บทความ
๕ สร้าง...ขั้นตอนการทำงานของสังฆะวัตรทรงธรรมกัลยาณี

 

๑๐ ม.ค. ๒๕๖๐

 

กดที่รูป เพื่อดูวิดีโอ จากยูทูป

 

เน้น ๕ สร้าง คือ สร้างตน สร้างคน สร้างงาน สร้างระบบ และสร้างสังฆะ

สังฆะจะอยู่ไม่ได้ หากสมาชิกไม่เข้าใจว่า เมื่อเข้ามาสู่สังฆะแล้ว ต้องเน้นการปฏิบัติตน ซึ่งหมายถึงความเข้าใจในเป้าหมายของการออกบวช ที่จะละคลายความยึดมั่นในตนที่เป็นอุปสรรคสำคัญในการทำงานร่วมกัน  หลายคนเมื่อเห็นพื้นที่และบรรยากาศของวัตรที่เป็นวัตรแรกที่เปิดพื้นที่ให้ผู้หญิงได้มาปฏิบัติธรรม  ก็ยินดีที่จะเข้ามาช่วยเหลือ โดยเข้าใจว่าตนจะมาให้ วัตรเป็นผู้รับ มีความคาดหวังที่ไม่ตรงกับสังฆะ  เมื่อเข้ามาช่วยวัตรได้พักหนึ่งก็ล้า เพราะคาดหวังว่าจะต้องได้รับคำชม คำสรรเสริญ เพราะเข้ามาทำงานในฐานะเป็นผู้ให้วัตร

หลวงแม่ท่านสอนกลับกันว่า ให้เห็นว่า การที่เข้ามาทำงานช่วยวัตรนั้น เป็นโอกาสให้เราได้ปฏิบัติ ได้ย้อนกลับเข้ามามองในตนว่า ในการทำงานของเรานั้น ได้ละคลายการยึดมั่นในตัวตนลงอย่างไร สร้างความสมานฉันท์ให้เกิดกับสังฆะ  การมาช่วยงานวัตรเป็นการช่วยทางกายภาพ แต่ที่จะเป็นรูปธรรมคือการปฏิบัติจากภายในของแต่ละคนมากกว่า     

หากการสร้างตนไม่ชัดเจน การสร้างต่อ ๆ ไปจะไม่มั่นคง

ขณะที่เราสร้างตนนั้น เราขยับพื้นที่ที่จะช่วยสร้างคนอื่น คือ เปิดพื้นที่ให้คนอื่นได้เข้ามาช่วยงานวัตร เป็นการปฏิบัติธรรมร่วมกัน ได้เข้ามาเรียนรู้ตั้งแต่พื้นฐานมารยาทของชาววัตร ทั้งพระธรรมวินัยในระดับที่สูงขึ้นไป  ในการสร้างคนจึงมีโครงการทั้งบรรพชา ทั้งการอบรมระยะสั้น ระยะยาว ผู้ที่สนใจดูได้จากตารางประจำปี คลิกที่นี่

สร้างงาน ที่เป็นรูปธรรม คือสื่อต่าง ๆ ทั้งหนังสือ เทป วิดิทัศน์ และการจัดการอบรมในโครงการต่าง ๆ

งานที่ช่วยกันเข้ามาสร้างสรรค์นั้น  หากจะให้ต่อเนื่องได้ ต้องมีระบบ ไม่พึ่งกับคน เพราะคนมีเข้ามีออก หากสร้างระบบไว้ดี คนที่จะเข้ามาสานงานต่อก็สามารถทำได้ไม่ยาก

เป้าหมายสุดท้ายเป็นเป้าหมายที่แท้จริง คือการสร้างสังฆะที่มีคุณภาพ สามารถรับใช้พระศาสนาได้ในระยะยาว ตระหนักรู้เสมอว่า พระพุทธองค์ประทานโอวาทว่า ให้ยังประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท

 

 
การอุปสมบทภิกษุณีสายเถรวาทที่ศรีลังกา

 

สตรีในพุทธศาสนาโดยเฉพาะในประเทศที่นับถือพุทธศาสนาสายเถรวาทนั้น มีความพยายามที่ออกบวชเป็นภิกษุณีมาหลายทศวรรษแล้ว แต่ยังไม่เป็นผลสำเร็จ เนื่องจากขาดความพร้อม ที่สำคัญที่สุด คือเรื่องภาษา

ในประเทศศรีลังกา ไปรับสายการอุปสมบทมาจากวัดซีไหล ในประเทศสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๑  มีทศศีลมาตา ๕ รูปเดินทางไปอุปสมบท  แต่ไม่สามารถอ่านพระปาฏิโมกข์ที่เจ้าภาพให้มาเป็นภาษาอังกฤษได้  เมื่อกลับมาศรีลังกาก็ไม่สามารถรักษาคณะสงฆ์ไว้ได้ เพราะไม่อยู่กันเป็นคณะสงฆ์ ไม่มีการทำสังฆกรรมร่วมกัน ไม่มีการสวดปาฏิโมกข์ เป็นต้น

ศรีลังกามีความพร้อมมากขึ้นใน พ.ศ.๒๕๔๑  ที่น่าสนใจคือ พระมหานายก พระภิกษุผู้ใหญ่ให้การสนับสนุน  พระภิกษุสงฆ์เองเป็นคนจัดการคัดเลือกทศศีลมาตาในประเทศ  เฉพาะผู้ที่บวชมานาน มีวัตรปฏิบัติดี บวชมาแล้ว ๒๐-๓๐ พรรษา คัดส่งไปร่วมในการอุปสมบทนานาชาติที่พุทธคยา อินเดีย ซึ่งวัดโฝวกวางซันในไต้หวันเป็นเจ้าภาพ  เป็นการบวชโดยสงฆ์สองฝ่าย คือ มีภิกษุณีสงฆ์สอบถามอันตรายิกธรรม  แต่การบวชยังคงเป็นพระภิกษุสงฆ์ฝ่ายจีน ซึ่งถือวินัยธรรมคุปต์

พระมหานายก และพระมหาเถระของศรีลังกาที่ไปร่วมพิธีด้วยทั้งสิบรูป  เห็นว่า การจะกลับไปสืบภิกษุณีสงฆ์สายเถรวาทในศรีลังกายังมีอุปสรรค เพราะภิกษุสงฆ์ที่ให้การอุปสมบทไม่ใช่เถรวาท  จึงเดินทางไปสารนาถ (เพราะที่นั่นมีสีมาของเถรวาทที่วัดศรีลังกา)  จัดการอุปสมบทให้ภิกษุณีทั้ง ๒๐ รูปของศรีลังกา เป็นการอุปสมบทที่ถูกต้องในเถรวาทโดยพระภิกษุเถรวาท ตามพุทธบัญญัติที่ปรากฏในจุลวรรค  ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลายอุปสมบทภิกษุณีทั้งหลาย (ภิกขุนี ขันธกะ เล่มที่ ๗ วินัยปิฎก จุลวรรค ภาค ๒ ข้อ ๔๐๔)

นับเป็นการเริ่มต้นการอุปสมบทภิกษุณีสายเถรวาทที่สืบต่อกันมา  เฉพาะในศรีลังกาเอง ขณะนี้ มีภิกษุณีสายเถรวาทแล้ว ๑,๐๐๐ รูป ในประเทศไทย มี ๑๐๐ รูป (เริ่มพ.ศ. ๒๕๔๖) ในอินโดนีเซีย มี ๘ รูป (เริ่มพ.ศ. ๒๕๔๓) และในเวียดนามมีประมาณ ๑๐ รูป (เริ่มพ.ศ. ๒๕๔๕)  ทั้งนี้ ไม่นับภิกษุณีต่างชาติในตะวันตกที่มารับการอุปสมบทไปจากศรีลังกา

 

ภาพการบวชภิกษุณีจำนวน ๓ รูป ที่ศรีลังกา ธ.ค. ๒๕๕๙

 

การอุปสมบทภิกษุณีไทยที่ศรีลังกา

 

สืบเนื่องจากคำสั่งมหาเถรสมาคม วันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๕๗ ห้ามมิให้มีการอุปสมบทภิกษุณีในประเทศไทย ทำให้ภิกษุไทยไม่สามารถจะเป็นอุปัชฌาย์ให้แก่ผู้ขอบวชสตรีได้ แม้ว่าฝ่ายภิกษุณีจะมีความพร้อม กล่าวคือ มีภิกษุณีที่เป็นปวัตตินี โดยการแต่งตั้งจากภิกษุสงฆ์ และครบ ๑๒ พรรษา ภิกษุณีที่จะเป็นพระอันดับก็มีครบ ๑๐ รูปอย่างต่ำ แต่การเป็นภิกษุณีจะสำเร็จที่พระภิกษุสงฆ์  เมื่อภิกษุสงฆ์ไทยถูกจำกัดสิทธิ จึงไม่สามารถให้การอุปสมบทได้

ปีที่ผ่านมา (๒๕๕๙) เครือข่ายภิกษุณีเถรวาทเอเชียได้เป็นเจ้าภาพจัดการอุปสมบทภิกษุณีนานาชาติ เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๕๙  มีผู้ขอบวช ๑๑ ท่าน ไทย ๓ เวียตนาม ๓ และ บังกลาเทศ ๖

ภิกษุณีธัมมนันทาเถรีได้เป็นปวัตตินีให้กับผู้ขอบวชชาวไทย  ท่านภิกษุณีดร.หลิวฟับ เป็นปวัตตินี ให้กับผู้ขอบวชชาวเวียตนาม และท่าน สุมิตราเถรี ได้เป็นปวัตตินีให้ผู้ขอบวชชาวบังกลาเทศ

มีภิกษุณีเข้าร่วมเป็นพระอันดับ ๑๒ รูป  พระภิกษุ ๕ รูปจากทั้ง ๓ นิกาย คือ สยามวงศ์ อมรปุระ และรามัญญะ จากศรีลังกา พระอุปัชฌาย์ คือท่านมหานายก  โสภิตะ

สถานที่ที่ใช้จัดพิธีอุปสมบทที่สีมาน้ำ ที่ศูนย์ปฏิบัติศายธิดา ศรีลังกา  ตั้งอยู่ในเมืองปานนะทุระ โดยมีภิกษุณีวิจิตตนันทา ผู้อำนวยการศูนย์ เป้นธุระในการจัดการตติดต่อทั้งภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์ให้

ฝ่ายไทย ผู้ที่ได้รับการอุปสมบท คือ ภิกษุณีธัมมฐิติ ภิกษุณีธัมมภาวิตา และภิกษุณีธัมมนภา

ในปลายปี ๒๕๕๙ วันที่ ๒๓ ธันวาคม ผู้ขอบวชจากประเทศไทยเดินทางไปศรีลังกาเพื่อขออุปสมบทอีกสามรูป คือท่าน ธัมมสุนันทา ท่านธัมมนิสภา และท่านธัมมกรุณา ได้รับการอุปสมบทจากภิกษุณี ๑๐ รูป ภิกษุ ๑๐ รูป ท่านอุปัชฌาย์ คือท่านมหานายกโสภิตะ  และปวัตตินี คือ ท่านธัมมนันทาเถรี จากประเทศไทย  ใช้สถานที่เดียวกัน

 
แจงขั้นตอนบวช 'ภิกษุณี'

 

สืบเนื่องจากข่าวหน้า ๗ ในมติชนรายวัน (๑๓ เมษายน ๒๕๕๙) ให้ข้อมูลว่า หลวงแม่ธัมมนันทาเป็นสิกขมานามา ๒ ปี เป็นภิกษุณีมา ๑๐ พรรษา สามารถให้การอุปสมบทภิกษุณีได้เองแล้วนั้น เป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ท่านจึงให้ข้อมูลปรากฏในมติชนรายวัน (หน้า ๗) วันที่ ๑๕ เมษายน ๕๙ ดังนี้

เมื่อวันที่ ๑๔ เมษายน ภิกษุณีธัมมนันทา (ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์) เจ้าสำนักวัตรทรงธรรมกัลยาณี จ.นครปฐม เปิดเผยว่า กรณีมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับภิกษุณีในเรื่องการขออุปสมบทในไทยนั้น ชี้แจงว่าภิกษุณีที่จะเป็นอาจารย์เตรียมการบวชให้ผู้ขอบวชภิกษุณี จะต้องมีอายุพรรษาอย่างต่ำ ๑๒ พรรษา คือต้องเป็นภิกษุณีแล้วอย่างน้อย ๑๒ ปี ไม่นับรวม ๒ ปีที่เป็นสามเณรี และต้องได้รับการแต่งตั้งจากภิกษุสงฆ์ให้เป็นปวัตตินี หากไม่ได้รับการแต่งตั้งเป็นปวัตตินี และมาสั่งสอนผู้ขอบวชจะต้องอาบัติ ทั้งนี้ เรามักเข้าใจว่าภิกษุณีจะต้องได้รับการอุปสมบทโดยภิกษุณีสงฆ์แล้ว จึงรับการอุปสมบทอีกครั้งจากพระภิกษุสงฆ์ ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจคลาดเคลื่อน แท้จริงแล้วภิกษุณีสงฆ์เข้ามาช่วยเตรียมความพร้อมในการอุปสมบทของผู้ขอบวช ตรงนี้เรียกว่า สอนซ้อม เป็นการจำลองการบวชจริงเหมือนพิธีซ้อมใหญ่ อาจารย์ทางฝ่ายภิกษุณีสงฆ์จึงไม่เรียกอุปัชฌาย์ ทางตรงกันข้ามภาษาบาลีเรียกปวัตตินี แต่พิธีอุปสมบทซึ่งเป็นสังฆกรรมนั้นสำเร็จที่พระภิกษุสงฆ์ เว้นแต่ไม่มีภิกษุสงฆ์สายเถรวาทเหลืออยู่ในโลกนี้แล้ว ภิกษุณีสงฆ์อาจจะพิจารณาอุปสมบทกันเองก็เป็นได้ หากทำความเข้าใจว่าพระพุทธองค์ให้ดูที่เจตนาของการกระทำเป็นสำคัญ

"ฉะนั้น แม้หลวงแม่จะมีพรรษา ๑๓ ก็ให้อุปสมบทเองไม่ได้ ทำได้เพียงเตรียมลูกศิษย์เพื่อเข้ารับการอุปสมบท ที่ผ่านมาได้ทำหน้าที่เป็นปวัตตินี สอนซ้อมการอุปสมบทให้แก่ผู้ขอบวชชาวไทย ๓ รูป ส่วนการอุปสมบทกระทำโดยภิกษุสงฆ์ของศรีลังกา อย่างไรก็ตาม หากมีการอุปสมบทในประเทศไทย ยังต้องนิมนต์พระภิกษุสงฆ์จากต่างประเทศ ซึ่งทำได้ทันทีโดยพระธรรมวินัย และพระภิกษุสงฆ์ในสายเถรวาทที่พร้อมอุปสมบทแก่ภิกษุณีก็มีอยู่ ส่วนขั้นตอนการนิมนต์พระภิกษุสงฆ์ต่างชาติสายเถรวาทเข้ามาทำการอุปสมบทในไทยนั้น จะได้รับอนุญาตจากกระทรวงต่างประเทศหรือไม่ เป็นปัญหาทางกฎหมายที่ฝ่ายบ้านเมืองต้องเข้ามาพิจารณาแก้ไขให้เข้ากับสถานการณ์ทางสังคม" ภิกษุณีธัมมนันทากล่าว

 

 
ทรงธรรมกัลยาณีภิกษุณีอาราม เลขที่ 195 ถนนเพชรเกษม ต. พระประโทน อ.เมืองฯ จ.นครปฐม 73000
โทร. (034)258-270 โทรสาร (034) 284-315 E-mail: [email protected]
Copyright (c) 2002-2006 Thai Bhikkhunis All rights reserved.


จำนวนผู้เข้าชม ตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม 2549