คำศัพท์ที่เกี่ยวกับภิกษุณี
โดย ธัมมนันทาภิกษุณี
๖ มกราคม ๒๕๖๐
ศัพท์
|
ความหมาย
|
สามเณรี
|
สตรีที่รับการบรรพชา คือบวชเป็นสามเณรี เป็นการบวชขั้นต้น ถือศีล ๑๐ สตรีทุกคน ไม่เกี่ยงอายุ จะเริ่มต้นด้วยการบวชเป็นสามเณรีก่อน ครองจีวร เหมือนพระ ยกเว้น ยังไม่มีสังฆาฏิ และยังทำสังฆกรรม เช่น พิธีอุปสมบท รับกฐิน ปวารณา ไม่ได้ เพราะถือว่ายังไม่ได้อุปสมบท
|
สิกขมานา
|
สตรีที่มีความตั้งมั่นที่จะอุปสมบท คือบวชเป็นภิกษุณีแล้ว อายุไม่น้อยกว่า ๑๘ ปีเมื่อเป็นสิกขมานาแล้วครบ ๒ พรรษา ปวัตตินี ซึ่งเป็นอาจารย์ จะจัดการอุปสมบทให้ การรับเป็นสิกขมานา ต้องประกาศในสงฆ์สองฝ่าย ภิกษุณีสงฆ์อย่างน้อย ๕ รูป ภิกษุสงฆ์ อย่างน้อย ๕ รูป สิกขมานา คือสามเณรีในช่วง ๒ ปีสุดท้าย รับอนุธรรม ๖ คือ ๖ ข้อแรกในศีล ๑๐ รักษาไว้โดยไม่ขาด หากขาด ก็ต้องเริ่มนับใหม่
|
ภิกษุณี
|
สตรีที่มีคุณสมบัติครบ บริสุทธิ์ในอันตรายิธรรม ๒๔ ข้อ คือ ข้อที่จะเป็นอุปสรรคต่อชีวิตการบวช อายุครบ ๒๐ ปี เป็นสิกขมานามาแล้วครบ ๒ พรรษา มีปวัตตินีที่เป็นอาจารย์ฝึกสอนให้ มีอัฏฐบริขารครบ ในการอุปสมบทนั้น ผู้ขอบวชต้องแสดงความบริสุทธิ์ในภิกษุณีสงฆ์ แล้วรับการอุปสมบทในภิกษุสงฆ์ ในดินแดนที่ห่างไกล อาจจะมีสงฆ์ทั้งสองฝ่ายเพียงฝ่ายละ ๕ แต่ในดินแดนที่อยู่ส่วนกลาง (มัชฌิมประเทศ) ต้องมีสงฆ์ฝ่ายละ ๑๐ ภิกษุณีสงฆ์สามารถประกอบสังฆกรรมได้ทั้งหมด เช่น ปวารณา รับกฐิน แสดงปาฏิโมกข์ เป็นต้น
|
อันตรายิกธรรม
|
สำหรับการบวชภิกษุ มีอันตรายิกธรรม ๑๓ ข้อ เช่น ต้องเป็นมนุษย์ ต้องเป็นชาย ได้รับอนุญาตจากบิดามารดา ไม่เป็นหนี้ ไม่หนีราชการ ไม่เป็นโรคติดต่อชนิดต่างๆ ฯลฯ
ในฝ่ายของภิกษุณี มี ๒๔ ข้อ เพิ่มส่วนที่เกี่ยวกับสรีระของผู้หญิง เช่น ไม่มีอวัยวะเพศทั้งสองเพศ ไม่มีประจำเดือนกะปริบกะปรอย ฯลฯ ในเวลาขอบวช ผู้ขอบวชจะตอบอันตรายิกธรรมในภิกษุณีสงฆ์เท่านั้น จึงจะถือว่าบริสุทธิ์ในภิกษุณีสงฆ์
|
ปวัตตินี
|
ภิกษุณีที่มีอายุพรรษาอย่างต่ำ ๑๒ พรรษา ทรงธรรมวินัย สามารถสั่งสอนศิษย์ได้ เป็นผู้รับผิดชอบในการฝึกฝนผู้ขอบวชให้แสดงบริสุทธิ์จากอันตรายิกธรรมในภิกษุณีสงฆ์ และให้เข้ารับการอุปสมบทกับภิกษุสงฆ์
|
ปวารณา
|
เมื่อออกพรรษา ทั้งภิกษุและภิกษุณีจะทำการปวารณา คือ เปิดโอกาสให้สงฆ์ที่อยู่ด้วยสอบถามสิ่งที่ได้รู้ ได้เห็น ได้สงสัย เพื่อให้เจ้าตัวได้แสดงความบริสุทธิ์ ภิกษุณีจะปวารณาในภิกษุณีสงฆ์ แล้ว จึงปวารณาในภิกษุสงฆ์ แต่สำหรับภิกษุสงฆ์ แสดงปวารณาเฉพาะในภิกษุสงฆ์
|
การรับกฐิน
|
ผู้ที่จะรับกฐินได้ ไม่ว่าจะเป็นภิกษุหรือภิกษุณี จะต้องอยู่กันเป็นสงฆ์ตลอดพรรษา จึงจะรับผ้ากฐินได้ ถ้าอยู่กันไม่ครบ ๕ รูป ผ้าที่รับจะเป็นผ้าบังสุกุล ไม่ใช่ผ้ากฐิน
|
ปาฏิโมกข์
|
สิกขาบทในส่วนของภิกษุณีมี ๓๑๑ ข้อ หากภิกษุณีอยู่กันอย่างน้อย ๔ รูป เป็นสงฆ์ จึงทำการสวดปาฏิโมกข์ร่วมกันได้ทุกกึ่งเดือน ก่อนที่จะสวดปาฏิโมกข์ต้องรับโอวาทจากพระภิกษุผู้ที่มีพรรษาอย่างต่ำ ๒๐ และเป็นผู้ทรงธรรมวินัย เป็นผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งจากภิกษุสงฆ์ให้สอนภิกษุณี ก่อนที่จะสวดปาฏิโมกข์ ภิกษุณีทุกรูปต้องปลงอาบัติเสียก่อน
|
ปลงอาบัติ
|
คือ การทำให้อาบัติ (สิ่งที่ได้ล่วงเกินพระวินัย) ให้ตกลง โดยการสวดสารภาพกับภิกษุณีด้วยกัน ก่อนการทำสังฆกรรมทั้งหลาย ควรปลงอาบัติเสียก่อน เพื่อให้สังฆกรรมที่จะเข้าร่วมนั้น บริสุทธิ์
|
การอุปสมบท
|
เงื่อนไขการอุปสมบทภิกษุณีมีมากกว่าฝ่ายภิกษุ กล่าวคือ นางผู้ขอบวช ต้องเป็นสิกขมานามาครบ ๒ พรรษา มีปวัตตินี คืออาจารย์ฝ่ายภิกษุณีที่จะฝึกสอน อายุ ณ วันที่ขออุปสมบท อย่างน้อย ๒๐ ปี มีบาตร จีวรครบ จากนั้น แสดงความบริสุทธิ์ในฝ่ายภิกษุณีสงฆ์ คือ บริสุทธิ์จากอันตรายิกธรรม ๒๔ ข้อ แล้วปวัตตินี หรือภิกษุณีที่เป็นคู่สวด จะนำเข้าไปขออุปสมบทในภิกษุสงฆ์ อย่างน้อย ๑๐ รูป เมื่อผ่านญัตติจตุตถกรรมวาจาแล้ว ถือว่าสำเร็จเป็นภิกษุณี
|
ญัตติจตุตถกรรมวาจา
|
คือการสวดประกาศท่ามกลางสงฆ์ ๔ ครั้ง และถามความพร้อมเพรียงในหมู่สงฆ์ ๓ ครั้ง เมื่อไม่มีผู้ใดคัดค้าน ตัวแทนสงฆ์ก็จะสวดประกาศให้ผู้ขอบวชเป็นภิกษุณีโดยสมบูรณ์
|
อุปัชฌาย์
|
คือ ประธานฝ่ายพระภิกษุ เป็นผู้มีพรรษาอย่างต่ำ ๑๐ เป็นผู้ทรงธรรมวินัย สามารถสั่งสอนผู้อื่นได้ เป็นที่เคารพในหมู่สงฆ์ สำหรับประเทศไทย กำหนดเพิ่มว่า ต้องได้รับการแต่งตั้งจากคณะสงฆ์ไทยด้วย
|
|