กดที่รูป เพื่อฟังประวัติพระไภษัชฯ จากยูทูป
ประวัติพระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาตถาคตเจ้า
พระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาตถาคตเจ้า คือ พระพุทธเจ้าที่ได้อธิษฐานไว้ว่า หากได้บรรลุธรรมเป็นพระพุทธเจ้าเมื่อใด ขอให้พุทธเกษตรของท่านปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ
แม้ว่าพระองค์ท่านจะไม่ได้เป็นมนุษิยพุทธเจ้า คือ ไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้าที่เกิดเป็นมนุษย์ ในคติฝ่ายมหายานอาจจะทำความเข้าใจอีกนัยหนึ่งได้ว่า เป็นปุคลาธิษฐานในพระคุณของพระพุทธเจ้าที่จะเยียวยารักษาเรา อีกทั้งฝ่ายเถรวาทในประเทศไทยเอง ก็มีความคุ้นเคยกันดีกับพระกริ่ง (มาจากบาลีว่า “กิง กุสโส”) ซึ่งนิยมนำมาแช่น้ำแล้วอธิษฐาน ดื่มกินเพื่อให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บ แท้ที่จริงก็คือพระพุทธเจ้าพระองค์นี้นี่เอง
พระปณิธาน ๑๒ ข้อ ของพระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาตถาคตเจ้า โดยย่อ
๑. ขอให้พระกายของข้าฯ มีรัศมีสุกสว่างไปทั่วพิภพ ขอให้สรรพสัตว์ทั้งหลายมีรูปกายที่สมบูรณ์เช่นเดียวกับข้าฯ
๒. ขอให้พระกายของข้าฯ บริสุทธิ์และมีรัศมีดุจมณีสีฟ้า ขอให้รัศมีนี้สุกสว่างดุจเดียวกับพระอาทิตย์และพระจันทร์ ส่องหนทางให้แก่ผู้ที่เดินทางอยู่ในความมือด ช่วยให้เขาเดินทางได้สะดวกขึ้น
๓. ด้วยความสามารถอันหาขอบเขตมิได้ของข้าฯ ขอให้ข้าฯ ได้ช่วยสรรพสัตว์ทั้งหลายให้สามารถแสวงหาสิ่งจำเป็นแก่ชีวิต
๔. ขอให้สรรพสัตว์ทั้งหาย ได้เข้าสู่มรรควิถีแห่งพุทธภูมิ ขอให้ทุกท่านที่อยู่ในสาวกยาน และปัจเจกพุทธยานได้เข้าถึงการปฏิบัติของมหายาน
๕. ขอให้สรรพสัตว์ได้รับการสนับสนุนให้ได้ปฏิบัติตามศีล ผู้ใดก็ตาม แม้ได้ยินพระนามของข้าฯ แม้รักษาศีลขาดตกบกพร่องไป ก็ขอให้ได้มีความบริสุทธิ์ และได้รับความคุ้มครองมิให้ตกไปสู่วิถีแห่งอบาย
๖. ผู้ที่พิการในรูปแบบใดแบบหนึ่ง แม้ได้ยินพระนามของข้าฯ ขอให้หาย
๗. ผู้ที่เจ็บไข้ได้ป่วย แม้ได้ยินพระนามของข้าฯ ขอให้หาย
๘. ขอให้ทุกคนได้ข้ามพ้นสังสารวัฏเข้าสู่ประตูนิพพาน ข้าฯ จะขจัดอุปสรรคและความสงสัยทั้งปวง
๙. สรรพสัตว์ที่ติดอยู่ในตาข่ายแห่งมาร หมกมุ่นในมิจฉาทิฏฐิ ขอให้ได้เจริญในสัมมาทิฏฐิ และปฏิบัติตามแนวทางของโพธิสัตต์
๑๐. ขอให้ทุกคนที่ต้องโทษได้พ้นทุกข์
๑๑. ขอให้ทุกคนที่ทุกข์ยากหิวโหย ขอให้มีอาหาร และขอให้เข้าถึงธรรมอันเกษม
๑๒. ขอให้ทุกคนที่ยากไร้ มีเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม
เมื่อพ.ศ. ๒๕๓๗ ขณะยังเป็นฆราวาส หลวงแม่ธัมมนันทาภิกษุณี ได้นิมิตเห็นพระไภษัชยคุรุฯ เป็นพระพุทธรูปหินแกะสลักองค์ใหญ่แบบจีน นั่งอยู่ในหุบเขา ตรงหัวเข่าขวามีประตูทางเข้าให้คนเข้าไปรักษา นิมิตนี้ชัดเจน เมื่อบวชแล้ว หลวงแม่จึงคิดว่านิมิตนั้นน่าจะเป็นโจทย์การบ้านที่พระองค์ให้หลวงแม่ ทำงานในการเยียวยารักษาผู้ที่เจ็บไข้ได้ป่วย เป็นการสืบสานงานของหลวงย่าด้วยอีกโสตหนึ่ง ลูกหลานของหลวงย่ารุ่นเก่าจะทราบดีว่า หลวงย่าท่านช่วยเหลือเยียวยาคนเจ็บป่วยแบบหลวงพ่อสด วัดปากน้ำ มาตั้งแต่พ.ศ. ๒๔๙๘
การสร้างพระไภษัชยคุรุฯ ซึ่งเป็นหมอยา จึงเกิดขึ้นเพื่อขอบารมีจากท่านให้ได้ช่วยเหลือสรรพสัตว์ที่ได้ทุกข์ด้วยโรคภัยไข้เจ็บทั้งทางกายและทางใจ ขณะเดียวกัน เป็นการสร้างบารมีสำหรับลูกหลานสายโพธิสัตต์ด้วย
การหล่อพระไภษัชยคุรุฯ เริ่มจากการที่หลวงแม่สเก็ตช์แบบที่เห็นจากในนิมิต แล้วให้ช่างศิลป์ขึ้นรูปองค์พระด้วยหุ่นขี้ผึ้ง ใช้เวลาแก้ไขปรับแต่ง ๑ ปี จึงเททองเป็นพระพุทธรูปทองเหลือง หน้าตักกว้าง ๑๐๘ นิ้ว พระวรกายสีน้ำเงิน จีวรปิดทองคำเปลว งดงาม อัญเชิญมาประดิษฐานในปี ๒๕๔๘ แล้วจึงสร้างพระวิหารคลุมองค์ท่านอีกทีหนึ่ง สถาปนิกที่ออกแบบ คือ ดร.วันชัย มงคลประเสริฐ ฉลองพระวิหารวันที่ ๖ เมษายน ๒๕๕๑ ขณะเดียวกันก็ฉลอง ๑๐๐ ปี ชาตกาลหลวงย่าด้วย
พระวิหารได้ใช้ประโยชน์เต็มที่ กล่าวคือ ใช้จัดงานบรรพชาที่นี่ปีละ ๒ ครั้ง และทุกวันพระเล็ก, ใหญ่ คณะสงฆ์มาสวดมนต์ร่วมกันมิได้ขาด อีกทั้งยังเป็นศูนย์รวมความศรัทธาญาติโยมที่มาชมวัตร เป็นพระไภษัชยคุรุฯ องค์ใหญ่ที่สุดองค์แรกในประเทศไทย
|