สตรีในพุทธศาสนาโดยเฉพาะในประเทศที่นับถือพุทธศาสนาสายเถรวาทนั้น มีความพยายามที่ออกบวชเป็นภิกษุณีมาหลายทศวรรษแล้ว แต่ยังไม่เป็นผลสำเร็จ เนื่องจากขาดความพร้อม ที่สำคัญที่สุด คือเรื่องภาษา
ในประเทศศรีลังกา ไปรับสายการอุปสมบทมาจากวัดซีไหล ในประเทศสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๑ มีทศศีลมาตา ๕ รูปเดินทางไปอุปสมบท แต่ไม่สามารถอ่านพระปาฏิโมกข์ที่เจ้าภาพให้มาเป็นภาษาอังกฤษได้ เมื่อกลับมาศรีลังกาก็ไม่สามารถรักษาคณะสงฆ์ไว้ได้ เพราะไม่อยู่กันเป็นคณะสงฆ์ ไม่มีการทำสังฆกรรมร่วมกัน ไม่มีการสวดปาฏิโมกข์ เป็นต้น
ศรีลังกามีความพร้อมมากขึ้นใน พ.ศ.๒๕๔๑ ที่น่าสนใจคือ พระมหานายก พระภิกษุผู้ใหญ่ให้การสนับสนุน พระภิกษุสงฆ์เองเป็นคนจัดการคัดเลือกทศศีลมาตาในประเทศ เฉพาะผู้ที่บวชมานาน มีวัตรปฏิบัติดี บวชมาแล้ว ๒๐-๓๐ พรรษา คัดส่งไปร่วมในการอุปสมบทนานาชาติที่พุทธคยา อินเดีย ซึ่งวัดโฝวกวางซันในไต้หวันเป็นเจ้าภาพ เป็นการบวชโดยสงฆ์สองฝ่าย คือ มีภิกษุณีสงฆ์สอบถามอันตรายิกธรรม แต่การบวชยังคงเป็นพระภิกษุสงฆ์ฝ่ายจีน ซึ่งถือวินัยธรรมคุปต์
พระมหานายก และพระมหาเถระของศรีลังกาที่ไปร่วมพิธีด้วยทั้งสิบรูป เห็นว่า การจะกลับไปสืบภิกษุณีสงฆ์สายเถรวาทในศรีลังกายังมีอุปสรรค เพราะภิกษุสงฆ์ที่ให้การอุปสมบทไม่ใช่เถรวาท จึงเดินทางไปสารนาถ (เพราะที่นั่นมีสีมาของเถรวาทที่วัดศรีลังกา) จัดการอุปสมบทให้ภิกษุณีทั้ง ๒๐ รูปของศรีลังกา เป็นการอุปสมบทที่ถูกต้องในเถรวาทโดยพระภิกษุเถรวาท ตามพุทธบัญญัติที่ปรากฏในจุลวรรค “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลายอุปสมบทภิกษุณีทั้งหลาย” (ภิกขุนี ขันธกะ เล่มที่ ๗ วินัยปิฎก จุลวรรค ภาค ๒ ข้อ ๔๐๔)
นับเป็นการเริ่มต้นการอุปสมบทภิกษุณีสายเถรวาทที่สืบต่อกันมา เฉพาะในศรีลังกาเอง ขณะนี้ มีภิกษุณีสายเถรวาทแล้ว ๑,๐๐๐ รูป ในประเทศไทย มี ๑๐๐ รูป (เริ่มพ.ศ. ๒๕๔๖) ในอินโดนีเซีย มี ๘ รูป (เริ่มพ.ศ. ๒๕๔๓) และในเวียดนามมีประมาณ ๑๐ รูป (เริ่มพ.ศ. ๒๕๔๕) ทั้งนี้ ไม่นับภิกษุณีต่างชาติในตะวันตกที่มารับการอุปสมบทไปจากศรีลังกา
ภาพการบวชภิกษุณีจำนวน ๓ รูป ที่ศรีลังกา ธ.ค. ๒๕๕๙
การอุปสมบทภิกษุณีไทยที่ศรีลังกา
สืบเนื่องจากคำสั่งมหาเถรสมาคม วันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๕๗ ห้ามมิให้มีการอุปสมบทภิกษุณีในประเทศไทย ทำให้ภิกษุไทยไม่สามารถจะเป็นอุปัชฌาย์ให้แก่ผู้ขอบวชสตรีได้ แม้ว่าฝ่ายภิกษุณีจะมีความพร้อม กล่าวคือ มีภิกษุณีที่เป็นปวัตตินี โดยการแต่งตั้งจากภิกษุสงฆ์ และครบ ๑๒ พรรษา ภิกษุณีที่จะเป็นพระอันดับก็มีครบ ๑๐ รูปอย่างต่ำ แต่การเป็นภิกษุณีจะสำเร็จที่พระภิกษุสงฆ์ เมื่อภิกษุสงฆ์ไทยถูกจำกัดสิทธิ จึงไม่สามารถให้การอุปสมบทได้
ปีที่ผ่านมา (๒๕๕๙) เครือข่ายภิกษุณีเถรวาทเอเชียได้เป็นเจ้าภาพจัดการอุปสมบทภิกษุณีนานาชาติ เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๕๙ มีผู้ขอบวช ๑๑ ท่าน ไทย ๓ เวียตนาม ๓ และ บังกลาเทศ ๖
ภิกษุณีธัมมนันทาเถรีได้เป็นปวัตตินีให้กับผู้ขอบวชชาวไทย ท่านภิกษุณีดร.หลิวฟับ เป็นปวัตตินี ให้กับผู้ขอบวชชาวเวียตนาม และท่าน สุมิตราเถรี ได้เป็นปวัตตินีให้ผู้ขอบวชชาวบังกลาเทศ
มีภิกษุณีเข้าร่วมเป็นพระอันดับ ๑๒ รูป พระภิกษุ ๕ รูปจากทั้ง ๓ นิกาย คือ สยามวงศ์ อมรปุระ และรามัญญะ จากศรีลังกา พระอุปัชฌาย์ คือท่านมหานายก โสภิตะ
สถานที่ที่ใช้จัดพิธีอุปสมบทที่สีมาน้ำ ที่ศูนย์ปฏิบัติศายธิดา ศรีลังกา ตั้งอยู่ในเมืองปานนะทุระ โดยมีภิกษุณีวิจิตตนันทา ผู้อำนวยการศูนย์ เป้นธุระในการจัดการตติดต่อทั้งภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์ให้
ฝ่ายไทย ผู้ที่ได้รับการอุปสมบท คือ ภิกษุณีธัมมฐิติ ภิกษุณีธัมมภาวิตา และภิกษุณีธัมมนภา
ในปลายปี ๒๕๕๙ วันที่ ๒๓ ธันวาคม ผู้ขอบวชจากประเทศไทยเดินทางไปศรีลังกาเพื่อขออุปสมบทอีกสามรูป คือท่าน ธัมมสุนันทา ท่านธัมมนิสภา และท่านธัมมกรุณา ได้รับการอุปสมบทจากภิกษุณี ๑๐ รูป ภิกษุ ๑๐ รูป ท่านอุปัชฌาย์ คือท่านมหานายกโสภิตะ และปวัตตินี คือ ท่านธัมมนันทาเถรี จากประเทศไทย ใช้สถานที่เดียวกัน