ตอบ
พระภัททากุณฑลเกสีเถรี
เดิมเป็นธิดาของเศรษฐีที่หลงรักนายโจรหนุ่ม ครั้นแต่งงานกับนายโจร กลับถูกปอกลอกและลวงไปฆ่า เธอใช้สติปัญญาเอาชีวิตรอดมาได้นับจากนั้นได้เที่ยวจาริกไปแสวงหาความรู้ความชำนาญในเชิงปรัชญา ครั้นได้พบพระสารีบุตร จึงได้บวชเป็นพระภิกษุณี และได้รับการยกย่องจากพระพุทธองค์ว่ามีความเป็นเลิศในการเรียนรู้ธรรมะได้รวดเร็ว
เอตทัคคะในฝ่ายผู้ตรัสรู้เร็วพลัน
พระภัททากุณฑลเกสาเถรี เป็นธิดาของเศรษฐี ในกรุงราชคฤห์ บิดามารดาตั้งชื่อให้ว่า "ภัททา"
ลูกปุโรหิตเกิดฤกษ์โจร
ในวันที่นางเกิดนั้น ได้มีบุตรของปุโรหิตในกรุงราชคฤห์เกิดในวันเดียวกันนี้ด้วย ขณะที่เขาคลอดจากครรภ์มารดา ได้เกิดเหตุอัศจรรย์ คือ บรรดาอาวุธทั้งหลายในบ้านของปุโรหิตเองและในบ้านคนอื่น ๆ ตลอดจนถึงในพระราชนิเวศน์ต่างๆ ก็เกิดแสงประกายรุ่งโรจน์ไปทั่วพระนครตลอดคืนยันรุ่งปุโรหิตทราบในบุพนิมิตดีว่า บุตรของตนเกิดฤกษ์โจร เมื่อเขาโตขึ้นจะต้องเบียดเบียนทำความเดือดร้อนฉิบหายแก่ชาวเมือง จึงเข้าเฝ้าพระราชาแต่เช้าตรู่กราบทูลความให้ทรงทราบโดยตลอดแล้วทูลเสนอแนะว่า ขอพระองค์โปรดรับสั่งให้ประหารชีวิตเขาเสีย เพื่อมิให้เป็นภัยแก่ชายเมืองในอนาคต แต่พระราชาตรัสว่า เมื่อเขาไม่ได้เบียดเบียนเราก็ไม่เป็นไร อย่าไปฆ่าเขาเลย ปุโรหิตจึงเลี้ยงดูบุตรต่อไป โดยได้ตั้งชื่อให้ว่า "สัตตุกะ" สัตตุกะเมื่อโตขึ้นอยู่ในวัยเด็ก นายสัตตุกะก็ได้ ตัดช่องย่องเบาลักขโมยทรัพย์และสิ่งของมีค่าน้อยบ้างมากบ้างตามแต่จะได้มาเป็นเครื่องเลี้ยงชีพจนได้ชื่อว่าไม่มีบ้างหลังใดที่ไม่ถูกย่องเบาลักขโมยเลย ความเดือดร้อนของชาวเมืองทราบไปถึงพระราชา จึงรับสั่งให้หน้าที่ติดตามจับกุมโจรชั่วนั้นให้ได้พวกเจ้าหน้าที่ทั้งหลายจึงออกติดตามสืบพบหาจนจับตัวได้แล้วนำมาถวายพระราชาเพื่อทรงวินิจฉัยตัดสินโทษพระราชารับสั่งให้โบยโจรพร้อมทั้งนำตัวตระเวนออกไปตามถนน ให้ทั่วทั้งพระนครก่อนแล้วจึงนำออกไปประหารที่เหวสำหรับทิ้งโจร
ดอกฟ้าในมือโจร
ขณะนั้น นางภัททา ธิดาเศรษฐีมีอายุย่างเข้าวัย ๑๖ ปี มีรูปร่างสวยงาม บิดามารดาจึงระวังรักษาให้อยู่บนปราสาทชั้นที่ ๗ ให้หญิงรับใช้หนึ่งคนคอยดูแลรับใช้ของนาง ก็เป็นธรรมดาของหญิงสาวในวัยนี้ ย่อมมีความฝักใฝ่ในชายหนุ่ม ดังนั้น เมื่อเจ้าหน้าที่นำโจรหนุ่มตระเวนมาทางบ้านของนางพอนางเปิดหน้าต่างมองลงไปเห็นโจรเท่านั้นก็เกิดจิตปฏิพัทธ์รักใคร่ในตัวโจรทันทีคิดว่า "ชาตินี้ถ้าไม่ได้โจรหนุ่มมาเป็นคู่ครองก็จะไม่ขอมีชีวิตอยู่" และรู้ว่าพวกเจ้าหน้าที่กำลังนำโจรไปประหาร ความรู้สึกของนางเหมือนกับกำลังสูญเสียสามีสุดที่รัก ความทุกข์เศร้าโศกเสียใจสุดจะห้ามก็ตามมา ฝ่ายสาวใช้ เห็นเช่นนั้นจึงรีบแจ้งให้เศรษฐีผู้เป็นบิดามาดาทราบโดยด่วน บิดามารดาของนางพอมาถึง ก็ได้ไต่ถามทราบจากปากของธิดาว่า "ถ้าไม่ได้โจรหนุ่มคนนั้นมาเป็นคู่ ก็จะไม่ขอมีชีวิตอยู่อีกต่อไป" แล้วก็นอนกลิ้งเกลือกอยู่บนเตียนนอนนั้น มารดาจึงพูดอ้อนวอนว่า:"ภัททา ลูกแม่ อย่าทำอย่างนี้เลย อีกไม่นานเจ้าก็จะได้สามีที่มีทรัพย์สมบัติและชาติสกุลเสมอกัน" "คุณแม่ค่ะ ดิฉันไม่ต้องการชายอื่น ถ้าไม่ได้ชายคนนี้จะขอตายดีกว่า"บิดามารดาทั้งสอง ช่วยกันพูดอ้อนวอนอยู่เป็นเวลานาน แต่ก็ไม่เป็นผลด้วยคามรักและห่วงใยในลูกสาว จึงติดสินบนเจ้าหน้าที่ด้วยทรัพย์จำนวนหนึ่งพันกหาปณะ ขอไถ่ชีวิตโจรหนุ่มคนนั้นโดยให้นำมาส่งที่บ้าน ฝ่ายเจ้าหน้าที่ราชบุรุษทั้งหลาย รับทรัพย์ไปแล้วทำเป็นถ่วงเวลารอจนมืดค่ำ จากนั้นได้นำโจรหนุ่มคนนั้นมามอบให้แก่เศรษฐีแล้ว นำนักโทษอีกคนหนึ่งไปประหารชีวิตแทนแล้วกราบทูลพระราชว่าฆ่าโจรสัตตุกะเรียบร้อยแล้วเศรษฐีรับตัวโจรหนุ่มสัตตุกะไว้แล้ว ให้อาบน้ำชำระร่างกายและมอบเสื้อผ้าชั้นดีสวมใส่พร้อมทั้งอาภรณ์เครื่องประดับชั้นดีต่าง ๆ นำไปยังปราสาทของลูกสาวทำพิธีส่งตัวให้เป็นคู่ผัวเมียกันแล้วบิดามารดาทั้งสองก็กลับไปยังที่พักของตน
สันดานโจรไม่เจือจาง
โจรสัตตุกะมีความสุขอยู่ในบ้านของเศรษฐีซึ่งมีให้พรั่งพร้อมทุกอย่างได้ทั้งภรรยาที่แสนสวย ทรัพย์สินเงินทองก็มีให้ใช้อย่างสุขสบายไม่ขัดสน การงานก็มีคนรับให้ทำให้ ไม่ต้องดิ้นรนขวนขวยใด ๆ ทั้งสิ้น แต่เขาก็อยู่ได้ไม่นานเพราะนิสัยสันดานโจรอดที่จะทำชั่วไม่ได้ เขาคิดวางแผนฆ่าภรรยาเพื่อจะนำเอาเครื่องประดับอันมีค่านั้นไปขายแล้วนำเงินมาหาความสุขด้วยการดื่มสุรา แล้วเขาก็เริ่มดำเนินการตามแผน ด้วยการแสดงกิริยาให้ภรรยาพอใจแล้วกล่าวว่า:-"น้องหญิงการที่พี่รอดชีวิตจากการถูกประหารอย่างหนึ่งและการที่ได้มาแต่งงานอยู่กับน้องหญิงอีกอย่างหนึ่ง ก็ด้วยอานุภาพของเทวดาที่สิงสถิต ณ ภูเขาทิ้งโจร เพราะพี่ได้บนบานบวงสรวงกับท่านเข้าไว้ ขณะนี้ก็สำเร็จสมประสงค์ทั้ง ๒ ประการแล้ว พี่เห็นว่าควรจะทำการแก้บนถวายเครื่องพลีกรรมแก่เทวดานั้น ขอให้น้องหญิงจงจัดเครื่องพลีกรรมสังเวยให้พร้อมแล้ว ประดับอาภรณ์ให้สวยงามไปร่วมทำพิธีพลีกรรมที่ภูเขาทิ้งโจรนี้กับพี่เถิด" นางภัททา ด้วยความรักสามีสุดหัวใจ จึงเห็นชอบเชื่อตามคำสามีทุกประการ โดยให้ทาสชายหญิงจัดเครื่องพลีกรรมเรียบร้อยแล้ว ขึ้นนั่งรถคันเดียวกันกับสามีไปยังเหวที่ทิ้งโจร เมื่อมาถึงเชิงเขา โจรสัตตุกะบอกกับภรรยาว่า "ให้เหล่าบริวารที่ติดตามมานั้นกลับไปก่อนเราสองคนเท่านั้นที่จะขึ้นไปทำพลีกรรม" เมื่อบริวารแยกทางกลับไปแล้วก็ช่วยกันถือเครื่องสักการะสังเวยขึ้นไปบนยอดเขา นางภัททารู้สึกมีความสุข ความอิ่มใจที่ได้ช่วยกิจของสามี และได้โอกาสมาทัศนาโลกภายนอก แต่พอถึงยอดเขา โจรสัตตุกะก็พูดกับนางด้วยเสียงอันแข็งกร้าวเด็ดขาดว่า:-"ภัททา เจ้าจงเปลื้องผ้าห่มออกแล้วถอดเครื่องประดับทั้งหมดมัดห่อรวมกันไว้เดี๋ยวนี้"
นางภัททา ได้ฟังคำและเห็นกิริยาของสามีเปลี่ยนไปเช่นนั้นก็ตกใจ ทำอะไรไม่ถูกละล่ำละลักถามสามีว่า:-"นายจ๋า ดิฉันทำอะไรผิดหรือ ?""นางหญิงโง่ ความจริงเราจะควักตับกับหัวใจของเจ้าถวายแก่เทวดาที่นี่แล้วยึดเอาเครื่องอาภรณ์ของเจ้าทั้งหมดไปใช้จ่ายหาความสุข"นายจ๋า ก็ทั้งตัวดิฉันกับเครื่องประดับทั้งหมดนี้ก็เป็นของท่านอยู่แล้วทำไมท่านจะต้องฆ่าฉัน เพื่อยึดเครื่องประดับด้วยอีกเล่า"
ปัญญามิได้มีไว้เพื่อต้มแกงกิน
แม้นางจะอ้อนวอนชี้แจงอย่างไร เข้าโจรโง่ใจร้ายก็ไม่ยอมรับฟังตั้งหน้าแต่จะฆ่านางเอาเครื่องประดับอย่างเดียวนางตกอยู่ในสถานการณ์จนตรอกมองเห็นความตายอยู่แค่เอื้อม จึงรวบรวมสติไว้แล้วคิดว่า "ขึ้นชื่อว่าปัญญาที่ติดกับตัวมาตั้งแต่เกิดนั้น มิได้มีไว้เพื่อต้มแกงกิน แต่มีไว้เพื่อพิจารณาหาหนทางดำเนินชีวิตและแก้ปัญหาชีวิต เราควรจะทำอะไรสักอย่างเพื่อเอาชีวิตรอด" เมื่อคิดดังนี้แล้ว จึงกล่าวกับสามีโจรชั่วว่า:-"เอาละนายจ๋าวันท่านท่านถูกราชบุรุษเจ้าหน้าที่บ้านเมืองจับกุมพาตระเวนประจานไปทั่วเมืองก่อนนำมาประหารที่ภูเขาทิ้งโจรนี้ดิฉันได้อ้อนวอนบิดามารดาให้สละทรัพย์เป็นอันมากไถ่ชีวิตท่านแล้วนำมาแต่งงานกับดิฉัน และดิฉันก็มีความรักต่อท่านอย่างสุดหัวใจ วันนี้ท่านมีความประสงค์จะฆ่าดิฉันให้ได้ เพื่อต้องการเครื่องประดับ แต่ก็ไม่เป็นไร ก่อนที่ดิฉันจะตายขอให้ดิฉันได้แสดงความรักต่อท่านเป็นครั้งสุดท้ายสักหน่อยเถิดเพราะเป็นโอกาสสุดท้ายที่จะได้ใกล้ชิดท่าน ขอให้ท่านจงยืนตรงนั้นแล้วดิฉันจะขอสวมกอดท่านทั้ง ๔ ทิศหลังจากนั้นท่านก็จงประหารดิฉันเถิด"
โจรชั่วสิ้นชีพ
โจรชั่วสัตตุกะเห็นกิริยาอาการและฟังคำพูดของนางดูเป็นปกติสมจริงจึงอนุญาตให้นางกระทำตามที่ขอแล้วไปยืนตรงที่นางบอกบนยอดเขา ขณะนั้น นางภัททาผู้เป็นภรรยาได้ทำการประทักษิณเดินเวียนขวารอบสามี ๓ รอบ แล้วไหว้ทั้ง ๔ ทิศ พร้อมกับกล่าวว่า "นายจ๋า นี่เป็นการเห็นท่านเป็นครั้งสุดท้าย นับต่อแต่นี้การที่ดิฉันจะได้เห็นท่าน และท่านจะได้เห็นดิฉันก็คงไม่มีอีกแล้ว" เมื่อกล่าวจบนางก็สวมกอดข้างหน้าแล้วก็เปลี่ยนมากอดข้างหลัง ขณะที่โจรชั่วเผลอตัวอยู่นั้น นางได้ผลักโจรตกลงไปในเหว ร่างของโจรชั่วแหลกเหลวเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย จบชีวิตอันชั่วร้ายของเขาที่เหวทิ้งโจรนั้น นางภัททาหลังจากผลักโจรชั่วผู้สามีตกลงไปในเหวแล้ว คิดว่า "ถ้าเรากลับบ้านไป บิดามารดาก็จะถามว่า สามีเจ้าหายไปไหน ถ้าเราบอกความจริงว่าเราฆ่าเขาตายแล้ว ก็จะพากันประณามติเตียนว่า นางเด็กดือ เจ้าอ้อนวอนพ่อแม่ให้เสียทรัพย์เพื่อไถ่ชีวิตโจรเอามาทำผัว แต่พอได้เขามาแล้วกลับฆ่าเขาตาย เจ้าทำอย่างนี้ได้อย่างไร แม้เราจะบอกว่าเขาต้องการฆ่าดิฉันเพื่อต้องการเครื่องประดับท่านทั้งสองก็จักไม่เชื่อเราเมื่อเป็นเช่นนี้เราไม่ควรกลับบ้านควรจะไปบวชในสำนักใดสำนักหนึ่งดีกว่า"
ถอนผมบวชเป็นเดียรถีย์
ครั้นนางภัททาคิดดังนี้แล้ว ก็ทิ้งห่อเครื่องประดับไว้บนยอดเขานั้นแล้วเดินลงจากภูเขาไป เดินลัดเลอะไปตามป่า ได้พบสำนักของพวกนิครนถ์ (นักบวชนอกพระพุทธศาสนา) ขอบรรพชาในสำนักนั้น พวกนิครนถ์ถามนางว่า "จะบวชโดยวิธีไหน ?" นางจึงตอบวา "วิธีใดที่
จัดว่าเป็นสิ่งสูงสุดในสำนักของท่าน ก็ขอให้ดิฉันบรรพชาด้วยวิธีนั้นนั่นแหละ"
พวกนิครนถ์จึงเอาก้านตาลถอนผมนางจนหมดศีรษะ ถือว่าเป็นวิธีบวชที่สูงสุดของสำนัก เมื่อนางบวชแล้วผมที่งอกขึ้นมาใหม่ก็ม้วนกลมเป็นกลุ่มเป็นก้อนไม่เหยียดยาวเหมือนเดิม
ดังนั้น นางจึงได้ชื่อว่า "กุณฑลเกสา"เมื่อนางบวชแล้ว ได้ศึกษาศิลปะวิทยาการต่าง ๆ ในสำนักนั้นจนจบสิ้นนางเห็นว่าสำนักนี้ไม่มีศิลปะวิทยาที่สูงไปกว่านี้อีกแล้วจึงออกเที่ยวแสวงหาบัณฑิตผู้รู้ทั้งหลายแล้วขอศึกษาสิ่งที่บัณฑิตเหล่านั้นรู้ทั้งหมด นางเที่ยวแสวงหาบัณฑิตด้วยการโต้วาทะ โดยวิธีใช้กิ่งหว้าปักบนกองทรายแล้วประกาศว่า "ถ้าผู้ใดสามารถที่จะโต้วาทะกับเราได้ก็จงเหยียบกิ่งหว้านี้" โดยมีข้อตกลงกันว่า "ถ้าผู้ที่โต้วาทะชนะนางเป็นคฤหัสถ์ นางก็จะขอยอมเป็นทาสรับใช้ แต่ถ้าผู้โต้วาทะชนะเป็นนักบวชนางก็จะขอบวชเป็นศิษย์ในสำนักนั้น"นางถือกิ่งหว้าเที่ยวประกาศท้าได้วาทะไปตามหมู่บ้านตำบลต่าง ๆ ชาวบ้านพอได้ทราบข่าวว่านางภัททามาทางบ้านของตนก็จะพากันหลีกหนีไป นางเข้าไปถึงตำบลใดก็จะปักกิ่งหว้าบนกองทรายแล้ว นั่งรอผู้ที่รับคำท้ามาเหยียบกิ่งหว้าของนาง บางตำบลนางรอถึง ๗ วัน ก็ไม่มีผู้ใดกล้ามาเหยียบกิ่งหว้าของนางเลยนางจึงต้องถอนกิ่งหว้าแล้วหลีกต่อไปที่อื่น นางได้ถือกิ่งหว้าท่องเที่ยวไปโดยทำนองนี้ จนได้ชื่อใหม่ว่า "นางชัมพุปริพาชิกา" (นางปริพาชิกาไม้หว้า, ชัมพุ = ไม้หว้า)
โต้วาทีกับพระสารีบุตร
ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จประทับอยู่ที่พระเชตะวันวิหาร กรุงสาวัตถี ฝ่ายนางกุณฑลเกสา ก็ดินทางมาถึงกรุงสาวัตถีแล้วปักกิ่งหว้าบนกองทรายประกาศท้าโต้วาทะเหมือนเดิมแล้วออกไปหาอาหารบริโภคขณะนั้น พระธรรมเสนาบดีสารีบุตร เดินผ่านมาเห็นเด็ก ๆ กำลังยืนรุมล้อมดูกิ่งหว้าบนกองทรายพร้อมกับวิจารณ์กันเซ็งแซ่ เกิดความสงสัยจึงเข้าไปถามเด็ก ๆ ได้ทราบความโดยตลอดแล้วจึงบอกกับเด็ก ๆ ว่า:-"เจ้าหนูทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้น พวกเจ้าจงเหยียบกิ่งหว้านั้นเถิด"
"พวกกระผมกลัวขอรับ พระคุณเจ้า""ไม่ต้องกลัวหรอก พวกเจ้าเป็นคนเหยียบ เราจะเป็นผู้แก้ปัญหาเอง"เด็กบางพวกไม่กล้า บางพวกก็กลัว ๆ กล้า ๆ แต่ผลที่สุดก็ช่วยกันเหยียบกิ่งหว้าและกองทรายนั้นจนกระจัดกระจายนางชัมพุปริพาชิกามาเห็นแล้วก็ดุต่อว่าเด็กเหล่านั้น แต่พอเด็ก ๆ บอกว่า "พระคุณเจ้ารูปนั้น ใช้ให้เหยียบ นางจึงเข้าไปถามพระเถระว่า:-"พระคุณเจ้าผู้เจริญ ท่านจักโต้วาทะถามปัญหากับดิฉันหรือ ?""ใช่แล้ว น้องหญิง" พระเถระตอบนางฟังคำของพระเถระแล้วคิดว่า "เราควรจะให้ชาวพระนครสาวัตถีได้รู้กำลังปัญญาของเราว่ายิ่งใหญ่หาผู้เทียมทานไม่ได้" จึงแจ้งให้ชาวเมืองมาชมมาฟังกันให้มาก ๆ ชาวพระนครพอทราบข่าวต่างก็พากันไปห้อมล้อมจนแน่นขนัด
ลำดับนั้น พระเถระได้ให้โอกาสแก่นางชัมพุปริพาชิกา เป็นผู้ถามปัญหาขึ้นก่อน นางก็ถามศิลปวิทยาที่ตนเรียนรู้มาตามลัทธิตน ถามจนหมดความรู้ที่นางมีอยู่ พรเถระก็ตอบแก้ได้ทั้งหมด นางก็ตกใจเพราะไม่เคยถามใครมากอย่างนี้มาก่อนเลย จึงนิ่งเฉยอยู่ พระเถระจึงกล่าวว่า "ท่านถามเราหมดแล้ว ต่อไปนี้เราจะขอถามท่านบ้าง" "ถามเถิด พระคุณเจ้า"
"ที่ชื่อว่าหนึ่ง นั้นคืออะไร ?" "พระคุณเจ้า ดิฉันไม่ทราบ เจ้าข้า"
ขอบวชในพระพุทธศาสนา
นางชัมพุปริพาชิกา ยอมพ่ายแพ้ต่อพระเถระด้วยปัญหาเพียงข้อเดียวเท่านั้น นางหมอบ
ลงกราบแทบเท้าพระเถระขอศึกษาวิชาพุทธมนต์ในพระพุทธศาสนาพร้อมทั้งขอบรรพชาและถึงพระเถระเป็นสรณะ แต่พระเถระบอกว่าขอให้นางถึงพระพุทธองค์เป็นสรณะเถิด แล้วพานางไปยังพระวิหารเชตวัน นำเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค พระพุทธองค์ทรงราบจริยาอัธยาศัยของนางดีแล้ว จึงตรัสพระธรรมเทศนาคาถาภาศิตว่า:- "ผู้ใดกล่าวคาถาที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ แม้ตั้ง ๑,๐๐๐ คาถาผู้กล่าวคาถาที่ประกอบด้วยประโยชน์แม้เพียงคาถาเดียวยังผู้ฟังให้สงบระงับได้ ชื่อว่า ประเสริฐกว่าแล"
พอจบพระธรรมเทศนาคาถาภาษิต ทั้งที่นางกำลังยืนอยู่นั้น
ยังไม่ทันจะนั่งลงก็ได้บรรลุพระอรหัตผลพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย ในขณะนั้น แล้วกราบทูลขอบรรพชาพระพุทธองคทรงอนุญาตแล้วส่งนางให้ไม่บวชในสำนักภิกษุณีสงฆ์เมื่อนางบวชแล้ว ได้ชื่อว่า "กุณฑลเกสาเถรี" ภิกษุทั้งหลายสนทนากันในโรงธรรมว่า "พระภัททากุณฑลเกสาเถรีนี้ ยิ่งใหญ่จริงหนอ บรรลุพระอรหัตผลในเวลาจบคาถาเพียง ๔ บาทเหล่านั้น"พระศาสนาทรงปรารภเหตุนี้ จึงทรงสถาปนาพระภัททากุณฑลเกสาเถรี ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายในฝ่าย ผู้ตรัสรู้เร็วพลัน
โดยคุณ : เด็กยะลา -
[ 21 ธ.ค. 2003 , 20:59:11 น.]
|