอรสของพระเจ้าอโศกมหาราชไปประกาศพระธรรมที่ศรีลังกา เมื่อพระนางอนุฬา น้องสะใภ้ของพระเจ้าติสสะซึ่งเป็นกษัตริย์ของศรีลังกา ได้ฟังธรรมก็มีจิตเลื่อมใส ได้บรรลุพระโสดาบัน จึงขอบวชเป็นภิกษุณี

พระมหินท์เถระจึงทรงแนะนำให้พระเจ้าติสสะ ส่งทูตขึ้นไปเฝ้าพระเจ้าอโศกฯ ทูลขอนิมนต์พระนางสังฆมิตตาเถรี พระขนิษฐาของพระองค์ พร้อมคณะภิกษุณีสงฆ์ ๑๑ รูป ให้เสด็จไปศรีลังกา เพื่อประดิษฐานภิกษุณีสงฆ์ ภิกษุณีสงฆ์ในศรีลังกาเจริญเคียงคู่มากับภิกษุสงฆ์เช่นเดียวกับอินเดีย

 

ภาพจากศรีลังกาที่แสดงให้เห็นว่า พระนางสังฆมิตตาเถรี เสด็จไปศรีลังกาพร้อมคณะภิกษุณีสงฆ์

 

ในพ.ศ.๙๗๖ คณะภิกษุณีสงฆ์จากศรีลังกา โดยการนำขอพระภิกษุณีเทวสราได้รับนิมนต์ไปให้การอุปสมบทภิกษุณีจีนถึง ๓๐๐ รูป ที่วัดป่าใต้ เมืองนานกิง หลักฐานปรากฏในหนังสือ Buddhist Text Through the Ages (หน้า ๒๙๑-๒๙๕, ๑๙๖๔) โดย Edward Conze นับเป็นการสืบพระศาสนาในตะวันออกไกลเป็นครั้งแรก ภิกษุณีสงฆ์เจริญรุ่งเรืองในประเทศจีน เกาหลี และตะวันออกไกลสืบมาจนทุกวันนี้

ในพุทธศตวรรษที่ ๑๖ คณะสงฆ์ทั้งภิกษุและภิกษุณีในประเทศอินเดียหมดสิ้นลง เพราะการรุกรานของเตอร์กมุสลิม ในขณะที่คณะสงฆ์ทั้งภิกษุและภิกษุณีในประเทศศรีลังกาก็พบจุดจบในเวลาไล่เลี่ยกัน เพราะการรุกรานของกษัตริย์โจฬะจากอินเดียใต้ใน พ.ศ. ๑๕๖๐

ศรีลังกาพยายามรื้อฟื้นการสืบพระศาสนา โดยการอุปสมบทจากพระภิกษุสงฆ์จากพม่าและประเทศไทย คณะสงฆ์ที่ศรีลังกาที่เป็นปึกแผ่นและมีจำนวนมากที่สุดคือ พระภิกษุสงฆ์ที่ได้รับการบวชจากพระอุบาลี และคณะสงฆ์ที่ไปในสมัยอยุธยาตอนปลาย จึงเรียกว่าสยามวงศ์ แต่ทั้งพม่าและไทยไม่มีภิกษุณีสงฆ์ ศรีลังกาจึงไม่สามารถรื้อฟื้นภิกษุณีสงฆ์ด้วย

 

ถาม : ภิกษุณีสงฆ์สืบสายไปศรีลังกาได้อย่างไร

ตอบ : ภิกษุณีสงฆ์สืบสายไปศรีลังกาตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ ๓ ในรัชสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราชแห่งอินเดีย ตรงกับรัชสมัยของพระเจ้าเทวานัมปิยะติสสะของศรีลังกา โดยพระนางสังฆมิตตาพระธิดาของพระเจ้าอโศก เป็นปวัตตินี (อุปัชฌายาฝ่ายหญิง) เสด็จไปพร้อมคณะภิกษุณีสงฆ์อีก ๑๑ รูป ในการเริ่มต้นภิกษุณีสงฆ์ในศรีลังกา (รายละเอียดเพิ่มเติมในคัมภีร์ทีปวงศ์ แปลจากภาษาบาลีเป็นภาษาอังกฤษโดย เฮอร์มานน์ โอลเดนเบิร์ก แปลเป็นภาษาไทยโดย ธัมมนันทาภิกษุณี, มีนาคม ๒๕๕๓)

 

ถาม : มีคำทักท้วงว่า การสืบสายภิกษุณีสงฆ์จากอินเดียไปศรีลังกาเป็นการอุปสมบทที่ไม่ครบองค์สงฆ์ เป็นจริงอย่างไร

ตอบ : แท้ที่จริงแล้ว พระนางสังฆมิตตาเสด็จไปศรีลังกาโดยการทูลเชิญของพระเจ้าติสสะกษัตริย์ของศรีลังกา จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเสด็จโดยไม่ครบองค์สงฆ์ มีหลักฐานปรากฏในคัมภีร์ทีปวงศ์พงศาวดารของศรีลังกาเป็นการยืนยันว่า การอุปสมบทภิกษุณีในศรีลังกานั้นครบองค์สงฆ์ เป็นการบวชที่ถูกต้องและศรีลังกาเป็นประเทศแรกที่รับพระพุทธศาสนาโดยมีพุทธบริษัทครบทั้งสี่ สมตามเจตนารมณ์ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ภิกษุณีสงฆ์ในศรีลังกาเจริญรุ่งเรืองมาจนถึง ค.ศ. ๑๐๑๗ (พ.ศ. ๑๕๖๐) สูญหายไปพร้อมกับภิกษุสงฆ์เมื่อประเทศถูกรุกรานโดยกษัตริย์โจฬะจากอินเดียใต้

 

ถาม : ภิกษุณีสงฆ์ในศรีลังการื้อฟื้นขึ้นใหม่ได้อย่างไร

ตอบ : ในศรีลังกามีการศึกษาเพื่อรื้อฟื้นภิกษุณีสงฆ์มายาวนานกว่า ๓๐ ปี ครั้งที่ชัดเจนที่สุดคือ พ.ศ ๒๕๓๑ เมื่อสตรีชาวพุทธที่ถือศีล ๑๐ จำนวน ๒๐ รูป ในศรีลังกาได้รับการคัดเลือกจากทั้งประเทศ โดยมีพระภิกษุผู้ใหญ่เข้ามาจัดการให้ แล้วส่งไปบวชที่พุทธคยา โดยการบวชโดยสงฆ์ ๒ ฝ่าย ฝ่ายภิกษุณีที่เป็นภิกษุณีที่บวชสืบทอดมาจากศรีลังกาตั้งแต่พ.ศ. ๙๗๖ เมื่อภิกษุณีศรีลังกาออกไปบวชให้กับสตรีชาวจีนเป็นภิกษุณีคณะใหญ่

หลังจากการบวชโดยสงฆ์ ๒ ฝ่ายครั้งนั้น ภิกษุมหาเถระที่เป็นอาจารย์ของภิกษุณีได้รวมตัวกันจัดการบวชให้ภิกษุณีซ้ำ คราวนี้โดยภิกษุสงฆ์ฝ่ายเดียว แต่เป็นเถรวาทล้วน ทั้งนี้ เพื่อทำให้ภิกษุณี ๒๐ รูปที่บวชใหม่นี้ สืบสายเถรวาทอย่างถูกต้อง

การบวชโดยภิกษุสงฆ์ฝ่ายเดียวนี้ คณะสงฆ์ครั้งนั้นอ้างพุทธานุญาตจากประพุทธองค์ซึ่งปรากฏในภิกขุนี ขันธกะ จุลวรรค พระวินัยปิฎก ที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้พระภิกษุสงฆ์บวชภิกษุณีสงฆ์ แม้ว่าต่อมาจะมีการบวชโดยสงฆ์ ๒ ฝ่าย แต่การบวชโดยภิกษุสงฆ์ฝ่ายเดียวไม่มีการยกเลิก จึงสามารถนำกลับมาใช้ได้อีกในบริบทนี้ ที่ไม่มีภิกษุณีสงฆ์ฝ่ายเถรวาทเหลืออยู่แล้ว

 

นับต้องแต่พ.ศ. ๒๕๔๑ เริ่มมีการบวชภิกษุณีที่ศรีลังกา โดยการริเริ่มของพระมหานายก (เทียบเท่าสมเด็จฯ ในประเทศไทย) จึงมีการบวชภิกษุณีทุกปี เป็นจุดเริ่มต้นของสายภิกษุณีเถรวาท

 

ถามเชื่อกันว่า การบวชภิกษุณีต้องบวชโดยสงฆ์ ๒ ฝ่าย เมื่อไม่มีฝ่ายภิกษุณีแล้ว ย่อมจะมีภิกษุณีไม่ได้ ภิกษุสงฆ์เพียงฝ่ายเดียวบวชให้ภิกษุณีได้หรือไม่

ตอบ : จริง ๆ แล้ว ควรที่จะได้ เพราะจากการศึกษาประวัติการบวชภิกษุณีในสมัยพุทธกาลก็เป็นการบวชโดยสงฆ์ฝ่ายเดียว คือ ภิกษุสงฆ์บวชให้ทั้งสิ้น จนมีเรื่องหญิงนางหนึ่ง ไม่ยอมตอบอันตรายิกธรรม (อุปสรรคต่อการบวช ๒๔ ข้อ) เช่น คำถามในเรื่องส่วนตัวเกี่ยวกับเครื่องเพศ เป็นต้น ทำให้พระภิกษุที่ทำพิธีต้องชะงักการบวช เมื่อทูลถามพระพุทธเจ้า พระองค์เข้าใจปัญหา ทรงมีเมตตาแนะนำให้ภิกษุณีเป็นผู้ถามปัญหาอันตรายิกธรรมให้เสร็จเสียก่อน แล้วจึงมาบวชกับภิกษุสงฆ์ ตรงนี้เองที่พระภิกษุณีสงฆ์เข้ามามีบทบาทในการบวชภิกษุณี

ขั้นตอนจึงเป็นดังนี้ ให้ภิกษุณีสงฆ์ถามความบริสุทธิ์ในอันตรายิกธรรมเสียก่อน เมื่อนางบริสุทธิ์แล้ว ภิกษุณีผู้เป็นตัวแทนภิกษุณีสงฆ์นำความแจ้งต่อภิกษุสงฆ์ เรียกว่า บริสุทธิ์ในสงฆ์ ๒ ฝ่าย จากนั้น ภิกษุสงฆ์จึงให้การอุปสมบทต่อไป

นับแต่บัดนั้นมา ก็ถือปฏิบัติสืบต่อกันมา ว่าการบวชภิกษุณีสงฆ์ต้องทำในสงฆ์ ๒ ฝ่าย

ตรงนี้เราต้องทบทวนว่า ความเชื่อที่ว่าการบวชภิกษุณีต้องบวชโดยสงฆ์ ๒ ฝ่ายนั้น ไม่น่าจะถูกต้องตามพระบาลี อุปสมบทในภิกษุสงฆ์ แต่ให้บริสุทธิ์ในสงฆ์ ๒ ฝ่าย เพราะการอุปสมบทเป็นสังฆกรรม ทำเพียงครั้งเดียว คือ ในภิกษุสงฆ์เท่านั้น

ที่ว่าน่าจะบวชภิกษุณีสงฆ์โดยภิกษุสงฆ์ฝ่ายเดียวได้นั้น ก็คือในกรณีที่ผู้หญิงที่ขอบวชสามารถตอบปัญหาอันตรายิกธรรมแก่ภิกษุสงฆ์ได้ ภิกษุสงฆ์ก็ควรจะบวชให้นางได้ การตอบเช่นนี้เป็นการตอบตามเจตนารมย์ของพระพุทธองค์ มิใช่การถือปฏิบัติตามที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาจนกลายเป็นความคุ้นชิน แล้วใช้เป็นมาตรฐานในการปฏิบัติแต่อย่างใดไม่ หากในประเทศที่มีแต่พระภิกษุสงฆ์ และปรารถนาที่จะอุปสมบทภิกษุณีก็ยังทำได้อย่างถูกต้องตามพระธรรมวินัย ตามพุทธานุญาตที่ปรากฏในจุลวรรค แต่นางผู้ขออุปสมบทจะต้องสามารถตอบคำถามอันตรายิกธรรมแก่พระภิกษุสงฆ์ได้อย่างชัดเจน

 

ถามผู้ที่ไม่ยอมรับให้มีภิกษุณีสงฆ์ในประเทศไทยจะอ้างว่า ฝ่ายไทยเป็นเถรวาท การบวชของจีนเป็นมหายาน?

ตอบ : เถรวาทและมหายาน ต่างกันตรงการตีความหมายของพระธรรมคำสอน ส่วนการบวชนั้นเป็นการสืบสายทางพระวินัย ไม่ได้เกี่ยวกับการเป็นมหายานหรือเถรวาท ภิกษุและภิกษุณีสายมหายาน ก็ถือพระวินัยเช่นเดียวกับเถรวาท สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช พระพุทธศาสนาแบ่งออกเป็น ๑๘ นิกาย ซึ่งแตกออกจากมหายาน ๖ นิกาย จากเถรวาท ๑๒ นิกาย นิกายธรรมคุปต์ที่จีนถืออยู่นี้ คือ กิ่งนิกายเถรวาท ฉะนั้น การบวชภิกษุณีของจีน ก็มีต้นกำเนิดจากสายเถรวาท

แม้กระนั้น พระมหาเถระฝ่ายเถรวาทที่รื้อฟื้นการอุปสมบทภิกษุณีในพ.ศ. ๒๕๔๑ นั้น ตระหนักในท่าทีของเถรวาทที่ไม่ยอมรับสายการบวชของมหายาน จึงต้องทำพิธีบวชซ้ำ โดยพระภิกษุสงฆ์จากเถรวาทเท่านั้น ทิ้งช่วงมาหลายร้อยปีจนถึงสมัยปัจจุบัน เมื่อมีการศึกษาค้นคว้าปรากฏหลักฐานชัดเจห้มาเป็นภาษาอังกฤษได้  เมื่อกลับมาศรีลังกาก็ไม่สามารถรักษาคณะสงฆ์ไว้ได้ เพราะไม่อยู่กันเป็นคณะสงฆ์ ไม่มีการทำสังฆกรรมร่วมกัน ไม่มีการสวดปาฏิโมกข์ เป็นต้น

ศรีลังกามีความพร้อมมากขึ้นใน พ.ศ.๒๕๔๑  ที่น่าสนใจคือ พระมหานายก พระภิกษุผู้ใหญ่ให้การสนับสนุน  พระภิกษุสงฆ์เองเป็นคนจัดการคัดเลือกทศศีลมาตาในประเทศ  เฉพาะผู้ที่บวชมานาน มีวัตรปฏิบัติดี บวชมาแล้ว ๒๐-๓๐ พรรษา คัดส่งไปร่วมในการอุปสมบทนานาชาติที่พุทธคยา อินเดีย ซึ่งวัดโฝวกวางซันในไต้หวันเป็นเจ้าภาพ  เป็นการบวชโดยสงฆ์สองฝ่าย คือ มีภิกษุณีสงฆ์สอบถามอันตรายิกธรรม  แต่การบวชยังคงเป็นพระภิกษุสงฆ์ฝ่ายจีน ซึ่งถือวินัยธรรมคุปต์

พระมหานายก และพระมหาเถระของศรีลังกาที่ไปร่วมพิธีด้วยทั้งสิบรูป  เห็นว่า การจะกลับไปสืบภิกษุณีสงฆ์สายเถรวาทในศรีลังกายังมีอุปสรรค เพราะภิกษุสงฆ์ที่ให้การอุปสมบทไม่ใช่เถรวาท  จึงเดินทางไปสารนาถ (เพราะที่นั่นมีสีมาของเถรวาทที่วัดศรีลังกา)  จัดการอุปสมบทให้ภิกษุณีทั้ง ๒๐ รูปของศรีลังกา เป็นการอุปสมบทที่ถูกต้องในเถรวาทโดยพระภิกษุเถรวาท ตามพุทธบัญญัติที่ปรากฏในจุลลวรรค  ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลายอุปสมบทภิกษุณีทั้งหลาย (ภิกขุนี ขันธกะ เล่มที่ ๗ วินัยปิฎก จุลวรรค ภาค ๒ ข้อ ๔๐๔)

นับเป็นการเริ่มต้นการอุปสมบทภิกษุณีสายเถรวาทที่สืบต่อกันมา  เฉพาะในศรีลังกาเอง ขณะนี้ มีภิกษุณีสายเถรวาทแล้ว ๑,๐๐๐ รูป ในประเทศไทย มี ๑๐๐ รูป(เริ่มพ.ศ. ๒๕๔๖) ในอินโดนีเซีย มี ๘ รูป (เริ่มพ.ศ. ๒๕๔๓) และในเวียดนามมีประมาณ ๑๐ รูป (เริ่มพ.ศ. ๒๕๔๕)  ทั้งนี้ ไม่นับภิกษุณีต่างชาติในตะวันตกที่มารับการอุปสมบทไปจากศรีลังกาน จนแน่ใจว่าสายการบวชของภิกษุจีนนั้น แท้จริงแล้วเป็นสายการบวชที่เดิมรับไปจากศรีลังกานั่นเอง

จึงมีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางพระศาสนา โดยการอุปสมบทครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๓๑ มีการอุปสมบทภิกษุณีนานาชาติ ที่วัดซีไหล ในประเทศสหรัฐอเมริกา อีก ๑๐ ปีต่อมา ในปี ๒๕๔๑ มีการอุปสมบทนานาชาติที่วัดโฝกวงซัน ไต้หวัน มีภิกษุณีจากศรีลังกาที่ได้รับการอุปสมบท โดยสงฆ์สองฝ่าย ๒๐ รูป นับเป็นการสืบเชื้อสายการบวชภิกษุณีสงฆ์อย่างถูกต้องที่เกิดขึ้นมาในช่วงปลายศตวรรษที่ผ่านมานี้เอง หลักฐานที่สำคัญคือ ในการอุปสมบทพ.ศ. ๒๕๔๑ นั้น เป็นการบวชโดยสงฆ์สองฝ่าย ต่อมาพระมหาเถระจากศรีลังกา ๑๐ รูป ที่ร่วมในการอุปสมบทครั้งนั้น ได้ทำการอุปสมบทซ้ำให้ภิกษุณี ๒๐ รูปจากศรีลังกา เรียกว่า ทัฬหีกรรม เพื่อให้เป็นการเริ่มต้นภิกษุณีฝ่ายเถรวาทอย่างถูกต้อง แม้ว่าในการอุปสมบทครั้งนี้ มีเพียงพระภิกษุสงฆ์แต่ถือถูกต้องตามพระวินัยที่พระพุทธองค์ได้อนุญาตไว้ว่า

“ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลายอุปสมบทภิกษุณีทั้งหลาย”

(ภิกขุนี ขันธกะ เล่มที่ ๗ วินัยปิฎก จุลวรรค ภาค ๒ ข้อ ๔๐๒-๔๐๔)

ตามการสืบสายของประวัติศาสตร์แล้ว มีการสืบสายพระภิกษุสงฆ์จากศรีลังกามาประเทศไทย (ลังกาวงศ์) และจากไทยกลับไปศรีลังกา (สยามวงศ์) ส่วนสายการบวชของภิกษุณีสงฆ์จากศรีลังกาไปบวชให้ที่ประเทศจีน และจากจีนได้ย้อนกลับมาบวชภิกษุณีสงฆ์ให้ที่ศรีลังกา

ปัจจุบันการบวชภิกษุณีในศรีลังกา ก็ทำโดยคณะภิกษุสงฆ์สยามวงศ์ พระภิกษุสงฆ์เป็นผู้ยอมรับการบวชนี้ ดังนั้น การถือสายบวชจึงต้องถือตามภิกษุสงฆ์ที่เป็นผู้ทำสังฆกรรมขั้นสุดท้ายของการบวช

 

ถาม : การจำกัดสิทธิการบวชภิกษุณีในประเทศไทย โดยอ้างว่าขัดพระธรรมวินัย?

ตอบ : คณะสงฆ์ไทยเน้นว่า เราเป็นเถรวาท เถรวาทคือข้อตกลงของการปฐมสังคายนา (๓ เดือนหลังพุทธปรินิพพาน) ว่าจะไม่มีการเพิกถอนพระธรรมวินัย และไม่มีการเพิ่มเติมสิ่งใหม่ จากข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่ปรากฏในพระไตรปิฎกชัดเจนว่า พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้สตรีบวชเป็นภิกษุณีได้ และยังไม่เคยเพิกถอนการอนุญาตให้มีการบวชภิกษุณีโดยภิกษุสงฆ์ จึงเท่ากับว่าภิกษุสงฆ์ยังมีสิทธิบวชภิกษุณีอยู่เช่นเดิมตามสิทธิ์แห่งพุทธบัญญัติโดยไม่ผิดพระธรรมวินัย และเป็นการถือตามพุทธานุญาตที่มีอยู่เดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลง

ประเด็นที่ต้องตั้งคำถามคือ คำสั่งของสมเด็จพระสังฆราช พ.ศ. ๒๔๗๑ที่ห้ามไม่ให้พระภิกษุบวชผู้หญิงเป็นภิกษุณี สิกขมานา และสามเณรีนั้น เป็นบัญญัติแต่เดิมหรือเป็นบัญญัติที่เกิดขึ้นใหม่ ถ้าจะตอบว่าเป็นบัญญัติแต่เดิม ก็จะขัดกับข้อมูลทางประวัติศาสตร์ เพราะในความเป็นจริงพระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้บวชภิกษุณี ถ้าจะตอบว่าเป็นบัญญัติใหม่ ก็จะขัดกับหลักการของเถรวาท ที่ตกลงกันว่าจะไม่มีการบัญญัติเพิ่มเติม อีกประการหนึ่ง เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ คำสั่งเดิมก่อนหน้านั้นจึงน่าจะตกไปโดยปริยาย เนื่องจากขัดกับกฎหมายรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายหลัก

คำสั่งของพระสังฆราชในพ.ศ. ๒๔๗๑ ควรเป็นคำสั่งเฉพาะกาล แต่คณะสงฆ์กลับนำมาใช้เป็นเหตุผลในการปฏิเสธภิกษุณีสงฆ์ในปัจจุบัน เป็นการละเมิดสิทธิโดยชอบธรรมที่พระภิกษุสงฆ์ควรจะบวชภิกษุณีได้ และเป็นการละเมิดสิทธิที่สตรีไทยควรได้บวชโดยอ้อมใช่หรือไม่ ข้อสำคัญ ทำไมจึงอ้างเรื่องปลีกย่อยมาเป็นอุปสรรค โดยละเลยที่จะพิจารณาว่า การบวชภิกษุณีนั้นเป็นพระประสงค์ของพระพุทธเจ้า และชัดเจนยิ่งขึ้น เมื่อทรงฝากฝังพระศาสนาไว้กับพุทธบริษัททั้งสี่ อีกทั้งเมื่อศึกษาในพุทธวงศ์ ปรากฏว่าพระพุทธเจ้าในอดีต ๒๘ พระองค์ ล้วนมีพุทธสาวกเป็นพระภิกษุ และมีพุทธสาวิกาเป็นภิกษุณีทั้งสิ้น

 

ถาม : ภิกษุณีไทยได้รับผลประโยชน์จากทางการอย่างไรหรือไม่

ตอบ : เพราะไม่มีสถานภาพทางการ จึงไม่ได้รับการดูและจากรัฐบาลอย่างใดทั้งสิ้้น แต่ภิกษุณีสงฆ์ก็พยายามที่จะรักษาและปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด ภิกษุณีไม่สามารถใช้คำนำหน้านามเป็นภิกษุณีอย่างเป็นทางการได้ ไม่ได้รับการลดหย่อนค่าโดยสารเพราะไม่มีสถานภาพนักบวช สถานที่ที่ภิกษุณีอยู่ไม่ได้รับการยอมรับให้เป็นวัด ฯลฯ เหล่านี้เป็นปัจจัยที่เร่งด่วนที่ทางการควรให้ความดูแลให้สตรีสามารถปฏิบัติตนในฐานะพุทธบริษัทที่พระพุทธองค์ทรงประดิษฐานไว้

 

ถาม : ความหมายของการสืบสานพระพุทธศาสนาแบบ Socially Engaged Buddhism หรือการทำงานพระพุทธศาสนาเพื่อสังคมตามแบบฉบับของวัตรฯ นั้น หลวงแม่มีรูปแบบการปฏิบัติอย่างไร

ตอบ : นัยสำคัญของแนวคิดการสืบสานพระพุทธศาสนาแบบ Engaged Buddhism ตามแบบฉบับของวัตรฯ เราเริ่มต้นที่การพัฒนาตนก่อน สร้างฐานแห่งการพัฒนาระดับจิตวิญญาณของเราให้มีพรหมวิหาร ๔ มีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เสียก่อนเป็นการปฏิบัติธรรมส่วนตน เพื่อให้บุคคลที่อุทิศเวลาในการทำงานพระพุทธศาสนาเพื่อสังคมนั้นมีฐานแห่งธรรมะเป็นเบื้องต้น เรียกว่า สร้างประโยชน์ตน แล้วจึงสร้างประโยชน์ท่าน เมื่อพระพุทธองค์ทรงส่งพระภิกษุสงฆ์ออกไปประกาศพระศาสนานั้น ทรงประทานโอวาทไว้ชัดเจนว่า นั่นคือ ประสานคุณค่าของการมองกลับสู่ภายในจิตใจ กับคุณค่าของปฏิบัติการทางสังคมอย่างชัดเจน และนี่คือแนวคิดแบบโพธิสัตต์อย่างแท้จริงนั่นเอง

 

ถาม : หลวงแม่มองภาพรวมของภิกษุณีในพระพุทธศาสนาอย่างไร

ตอบ : การรื้อฟื้นภิกษุณีสงฆ์นั้น แม้จะเริ่มต้นที่ศรีลังกา แต่ในศรีลังกานั้น ภิกษุณีได้รับการสนับสนุนจากพระมหานายก (เทียบเท่าสมเด็จฯ ในประเทศไทย) พระมหานายกก็ยังเป็นผู้นำ จัดการอุปสมบทให้ทุกปี ภิกษุณีที่เป็นปวัตตินีของศรีลังกาก็รับนิมนต์มาบวชสามเณรีให้ที่ประเทศไทย แต่โดยภาพรวม ภิกษุณีที่ศรีลังกาเองยังไม่มีบทบาทในระดับนานาชาติ

ตรงข้ามกับในประเทศไทยที่ผู้หญิงต้องเป็นฝ่ายริเริ่มเอง อีกทั้งผู้หญิงที่ก้าวออกมาเลือกที่จะใช้ชีวิตภิกษุณีในประเทศไทยนั้น มีการศึกษา มีความรู้ความสามารถในระดับหนึ่ง การเผยแพร่ออกไปสู่ต่างประเทศจึงทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้ว่าภิกษุณีสายเถรวาทเริ่มต้นที่ศรีลังกา แต่ประเทศไทยต้องถือเป็นผู้นำในการขยายผลทั้งในประเทศเองและในต่างประเทศ

หลวงแม่เองก็เดินสายสอนธรรมะทั้งในยุโรปและอเมริกา มีลูกศิษย์ที่ตามกลับมาบวชสามเณรีทั้งชาวดัทช์ ออสเตรีย ฝรั่งเศส อเมริกัน ออสเตรเลีย มาเลเซีย และแอฟริกาใต้ นับเป็นงานสืบสานพระพุทธศาสนาในระดับนานาชาติที่เป็นรูปธรรม

ตั้งแต่พ.ศ. ๒๕๕๓ จนปัจจุบัน ภิกษุณีสงฆ์ไทยได้รับการนิมนต์ออกไปช่วยประกอบสังฆกรรมร่วมกับภิกษุณีสายเถรวาททั้งในเวียดนาม เนปาล และบังคลาเทศ เพื่อการตั้งมั่นในการรักษาพระวินัยด้วย

ขณะเดียวกันก็มีการเตรียมภิกษุณีสงฆ์และฆราวาสให้มีความเข้าใจในพระพุทธศาสนาอย่างชัดเจนมากขึ้น โดยเริ่มจากการสอนหลักสูตรพระพุทธศาสนา International Monastic Training (IMT) ในเดือนมิถุนายน เป็นเวลา ๑ เดือน เพื่อให้ภิกษุณีเหล่านี้ได้เดินทางกลับไปจำพรรษาในประเทศของตน นอกจากนี้ ในช่วงเข้าพรรษา หลวงแม่ก็สอนความรู้ในพระพุทธศาสนาและพระธรรมวินัยแก่ภิกษุณีสังฆะที่มาจำพรรษาด้วยทุกปี อีกทั้งยังมีหลักสูตรที่จะอบรมภิกษุณีให้ปฏิบัติตามพระวินัยโดยถูกต้องนับตั้งแต่การปลงอาบัติ ปวารณาในสงฆ์สองฝ่าย รับกฐิน สวดพระปาฏิโมกข์ รับฟังโอวาทจากพระมหาเถระ ฯลฯ

นี้ควรจะเป็นความภาคภูมิใจของชาวพุทธไทยได้ในระดับหนึ่ง

 
ทรงธรรมกัลยาณีภิกษุณีอาราม เลขที่ 195 ถนนเพชรเกษม ต. พระประโทน อ.เมืองฯ จ.นครปฐม 73000
โทร. (034)258-270 โทรสาร (034) 284-315 E-mail: [email protected]
Copyright (c) 2002-2006 Thai Bhikkhunis All rights reserved.


จำนวนผู้เข้าชม ตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม 2549